ปลุกชีวิต ‘นางเลิ้ง’ ผ่านเรื่องเล่า ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และความเชื่อ

29 ก.ย. 2564 | 03:57 น.

“นางเลิ้ง” หนึ่งในย่านเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของของศิลปะ การแสดง ที่ยังคงความคลาสสิก ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร และ “นางเลิ้ง” ยังเป็นแหล่งรวมอาหารต้นตำรับหลายอย่างที่นักกินรู้จักดี

ย้อนไปในอดีต ชุมชนเก่าแก่แห่งนี้ มีนามเดิมว่า “บ้านสนามควาย” แล้วก็เปลี่ยนมาเป็น “อีเลิ้ง” หรือ “นางเลิ้ง” ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ละแวก “นางเลิ้ง” เปรียบเสมือนย่านสยามสแควร์ในยุคปัจจุบัน ที่มีผู้คนคึกคักหลั่งไหลมาทำกิจกรรม และเดินเที่ยวกันอย่างเพลิดเพลินตลอดทั้งวัน

  “พี่แดง - สุวัน แววพลอยงาม”
 “พี่แดง” @แดง นางเลิ้งร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือ “สุวัน แววพลอยงาม” ผู้นำชุมชน “นางเลิ้ง” ที่เกิดและใช้ชีวิตอยู่ที่นางเลิ้ง เห็นการเปลี่ยนแปลงของละแวกนี้มาตลอด และได้เห็นว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นหนึ่งในชุมชนที่ประสบปัญหาจากการขยายของเมือง แรกๆ การแก้ปัญหาก็ไม่ค่อยราบรื่น จนเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว “พี่แดง” ก็ได้ไอเดีย นำการท่องเที่ยวมาเป็นเครื่องมือ เชื่อมโยงศิลปะการแสดง เชื่อมโยงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน เข้าด้วยกัน จนทำให้เกิดงาน เกิดอาชีพ  สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน  
  ปลุกชีวิต ‘นางเลิ้ง’  ผ่านเรื่องเล่า ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และความเชื่อ

“เราปลุกนางเลิ้งให้มีชีวิต ผ่านเรื่องเล่าในชุมชน ความเชื่อ วิญญาณ รวมถึงประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกบันทึก เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมเดินทาง และเรียนรู้ไปด้วยกัน”

ปลุกชีวิต ‘นางเลิ้ง’  ผ่านเรื่องเล่า ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และความเชื่อ

“พี่แดง” เล่าว่า ชุมชนนางเลิ้ง เป็นชุมชนศิลปะการแสดง มีละครชาตรี เป็นการแสดงไทยๆ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์​ มีอาคารไม้เก่าที่เป็นโรงหนังในยุคแรกของเมืองไทย ชื่อ “ศาลาเฉลิมธานี”  ในย่านนี้ ยังมีร้านยาโบราณ สมัยรัชกาลที่ 6 และเป็นละแวกที่ “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกดังของเมืองไทย เคยอาศัยอยู่ ที่สำคัญคือ มีอาหารหลากหลาย ทั้ง ข้าวขาหมู ข้าวหน้าเป็ด ข้าวสตูว์รสชาติดั่งเดิม ขนมต้ม ขนมเบื้องญวณ  
  ปลุกชีวิต ‘นางเลิ้ง’  ผ่านเรื่องเล่า ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และความเชื่อ

ประวัติที่น่าสนใจของชุมชนนางเลิ้ง และความพยายามของ “พี่แดง” ในการปลุกจิตวิญญาณการรักถิ่นเกิด รู้คุณค่าของประวัติศาสตร์เมืองของคนในชุมชน รวมทั้งการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งไทยและเทศ ทำให้ชุมชนนางเลิ้ง มีกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการทำเส้นทางท่องเที่ยว เช่น กิจกรรมเส้นทางเดินเท้า “นานาอาชีพ” ตามหาอาชีพชาวนางเลิ้ง ที่มีทั้ง อาชีพขายกล้วยแขก คนขายการ์ตูน ทำอานม้า ตัดรองเท้า นางละคร ยายทำขนม ศิลปะประดิษฐ์เพื่อชีวิต 

ปลุกชีวิต ‘นางเลิ้ง’  ผ่านเรื่องเล่า ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และความเชื่อ

หรือจะเป็นอีเว้นท์เก๋ ในช่วงฮาโลวีนปีที่แล้ว กับกิจกรรม “Nang Lerng Ghost Tour แม้ชีวิตสิ้นแล้ว เรื่องเล่ายังมี” ที่มีการนำเทคโนโลยีโลกเสมือน VR/AR มาเชื่อมต่อกับศิลปะ ความเชื่อ และประวัติของนางเลิ้ง มาสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้พบเห็น รวมถึงล่าสุด งาน Supernatural Pavillion หรือ “ศาลาอภินิหาร” งานที่จัดขึ้นโดยชิฮารุ ชิโนดะ (Chiharu Shinoda) ศิลปินผู้สร้างและกำกับละครเวที ซึ่งงานในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ธีมของการพยากรณ์ การทรงเจ้าเข้าผี เวทมนตร์ ผี และพิธีกรรมในย่านนางเลิ้ง กรุงเทพฯ และเป็นครั้งที่สองที่งานจะจัดขึ้นทางรูปแบบออนไลน์
  ปลุกชีวิต ‘นางเลิ้ง’  ผ่านเรื่องเล่า ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และความเชื่อ

“พี่แดง” บอกว่า กิจกรรมต่างๆ ที่พยายามสร้างสรรค์ขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้ และมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเธอและคนในชุมชนจะพยายามเดินหน้าต่อไป เพื่อสร้างให้ “ชุมชนนางเลิ้ง” เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวที่ทั้งต่างชาติและคนไทยต้องมาเยือน ซึ่งผู้นำและคนในชุมชน ยังมีไอเดียในการสร้างกิจกรรมเด็ดๆ อีกมากมาย
 

แม้ขณะนี้ สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้ทุกอย่างสะดุดไป แต่ความพยายามที่เกิดจากจิตสำนึกรักบ้านเกิดของทุกคนที่ “นางเลิ้ง” ยังคงอยู่ และพร้อมเดินหน้าต่อแน่นอน

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,717 วันที่ 26 - 29 กันยายน พ.ศ. 2564