East meets West เปิด‘วังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์’จุดหลอมรวมวัฒนธรรม สู่งานอนุรักษ์อันทรงคุณค่า

20 ส.ค. 2560 | 07:24 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ย้อนไปราวต้นปี 2300 พื้นที่ เลียบชายฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยา ตั้งแต่ถนนพระอาทิตย์ต่อเนื่อง ไปจนถึงบางลำพูคือที่ของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) เสนาบดีผู้สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์มอญและได้มีโอกาสรับใช้เบื้องพระยุคลบาทตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนั้นพื้นที่บริเวณนี้ยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวมอญที่อพยพย้ายถิ่นฐานอันเป็นไปตามแบบแผนการรบและการถ่ายโอนของประชากรยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย

tp26-3289-2 “วังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์” หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ “บ้านมะลิวัลย์” อวดโฉมอย่างสง่างามข้ามกาลเวลานับร้อยปีจนถึงปัจจุบัน ในอดีตที่นี่คือวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ (ต้นราชสกุล “กฤดากร”) พระราชโอรสลำดับที่ 8 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดากลิ่น เหลนของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ซึ่งที่ตั้งของ “วังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์” ในปัจจุบันคือบริเวณที่เป็นบ้านเดิมของเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ คชเสนี) ผู้ดำรงฐานานุศักดิ์เป็นปู่ของเจ้าจอมมารดากลิ่น

tp26-3289-1 อาคารสีเหลืองไข่ไก่รูปแบบสถาปัตยกรรม สไตล์ยุโรปผสมขอม ซึ่งได้รับการออกแบบโดย มร.เออโคล มันเฟรดี สถาปนิกชาวอิตาเลียนนี้คือตำหนักหลังใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างพระราชทานแด่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชันษาครบ 5 รอบ แทนตำหนักเดิมซึ่งอยู่บริเวณไม่ไกลกันมากนักโดยใช้เวลาการก่อสร้างทั้งหมดราว 7 ปี คือตั้งแต่ปี 2454 - 2460 หลังก่อสร้างแล้วเสร็จเพียง 8 ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ก็สิ้นพระชนม์

100 ปีนับจากนั้นเป็นต้นมาตำหนักแห่งนี้คือส่วนหนึ่งของการบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในฐานะความทรงจำ แห่งยุคสมัย เริ่มตั้งแต่

tp26-3289-5 ยุคที่ 1 ในฐานะวังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ จุดรวมของชาวมอญซึ่งเจ้าจอมมารดากลิ่นได้นำชาวมอญจากที่ต่างๆ เข้ามาชุบเลี้ยงในวังแห่งนี้ ทำให้ทั้งอาหาร เครื่องแต่งกาย การพูดจาในวังนี้เต็มไปด้วยกลิ่นอายของชาวมอญ จนได้ชื่อว่าเป็น “วังจ้าวมอญในกำแพงพระนครรัตนโกสินทร์”

ยุคที่ 2 ในฐานะศูนย์บัญชาการเสรีไทย (ปี 2469 - 2488) ที่นี่มิเพียงถูกใช้เป็นบ้านพัก ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 กรมหมื่นอนุวัตร จาตุรนต์ แต่ยังเป็นโรงเรียนสืบราชการลับ รวมถึงห้องใต้หลังคาอันเป็นที่กล่าวขานว่าคือศูนย์บัญชาการงานใต้ดิน (เสรีไทย) ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

tp26-3289-4 ยุคที่ 3 การบริหารอาคารโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และการขอเช่าจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้เป็นที่ทำการขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ตั้งแต่ปี 2490 ถึงปัจจุบัน

++การทรุดโทรมสู่การค้นพบ
คุณกิตติศักดิ์ อัครโพธิวงศ์ เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ ฝ่ายบริหารงานอนุรักษ์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เล่าให้เราฟังว่า โดยปกติแล้วอาคารต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะมีการทรุดตัวประมาณปีละ 2-3 เซนติเมตร แต่ปัญหาที่เกิดกับวังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ คือการทรุดเอียงเนื่องจากส่วนหนึ่งของอาคารสร้างทับป้อมอิสินธร ทำให้ส่วนบริเวณนั้นมีความหนืดของดินมากกว่า เป็นผลให้พบว่าวังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ นอกจากอยู่ในระดับที่ตํ่ากว่าถนนพระอาทิตย์ถึง 90 เซนติเมตรแล้ว ยังมีการลาดเอียงถึง 20-30 องศา และบริเวณที่ถือเป็นจุดหักมุมแยกพื้นที่การลาดเอียงของอาคารก็คือจุดเชื่อมของห้องท้องพระโรงซึ่งถูกปรับใช้เป็นห้องสมุดของ FAO และส่วนตำหนัก ซึ่งปัจจุบันถูกปรับใช้เป็นส่วนสำนักงาน

tp26-3289-6 คุณจิตติวัฒน์ ครุฑสาคร สถาปนิกบริษัท กุฎาคาร จำกัด บริษัทผู้ออกแบบและเป็น ที่ปรึกษาควบคุมการบูรณะวังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ กล่าวว่า ฐานรากอาคารวังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ และตัวอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการก่อสร้างที่ทันสมัยมากในยุคนั้น นับเป็นอาคารแรกๆ ในประเทศไทยที่มีการใช้แท่งคอนกรีตหนา 40 เซนติเมตร สูงจากพื้นที่ 1 เมตร ลักษณะคล้ายตอม่อรับนํ้าหนักโครงสร้างอาคาร ผนวกกับการคำนึงถึงความชื้นของตัวอาคารทำให้ผนังอาคารรวมถึงลวดลายประดับต่างๆ มีความพิเศษคือ มีการก่อสร้างผนังสองชั้นเพื่อใช้ในการระบายความชื้นและระบายอากาศ

รายละเอียดของโครงสร้างที่งดงามปรากฏสู่สายตาแม้อยู่ในช่วงของการบูรณะอาคารที่ดำเนินการไปแล้วมากกว่า 50% สู่ปฐมบทของการค้นพบความงามที่ซ่อนอยู่ในทุกตารางนิ้ว ท้องพระโรงสูงซึ่งอดีตคือพื้นที่ว่าราชการ และพื้นที่จัดแสดงละครต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคยเสด็จฯ มาชมการแสดงละครนอก ณ วังแห่งนี้เช่นเดียวกัน ความโอ่อ่าของบริเวณมาจากการออกแบบพื้นที่ให้สูงโปร่งกินพื้นที่ถึงชั้น 2 ของตัวอาคาร สุดอลังการด้วยซุ้มเพดานเรียงยาวเป็นเส้นเดียวกันตามแนวเสา ฝ้าเพดานเป็นคอนกรีตปั๊มลายสำเร็จนำเข้ามาจากต่างประเทศ รวมถึงการตกแต่งบริเวณหัวเสาต่างๆ ยังมีลายเปลือกหอย และลายดอกไม้ตามแบบศิลปกรรมขอม ซึ่งคาดการณ์ว่ามาจากการที่กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ทรงมีโอกาสตามเสด็จฯ ไปเยือนเขมรนั่นเอง

คุณกิตติศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าผนังภายในสีเหลืองที่ปรากฏก่อนการบูรณะถูกทาขึ้นในยุคการปกครองของคณะราษฎร คาดว่าเพื่อกลบลายภาพเขียนภายในวังฯ การหลุดล่อนของสีในบางจุดทำให้เราพบว่าที่นี่มีการทาและลงลวดลายในแต่ละห้องแทบไม่ซํ้ากันแยกตามรูปแบบการใช้งาน

tp26-3289-3 ภายนอกซึ่งเป็นอาคารสีเหลืองอ่อนประดับลวดลายคนโทและดอกไม้ตามความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของคนจีน ภายในตัวอาคารแบ่งเป็นการทาสีต่างๆ อีกถึง 6 สี คือสีแดงซึ่งเป็นสีพื้น สีฟ้า สีนํ้าเงิน สีเขียว สีนํ้าตาล และสีเทา ไม่รวมลายเขียนสีซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละห้อง อาทิ ห้องรับประทานอาหารปรากฏลายเขียนภาพสาหร่าย ห้องนั่งเล่นปรากฏลายเครือเถาองุ่น ห้องนํ้าปรากฏลายกุ้งและลายปลา และห้องสำคัญอย่างห้องทอดพระเนตรบริเวณใจกลางชั้น 2 ปรากฏภาพเขียนสีลายดอกทิวลิปและดอกบัว รวมถึงค้นพบลายภาพเขียนสีศิลปะแบบ Art Nouveau อีกด้วย

การค้นพบภาพเขียนสีในจุดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องที่เชื่อว่าเป็นห้องพระและเป็นห้องเก็บพระโกศทรงพระอัฐิของกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ และเจ้าจอมมารดากลิ่น ที่ปรากฏลวดลายอ่อนช้อยงดงามไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ อย่างไรก็ดี การบูรณะภาพเขียนต่างๆ จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เราคงหวังแต่เพียงว่าจะมีหนทางใดไม่ก็หนทางหนึ่งที่จะช่วยชุบชีวิตภาพเขียนเหล่านี้ให้กลับมาดังเดิมอีกครั้ง

เพราะ “สถาปัตยกรรม” ไม่เพียงนำเสนอความงามแห่งยุคสมัยแต่ยังเป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงความรุ่งเรืองของชาติที่เล่าเรื่องราวผ่านการก่อสร้างและการเปลี่ยนแปลงในทุกองค์ประกอบ “งานอนุรักษ์” อาคารโบราณจึงเปรียบได้กับการสร้างความแข็งแกร่งของชนชาติผ่านการธำรงรักษาสถาปัตยกรรมของชาติให้สามารถปรับเปลี่ยนไปตามการเติบโตของสังคมที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เพื่อสร้างอาคารที่มีชีวิตให้คงอยู่ชั่วลูกหลานสืบไป

หลังการบูรณะวังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์แล้วเสร็จ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กำหนดแนวทางให้ส่วนหนึ่งของอาคารจัดแสดงนิทรรศการเรื่องป้อมอิสินธรที่ถูกรื้อถอน และประวัติการก่อสร้างวังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและเข้าถึงหนึ่งในอาคารอนุรักษ์ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคนอย่างละเอียด และคงอีกไม่ช้านานที่ “วังกรมพระนเรศรวรฤทธิ์” จะพร้อมอวดโฉมสู่สายตาเราอีกครั้ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560