ชำแหละก่อนตาย … บทพิสูจน์การอยู่รอดของสตาร์ทอัพ

28 มิ.ย. 2564 | 02:18 น.

ประเทศไทยเริ่มได้ยินคำว่า ‘สตาร์ทอัพ’ พร้อมๆ กับการผลักดันนโยบาย ‘ประเทศไทย 4.0’ เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว

ดร. ณัฐวุฒิ  พงศ์สิริ ([email protected]) ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล และอดีตรองเลขาธิการสายงานเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร สำนักงานคณะกรรมการ นโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ก่อนหน้านั้น เราจะคุ้นเคยกับคำว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs การที่จุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจขนาดเล็กเช่นกัน ทำให้อาจกล่าวได้ว่าทุกสตาร์ทอัพเป็น SMEs แต่มีบาง SMEs เท่านั้นที่เป็นสตาร์ทอัพ  

คุณลักษณะสำคัญของสตาร์ทอัพที่ต่างจาก SMEs คือเป็นธุรกิจที่มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน (Pain point) มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้โมเดลธุรกิจที่สามารถเพิ่มผู้ใช้ได้เรื่อยๆ(Repeatable) ขยายตลาดได้ง่าย (Scalable) และสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดภายในระยะเวลาอันสั้น(Exponential growth) เฟสบุ๊ก หรือ อูเบอร์ ก็เริ่มต้นจากการเป็นสตาร์ทอัพในซิลิคอนวัลเลย์ ก่อนที่จะขยายโมเดลธุรกิจจนสร้างการเปลี่ยนแปลง นำผู้ใช้งานไปสู่ชีวิตวิถีใหม่อย่างสิ้นเชิง

ความแตกต่างอีกประการระหว่าง สตาร์ทอัพ และ SMEs คือ การระดมทุนทำธุรกิจ การขยายตัวของ SMEs จะค่อยเป็นค่อยไป เพราะใช้เงินทุนของผู้ก่อตั้ง หรือ เงินกู้จากสถาบันการเงิน ขณะที่ สตาร์ทอัพ จะนำเสนอไอเดียให้นักลงทุนทั่วโลกเล็งเห็นศักยภาพ และสนใจเข้าร่วมถือหุ้น ซึ่งมีทั้งในรูปบริษัทร่วมลงทุน (Venture Capital หรือ VC)  และนักลงทุนรายย่อย (Angel Investor) ซึ่งแม้การลงทุนจะมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากในช่วงเริ่มต้น แผนธุรกิจส่วนใหญ่จะยังไม่ชัดเจน มี ‘ความจริง’ น้อยกว่า ‘ความสมจริง’ 

กระทั่ง เรด ฮอฟแมน ผู้ร่วมก่อนตั้ง 'ลิงก์อิน' เปรียบเปรยว่า ‘การทำสตาร์ทอัพ เหมือนกระโดดลงจากเหว แล้วสร้างปีกระหว่างกำลังตกลงมา’ แต่นักลงทุนก็ยอมรับความเสี่ยง ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้ต้องการลงทุนเพียงเพื่อหวังผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน หรือได้รับสิทธินำไปลดหย่อนภาษี แต่เพื่อสนับสนุนระบบนิเวศของสตาร์อัพผ่านการให้คำปรึกษาจากประสบการณ์ของผู้ลงทุนเอง ถ้าเป็นการลงทุนในรูปแบบ VC จะคาดหวังผลตอบแทนที่ดีจากแนวคิดธุรกิจที่น่าสนใจ ดังนั้นจึงมักจะถอนการลงทุนเพื่อรับผลตอบแทน หลังจากสตาร์ทอัพ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว

ปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนใช้ เป็นข้อพิจารณาเบื้องต้นในการตัดสินใจลงทุน ประกอบด้วย ไอเดียสินค้าหรือบริการนั้นน่าสนใจหรือไม่ สามารถแก้ปัญหา (Pain Point) ของลูกค้าอย่างไร โมเดลธุรกิจมีความเป็นไปได้ น่าเชื่อถือ และลอกเลียนแบบได้ยาก รวมทั้งมีขนาดของตลาดที่ใหญ่รองรับการเติบโตแบบก้าวกระโดด และที่สำคัญต้องประกอบด้วยทีมงานที่มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจเป็นอย่างดี และมุ่งมั่นที่จะฝ่าฟันไปให้ถึงจุดหมาย

การระดมทุนของสตาร์ทอัพมี 4 รอบสำคัญ คือ รอบ Seed Funding เป็นเงินทุนเริ่มต้นไม่เกิน 5 แสนเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ทดสอบแนวคิดผลิตภัณฑ์ในตลาดเล็ก ๆ เงินทุนส่วนนี้ ถ้าไม่ใช่เงินลงทุนของผู้ก่อตั้ง บางครั้งก็ได้มาจากรางวัลการประกวดไอเดียธุรกิจผ่านโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ (Accelerator) ถัดไป คือรอบ Series -A ระดมทุนให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการกระจายผลิตภัณฑ์เข้าสู่ฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น นักลงทุนรายย่อยเริ่มเข้ามาร่วมในช่วงนี้ รอบ Series – B และ Series - C ระดมทุนตั้งแต่ 5 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป เพื่อขยายประเภทผลิตภัณฑ์และขยายฐานลูกค้าไปต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการซื้อกิจการสตาร์ทอัพอื่น เพื่อมาต่อยอดธุรกิจ เงินลงทุนจะเพิ่มขึ้นตามการประเมินมูลค่าธุรกิจ (Valuation) ที่สูงขึ้น VC ส่วนใหญ่จะเลือกลงทุนกับสตาร์ทอัพในรอบนี้ เพราะโมเดลธุรกิจเริ่มชัดเจน 

สตาร์ทอัพที่สามารถระดมทุนได้มากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยังไม่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะเรียกว่ายูนิคอน 

การระดมทุนรอบสุดท้าย คือ Series - D เป็นการระดมทุนก่อนจะทำ IPO (Initial Public Offering) เพื่อเข้าเสนอขายหุ้นใหม่ให้นักลงทุนทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์

การทำธุรกิจสตาร์ทอัพ เน้นขยายฐานลูกค้าเพื่อให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วงแรกมักเป็นการลองผิดลองถูก อาจยังไม่มีรายได้เข้ามา หรือผลประกอบการขาดทุนสูงติดต่อกันหลายปี จึงเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก จากสถิติพบว่าสตาร์ทอัพที่ประสบผลสำเร็จมีกำไร สามารถไปต่อและสร้างฐานลูกค้าได้มั่นคงมีไม่ถึง 10% นักลงทุนโดยเฉพาะประเภท VC ต้องหาวิธีวิเคราะห์การลงทุนที่เป็นเรื่องใหม่ โมเดลธุรกิจยังไม่ชัดเจน ไม่สามารถถอดบทเรียนจากการลงทุนที่ผ่านมา รวมทั้งไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะตั้งสมมุติฐานแบบมองไปข้างหน้า (Looking forward) เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว บาง VC จะใช้วิธีวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของธุรกิจแบบเดียวกับวิธีที่แพทย์ใช้ในการผ่าชันสูตรศพผู้เสียชีวิต

การชันสูตรศพแบบ Pre -mortem หรือ ชำแหละก่อนตาย เป็นการทดสอบที่ถูกออกแบบโดยนักจิตวิทยาชื่อ แกรี่ ไคลน์สำหรับฝึกฝนการมองย้อนหลังล่วงหน้า เป็นกลยุทธ์ที่ VC ใช้ในการตัดสินใจครั้งสุดท้ายว่า ควรจะเข้าร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพนั้นหรือไม่ จึงต้องตรวจสอบสิ่งผิดพลาดที่อาจจะเกิดเพื่อรับมือล่วงหน้า โดยตั้งสมมุติฐานแบบเลวร้ายที่สุดว่าธุรกิจจะไปไม่รอด เสมือนนำศพคนที่เสียชีวิตแล้วมาผ่าพิสูจน์ การวิเคราะห์ของ VC ร่วมกับทีมผู้บริหารสตาร์ทอัพจะแตกต่างจากการหารือทั่วไป เพราะจะเริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า ‘เกิดความผิดพลาดขึ้นได้อย่างไร’ ทุกคนมีอิสระในการคิด โดยให้จินตนาการว่าได้เดินทางไปในอนาคต แล้วมองย้อนในสิ่งผิดพลาดที่เกิดขึ้น พยายามอธิบายเหตุผลทุกอย่างที่คิดได้สำหรับความล้มเหลว 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งต่างๆ ที่มักจะไม่ได้รับการพูดถึงว่า เป็นปัญหา Pre-motem เป็นการหารือที่เปลี่ยนมุมมอง ออกจากกรอบที่เป็นอคติที่ผู้บริหารสตาร์ทอัพบางคนมีอยู่เนื่องจากความมั่นใจในตนเองมากเกินไป หรือกำลังปกปิดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ทุกคนต้องช่วยกันคิดต่างอย่างเป็นระบบ เพื่อปิดจุดอ่อนและความเสี่ยงสำคัญที่อาจหลุดสายตาจากการบดบังของอคติ  Pre-mortem จึงเป็นการวิเคราะห์ย้อนกลับ ที่ช่วยระบุภัยคุกคามหลัก และภัยคุกคามที่อาจเป็นไปได้  แม้กระทั่งสมมุติฐานว่าผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพเสียชีวิต ผู้เข้าร่วมประชุมจะให้เหตุผลทีละคนว่าทำไมพวกเขาถึงคิดว่าธุรกิจนี้กำลังเดินหน้าไปสู่ความล้มเหลวครั้งใหญ่ ซึ่งจะช่วยหาจุดอ่อนของธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตว่าสามารถกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อลดผลกระทบที่ทำให้ธุรกิจล้มเหลวได้หรือไม่  ผลของ Pre-mortem มีทั้งนักลงทุนเดินหน้าลงทุนต่อ หรือ ยกเลิกการลงทุนก็ได้

การชันสูตรศพก่อนเสียชีวิต (Pre-mortem) หรือชำแหละก่อนตาย จึงเป็นอีกบทพิสูจน์ของความพยายามคาดการณ์อนาคตเพื่อการอยู่รอดของสตาร์ทอัพ ที่การดำเนินธุรกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนมากมาย ถ้ารอดไปได้ ผู้ลงทุนก็น่าจะภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมกับสตาร์ทอัพในการช่วยเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนบนโลกให้ดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง