มธ.พบสารต้านอนุมูลอิสระในครามครั้งแรกจ่อต่อยอดสู่เวชสำอางค์แบรนด์พรีเมี่ยม

07 ก.ย. 2560 | 06:29 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

วิทยาศาสตร์ฯ มธ. พบ ‘สารต้านอนุมูลอิสระ’ในคราม จ.สกลนคร ครั้งแรก รุกอัพรายได้เกษตรกรเมืองสกลฯ พร้อมต่อยอดสู่เวชสำอางค์แบรนด์ไทยชั้นพรีเมี่ยม

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) พบ ‘สารต้านอนุมูลอิสระ’ ในคราม ของจังหวัดสกลนครครั้งแรก หลังพบมากถึง 3-5% ต่อปริมาณผงคราม 50 กรัม เพียงนำไปผ่านกระบวนการสกัดใน 3 ขั้นตอน คือ คัดแยก การคัดแยกส่วนต่างๆ ของพืชเป็น 3 ส่วน เพื่อเอื้อต่อการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในแต่ละส่วน สกัดสาร การสกัดแบบต่อเนื่องโดยใช้ความร้อนสูง ทั้งนี้ การค้นพบดังกล่าว ถือเป็นความสำเร็จยิ่งในการผลักดันเศรษฐกิจฐานรากของไทย ทั้งการสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกครามในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ควบคู่กับการลดปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศ ที่มีปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบสูงถึง 37.85% โดยที่ล่าสุดงานวิจัยดังกล่าว อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้สามารถสกัดเป็นสารบริสุทธิ์ และพร้อมต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแบรนด์ไทยที่มีคุณภาพได้ในอนาคต

tham1

ผศ.ดร.นิรมล ศากยวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เผยว่า ‘ผ้าย้อมคราม’ ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างยาวนาน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากคนโบราณนำกิ่งครามมาแช่น้ำด่าง เพื่อหมักเอานำครามมาย้อมผ้าและมัดเป็นลวดลายต่างๆ ด้วยเล็งเห็นคุณสมบัติของการสวมใส่ที่เย็นสบาย ระบายความร้อนได้ดี และสามารถปกป้องผิวกายได้จากแสงยูวี ฯลฯ ซึ่งพื้นที่ปลูกครามในประเทศไทย จะพบมากในจังหวัดสกลนคร

tham6

ดังนั้น จึงนำไปสู่งานวิจัย ‘ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสารสกัดจากคราม’ (Indigofera Tinctoria) เพื่อศึกษาวิจัยสารเคมีธรรมชาติที่แฝงอยู่ในแต่ละส่วนของคราม จ.สกลนคร ผ่านการทดลองสกัดสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ ในแง่ของการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากสารสกัดธรรมชาติ ที่ได้มาตรฐาน และไม่ทิ้งสารเคมีตกค้างในผิว ที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรผู้ปลูกครามและผู้ประกอบการ รวมถึงลดการนำเข้าสารเคมีบางชนิดจากต่างประเทศ

tham2

สำหรับขั้นตอนในการสกัดหา ‘สารต้านอนุมูลอิสระ’ สามารถทำการทดสอบได้ใน 3 ขั้นตอน คือ ขั้นคัดแยก การคัดแยกส่วนต่างๆ ของพืชไปตากแห้ง และนำมาบดด้วยเครื่องปั่นจนละเอียด เพื่อให้สามารถสกัดสารต้านอนุมูลอิสระได้ง่ายยิ่งขึ้น ขั้นสกัดสาร การสกัดแบบต่อเนื่องโดยใช้ความร้อนสูง ผ่านตัวทำละลายที่มีจุดเดือดต่ำที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ผงครามตัวอย่าง

tham3

ขั้นตรวจสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การตรวจสอบสารเคมีตามธรรมชาติที่พบในพืช และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ผ่านการทดสอบความเข้มข้นของสี ซึ่งหากสารดังกล่าว มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในปริมาณมาก จะมีสีน้ำเงินอมดำเข้ม แต่ในกรณีที่มีฤทธิ์เบาบาง ความเข้มของสีก็จะเจือจางลงไป โดยอาจจะปรากฎเป็นสีน้ำเงิน หรือสีฟ้า ฯลฯ ควบคู่ไปกับการหาความเข้มข้นของสารสกัดที่สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระได้ที่ 50% ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงของสีจากสีม่วงเป็นสีเหลือง

tham4

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระใน ‘คราม’ ทั้ง 3 ส่วนนั้น พบว่า ส่วนที่พบสารต้านอนุมูลอิสระมากที่สุดคือ ‘เมล็ด’ โดยพบเป็นสัดส่วนถึง 3-5% ต่อสารสกัดจำนวน 50 กรัม โดยส่วนใหญ่จะพบสารต้านอนุมูลอิสระจำพวก รูติน (Rutin) ที่ช่วยยับยั้งอาการภูมิแพ้ และเพิ่มความแข็งแรงของเส้นเลือดฝอย อิพิคาเทซิน (Epicatachin) ที่ช่วยขับสารพิษในร่างกาย และลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็ง และ กรดแกลลิค (Gallic Acid) ที่ช่วยยับยั้งแบคทีเรียในช่องปาก และลดความดันเลือด

tham5

ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น จะพบสารต้านอนุมูลอิสระในใบแก่มากที่สุด (ที่มา : งานวิจัยโดยนายคยอง ซูคิม (Kyung-suKim) และคณะ ฉบับที่ 46, ปี 2555) ซึ่งต่อมาญี่ปุ่นได้นำสารสกัดมาต่อยอดสู่ผลิตเวชสำอางในสหรัฐอเมริกาหลากชนิด อาทิ ครีมทามือ ครีมลดเลือนริ้วรอย ครีมบำรุงผิวกาย ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรผู้ปลูกต้นครามอีกทางหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบัน อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย มีการนำเข้าสารเคมีและสารสกัดจากธรรมชาติที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากต่างประเทศ ผศ.ดร.นิรมล กล่าว

tham7

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2548 พบว่า วัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยมากที่สุดคือ “เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน” คิดเป็นมูลค่า 6,968 ล้านบาท โดยสัดส่วนการใช้วัตถุดิบของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย แบ่งเป็นวัตถุดิบในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 62.15 กับวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ 37.85 เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ในปริมาณ 5% ต่อ 1 ผลิตภัณฑ์ ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรล่าสุด พบว่าในปี 2559 ประเทศไทยมีการนำเข้าเครื่องสำอางจากต่างประเทศมีมูลค่ารวม 35,566.71 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 27.78%

tham

ผศ.ดร.นิรมล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี สำหรับงานวิจัย ‘ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสารสกัดจากคราม’ เป็นผลงานการศึกษาวิจัยของ นางสาวญาดา พูลเกษม บัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โดยมี ผศ.ดร.สมจิต ดำริห์อนันต์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม โดยล่าสุด อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาต่อยอดร่วมกับภาคเอกชน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีคุณภาพในอนาคต

tham9

คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. โดยสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาบุคลากรและงานวิจัยให้มีความก้าวหน้าเป็นลำดับ ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ร่วมกัน เพื่อหนุนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในการลดต้นทุนการนำเข้าสารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากต่างประเทศ ควบคู่ไปการช่วยภาคการเกษตรลดปริมาณวัสดุเหลือทิ้งได้เป็นจำนวนมาก เพียงผ่านกระบวนการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร อย่าง ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่ให้วิตามินซีสูง ฯลฯ มาทดลองสกัด เพื่อค้นหาสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น ผศ.ดร.นิรมล กล่าวทิ้งท้าย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว