แพทย์เตือนฤดูฝนเร่งปราบยุงลายกันไข้เลือดออกเสี่ยงถึงตาย

06 ก.ค. 2560 | 08:20 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

แพทย์เตือนช่วงฤดูฝน การเพาะพันธุ์ของยุงลายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  เสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะวัยเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีภาวะโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน  เสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิต  ร.พ.พระรามเก้าชวนประชาชนร่วมรณรงค์ “วันไข้เลือดออกอาเซียน 2017”  ร่วมใจปราบยุงลายป้องกันโรคไข้เลือดออก ล่าสุดประเทศแถบอาเซียนพบเชื้อไวรัสเดงกี 4สายพันธุ์ ขณะที่ประเทศไทยพบได้ทุกสายพันธุ์ซึ่งมีมานานแล้ว แต่ไม่มีสายพันธุ์ใหม่

aat

 

พญ.ฉัฐฐิมา เสาวภาคย์ กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้ หอบหืด ภูมิคุ้มกัน  โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่าอยากแนะนำให้ประชาชนและผู้ปกครองเน้นแก้ปัญหาเรื่องไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นเหตุ คือ การดำเนินการไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในฐานพื้นที่ 6 ร. คือ โรงเรือน  โรงเรียน  โรงแรม  โรงงาน  โรงธรรมและโรงพยาบาล  ซึ่งโรงพยาบาลเองนับว่าเป็นสถานที่สำคัญที่ต้องทำให้เป็นโรงพยาบาลสะอาดปราศจากแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย : Green and Clean Hospital  เพื่อปราศจากแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และปลอดลูกน้ำยุงลาย เพราะโรงพยาบาลเป็นสถานที่ทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นสถานที่สาธารณะที่ประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก

ช่วงที่ผ่านมาเป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน” (ASEAN Dengue Day) โดยในปีนี้ ปี 2560 เป็นปีแรกที่กลุ่มอาเซียนกำหนดการรณรงค์ คือ United Fight Against Dengue หรือ ประชารัฐร่วมใจปราบยุงลายป้องกันโรคไข้เลือดออก ซึ่งโรคไข้เลือดออกยังเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศอาเซียน  จากข้อมูล พบว่า มีผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออกว่าปีละ 200,000 ราย  ซึ่งจากผลสำรวจครึ่งปีแรกมีรายงานผู้ป่วยใน 7 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม รวม 69,213 ราย  และเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกไปแล้ว 57 ราย

ส่วนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ปี 2560 พบว่าช่วงครึ่งปีแรก (ตั้งแต่เดือน ม.ค.–พ.ค. 2560 ) มีผู้ป่วยแล้ว 11,062 ราย  เสียชีวิต 21 ราย จากข้อมูลพบว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก คือผู้ใหญ่ 12 ราย เด็ก 9 ราย  แสดงว่าโรคไข้เลือดออกไม่ได้เป็นเฉพาะในเด็กเท่านั้น  ผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นได้และอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้  โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น ภาวะอ้วน ที่เสียชีวิตในปีนี้ 5 ราย โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง  โดยคาดว่าตลอดปี 2560 ไทยจะพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกประมาณ 75,000 ถึง 80,000 ราย

you

ทั้งนี้ ในแถบประเทศอาเซียนสามารถพบเชื้อไวรัสเดงกีได้ 4 สายพันธุ์ ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกสายพันธุ์ ซึ่งมีมานานแล้ว และปัจจุบันยังไม่มีสายพันธุ์ใหม่ และในปี 2560 นี้ สายพันธุ์ที่พบมากในไทยคือสายพันธุ์ที่ 2 ส่วนอาการป่วยขึ้นอยู่กับว่าเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่  ซึ่งหากพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งแรกอาการมักไม่รุนแรง อาจมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่อาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อติดเชื้อครั้งที่สองด้วยสายพันธุ์ที่ต่างไป  ซึ่งจะทำให้มีภาวะเลือดออกและช็อกได้

นอกจากนี้ เน้นย้ำให้ประชาชนทุกคน ป้องกันไข้เลือดออกด้วยตนเองโดยการปฏิบัติ 5 ป. และ 1 ข. ได้แก่ ป.ปิด คือ ปิดภาชนะน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่   ป.เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในแจกัน  ทุกๆ 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง  ป. ปล่อย ปล่อยปลาหางนกยูงให้กินลูกน้ำในภาชนะ   ป.ปรับ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ให้ปลอดโปร่ง โล่งสะอาดลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย   ป.ปฏิบัติ ปฏิบัติจนเป็นนิสัย และ  1 ข. ขัดไข่ยุงลาย รวมถึงการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก ไวรัสเดงกี 4 สายพันธุ์ ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะสามารถป้องกันและห่างไกลจากภัยเงียบไข้เลือดออกได้