ผู้นำอย่างคุณ เป็น "โรคกลัวไม่เป็นที่จดจำ" หรือเปล่า

21 ส.ค. 2564 | 01:17 น.

ความกลัวเป็นผลสืบเนื่องของอารมณ์ในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นภัยคุกคาม ในมุมมองของนักมานุษยวิทยา ความกลัวนั้น จำเป็นและมีเหตุผล เพราะเป็นเครื่องย้ำเตือนถึงความเปราะบางของมนุษย์

แม้แต่อัลแบร์ กามู นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ผู้มีแนวคิดแบบอัตถิภาวนิยมที่เชื่อว่า ชีวิตมนุษย์ตั้งอยู่บนฐานของความไร้แก่นสารสาระ ยังยอมรับตรรกะที่ว่า ‘ไม่มีอะไรน่ารังเกียจไปกว่า การเคารพนับถือ...ที่เกิดจากความกลัว’ 

ดร. ณัฐวุฒิ  พงศ์สิริ ([email protected]) อดีตนายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ได้เขียนบทความอธิบายว่า ความกลัวมีหลายประเภทและเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ในการเอาตัวรอด ความกลัวที่เรียกว่า เอธาซาโกรา โฟเบีย (Athazagoraphobia) เป็นจิตใต้สำนึกที่กลัวว่าตนเองจะถูกปฏิเสธจากกลุ่มคนที่ต้องการให้ชื่นชอบและยอมรับ หรือถูกแทนที่โดยบุคคลอื่น นำไปสู่การไม่เป็นที่จดจำจากสังคมและคนรอบข้าง ความรู้สึกว่าถูกลืม จึงเป็นความเจ็บปวดภายใต้ห้วงลึกของมโนคติ ยิ่งคิดว่าตนเองสำคัญมาก ก็ยิ่งรู้สึกเจ็บปวดมาก 

ในอดีตการสร้างหลักประกันไม่ให้บุคคลที่มีชื่อเสียง หรือผู้นำที่เสียชีวิตไปแล้ว ถูกลดทอนความเคารพ หรือความสำคัญถูกลืมเลือน คือการใช้ชื่อผู้นำแทนชื่อเมือง ถนน สะพานและสถานที่สำคัญต่างๆ หรือการสร้างรูปปั้น และอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ในที่สาธารณะเพื่อเป็นหมุดหมายสัญลักษณ์ให้เป็นที่รับรู้จดจำตลอดไป 

อย่างไรก็ตาม การยกย่องเคารพที่เกิดจากความกลัว รวมถึงความดีงามที่ตกยุคและถูกกลืนหายไปพร้อมกับสายธารแห่งกาลเวลา มีส่วนสำคัญที่ทำให้หลักประกันที่เคยดูมั่นคงต้องสั่นคลอน วลาดิเมียร์ เลนิน ผู้นำการปฏิวัติบอลเชวิคและผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย ภายหลังเสียชีวิตมีอนุสาวรีย์และรูปปั้นกระจายอยู่ทั่วไปในอดีตสหภาพโซเวียตและรัฐพันธมิตร เมื่อสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดผ่าน หลังการล่มสลายของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ อนุสาวรีย์เลนินถูกมองว่าเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ เสียค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาสูง จึงโดนรื้อถอนออกไปจำนวนมาก นอกจากนี้ ในวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1991 ประชาชนในเมืองเลนินกราด ก็ได้ลงประชามติให้เมืองกลับไปใช้ชื่อนครเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก เช่นเดิม 

ความดีงามที่ไม่เคยตกยุคและยังคงเป็นที่จดจำตลอดไปโดยไม่ต้องอาศัยรูปเคารพ หรือถาวรวัตถุใดๆ เป็นตัวแทน คือการให้ที่ปราศจากการบังคับ การตั้งมูลนิธิของมหาเศรษฐีอเมริกันร็อคกี้เฟลเลอร์ เป็นต้นแบบของการแบ่งสรรความมั่งคั่ง เพื่อส่งเสริมด้านสาธารณสุข การแพทย์ ผลิตผลทางอาหาร สนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติและผู้ด้อยโอกาสในประเทศกำลังพัฒนา มูลนิธิที่ใช้ชื่อของร็อคกี้เฟลเลอร์ ก่อตั้งและดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ ค.ศ. 1913 ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘Innovation for the next 100 years’  และทุกวันนี้ผลงานที่สร้างคุณูปการต่อสังคมก็ยังคงเป็นที่จดจำไปทั่วโลก

ในยุคดิจิทัลเครื่องมือบนโลกสื่อสังคมออนไลน์ ช่วยเปิดพื้นที่สำหรับคนธรรมดาในการสร้างตัวตนและชื่อเสียง ซึ่งทำได้ไม่ยาก แค่สร้างความแตกต่างให้เป็นที่สนใจก็จะมีคนติดตามเสมือนอยู่ใต้แสงสปอร์ตไลท์ เช่น การโพสต์คอนเทนต์เกาะกระแส หรือการถ่ายคลิปดราม่า เพื่อเรียกยอดกดไลก์ กดแชร์ หรือยอดรีทวีต พฤติกรรมดังกล่าวเรียกว่า ‘หิวแสง’ 

นอกจากชื่อเสียงที่จะถูกกล่าวถึงในวงกว้าง การเป็นที่รู้จักยังช่วยสร้างรายได้อย่างดี นักหิวแสงจึงต้องพยายามหาวิธีที่จะเป็นจุดสนใจต่อเนื่องไม่ให้หลุดความนิยม ความกลัวตกกระแส หรืออาการโฟโม่ (FOMO: Fear Of Missing Out) คอยกระตุ้นให้นักหิวแสง มีพฤติกรรมที่เรียกว่า ‘เขย่าไว้...อย่าให้นอนก้น’ ต้องคอยหาซีนมานำเสนอ เพื่อเรียกร้องความสนใจสาธารณะ ซึ่งบางประเด็นก็หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม บางประเด็นก็ร่วมแหวกว่ายวนเวียนอยู่กับอัลแบร์ กามู ในท้องทะเลแห่งความไร้สาระและเหตุผลของมนุษย์ 

อย่างไรก็ตาม ‘โรคกลัวไม่เป็นที่จดจำ’ มีราคาที่ต้องจ่าย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมบนอินเตอร์เน็ตจะถูกเก็บเป็น ‘ร่องรอยดิจิทัล (Digital Footprint)’ ส่งผลกระทบที่ไม่อาจลบเลือนออกไปได้ การเปลี่ยนชื่อเมือง ชื่อสถานที่ หรือการรื้อถอนรูปปั้นและอนุสาวรีย์ ยังง่ายกว่าลบการไล่ล่าของอดีตที่ยังคมชัดในรูปดิจิทัลไม่สึกกร่อนไปกับกาลเวลา