จาก 'สํ-กรานต' สู่ 'สงกรานต์' การไหลเททางวัฒนธรรม มนต์เสน่ห์แห่งอาเซียน

13 เม.ย. 2560 | 03:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“สงกรานต์บ้านเรา หยอกเย้ากันแบบไทย ไทย ทั้งฉ่ำเย็น ทั้งชื่นใจ ด้วยหยาดน้ำของความดีงามอย่างไทย”

เริ่มเข้าเดือนเมษายนแล้ว สำหรับประเทศไทยจะมีเทศกาลไหนร้อนแรงแข่งกับความร้อนของสภาพอากาศไปกว่า “เทศกาลสงกรานต์” หรือ “ตรุษสงกรานต์” ที่ทุกคนตั้งตารอคอย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมเฉลิมฉลองช่วงเวลาความสุขของมนต์เสน่ห์แห่งศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม รวมถึงช่วงเวลาของการกลับบ้านไปสู่ก้อมกอดของครอบครัวที่รอคอย

MP-30-3253-1 “สุขสัปดาห์” ขอมีส่วนร่วมกับทุกความสุขด้วยการเติมสารแห่งปัญญาผ่านองค์ความรู้ที่แฝงมาในวันหยุดทีทุกคนรอคอย ด้วยการเดินทางเสาะแสวงหาผู้รู้ เพื่อตอบคำถามต้นกำเนิดเทศกาลสงกรานต์ไปถึงมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อพบกับอาจารย์ตุลย์-คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชา ปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กับความเชื่อมโยงฐานรากทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวโยงผูกพันกันระหว่างดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับอู่อารยธรรมโลก “ประเทศอินเดีย” เฉกเช่นเดียวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่กลมกลืนและหลอมเป็นเนื้อเดียวกัน จนเกิดเป็นวิถีปฏิบัติของแต่ละชนชาติเกิดเป็นมนต์เสน่ห์ของความแตกต่างแต่ทรงไปด้วยคุณค่าและไอกรุ่นของความอบอุ่นจากวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงคนในชาติไว้เป็นหนึ่งเดียว

"วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา คือสิ่งที่ขัดเกลาจิตใจของมนุษย์ให้เกิดความสมบูรณ์ทั้งในแง่ของความคิด วิธีการปฎิบัติ และการเรียนรู้ความหลากหลายอันเกิดมาจากรากฐานและการไหลเท" หนึ่งมุมคิดที่สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าใจและเข้าถึงความงดงามของกระบวนการคิดของมนุษย์ที่ส่งต่อสู่การประพฤติจากรุ่นสู่รุ่นเป็นเรื่องราวที่ดีและควรค่าแก่การจดจำ ตลอดจนสืบสานเพื่อธำรงไว้แก่อนุชนรุ่นหลังด้วยความภาคภูมิใจ ตุลย์-คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

การพูดคุยในห้องสี่เหลี่ยมรูปทรงเรียบง่ายในวันนี้ เป็นเรื่องราวและความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์ นับตั้งแต่รากฐานจนสืบสานสู่การเป็นฐานรากร่วมกันของชนชาติในภูมิภาคอาเซียน โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์ตุลย์หรือคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ฉายภาพรวมของประเพณีดังกล่าวได้อย่างครบถ้วนในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น ต้นตอของประเพณี ความหมายที่ดีงามของ สํ-กรานต อิทธิพลทางความเชื่อของศาสนาผีจนเกิดการผนวกเป็นประเพณี การน้อมนำไปปฏิบัติเป็นประเพณีร่วม ตลอดจนการไหลเททางศาสนาทางพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งการสาดน้ำซึ่งเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงความสนุกสนานจวบจนถึงปัจจุบัน

MP-30-3253-2 สํ-กรานต ต้นทางการไหลเทของวัฒนธรรม

สงกรานต์ เป็นคำสันสกฤต มาจากคำว่า สํ-กรานต โดยมีความหมายว่า เคลื่อน ย้าย รวมทั้งก้าวขึ้น ซึ่งจริงๆแล้วจุดเริ่มต้นของสงกรานต์ในประเทศอินเดียจัดขึ้นในทุกเดือน เนื่องด้วยประเพณีดังกล่าวเชื่อมโยงกับความเชื่อทางปฏิทินสุริยคติ ซึ่งในทุกเดือนพระอาทิตย์จะเคลื่อนย้ายไปยังราศีต่างๆ ในแต่ละราศีแบ่งท้องฟ้าออกเป็น 60 องศาหรืออยู่ในช่วงเวลาวันที่ 14-15 ของแต่ละเดือน และด้วยเหตุนี้ชาวอินเดียจึงจัดสงกรานต์ในทุกเดือน โดยมีชื่อเรียกในแต่ละเดือนที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่ที่ว่าพระอาทิตย์จะย้ายไปอยู่ในราศีใด ยกตัวอย่างเช่น พระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีมังกรจะมีชื่อเรียกว่า มกรา สังกรานติหรือสงกรานต์ในเดือนมกราคม

อย่างไรก็ตามหลากหลายท่านสงสัยว่าทำไม สงกรานต์เดือนเมษายนถึงสำคัญกว่าสงกรานต์เดือนอื่นๆ อาจารย์ตุลย์ ตอบข้อสงสัยดังกล่าวได้อย่างชัดเจนว่า การที่พระอาทิตย์ได้เข้าไปอยู่ในราศีเมษนั้นเมื่อตรวจสอบและดูตามจักรราศี พระอาทิตย์จะอยู่จุดบนสุดของท้องฟ้า มีผลให้เกิดความร้อนสูงสุดในรอบปี อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน ตามโหราศาสตร์แบบอินเดีย ในช่วงราศีเมษการโคจรของพระอาทิตย์จะอยู่แนวเดียวกับโลก ถือได้ว่าเป็นฤกษ์ที่ดีสำหรับการเริ่มต้นใหม่จนเป็นที่มาของ “เทศกาลปีใหม่ในหลากหลายชนชาติของภูมิภาคอาเซียน” อาทิ เมียนมาร์ กัมพูชาและไทย

[caption id="attachment_140941" align="aligncenter" width="503"] อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร[/caption]

จากเลี้ยงผีเดือน 5 สู่งานประเพณีสงกรานต์

อาจารย์ตุลย์ ฉายภาพรวมความเป็นมาของสงกรานต์ในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างน่าสนใจว่า ตามหลักฐานทางโบราณคดีสงกรานต์เป็นประเพณีของประเทศอินเดียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ในบางภูมิภาคของประเทศ อาทิ อินเดียตอนใต้ ซึ่งประเทศไทยได้เป็นฝ่ายรับการไหลเททางประเพณีดังกล่าวเข้ามาปรับใช้อย่างงดงาม ซึ่งตามความเห็นของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่า ก่อนที่ประเทศไทยจะรับสงกรานต์เข้ามาเป็นประเพณีเราได้มีธรรมเนียมปฏิบัติดั่งเดิมที่เรียกว่า ประเพณีเลี้ยงผีเดือนห้า ซึ่งเกิดขึ้นและเป็นความเชื่อตามศาสนาผี

อย่างไรก็ดีจากการสืบค้นข้อมูลพบว่า พิธีเลี้ยงผีของชุมชนดั้งเดิมในอุษาคเนย์ ใช้ “น้ำ” ทำความสะอาดบ้านและเครื่องมือทำมาหากินด้วยกระบวนการ รด ล้าง สาด พร้อมกันนี้ยังใช้อาบหรือทำพิธีกระดูกให้กับบรรพชนที่ตายไปแล้ว สำหรับพิธีกรรมดังกล่าวคาดว่ามีมาตั้งแต่ยุคดึกดำรรพ์ แม้ไม่พบหลักฐานโดยตรง แต่ด้วยเหตุและผลสะท้อนให้เห็นถึงร่องรอยทางประเพณีดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับธรรมเนียมปฏิบัติในปัจจุบัน อาทิ การรดน้ำดำหัว การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพชนหรือบังสกุลนั้นเอง

สงกรานต์ประเพณีร่วมของภูมิภาคอาเซียน

“เราควรสร้างโอกาสในการที่จะเรียนรู้ประเพณีสงกรานต์ในสังคมอื่นๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้สึกที่ดี ต่อฐานเติมยอดความรู้และความสุขในการเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสาน ตลอดจนคิดและไตร่ตรองถึงความเป็นมาและการรับประเพณีดังกล่าวว่ามีที่มาอย่างไรด้วยความภาคภูมิใจ”

เมื่อสงกรานต์จากอินเดียไหลเทถึงอุษาคเนย์ คนพื้นเมืองแต่ละท้องถิ่นได้ผนวกพิธีเลี้ยงผีให้เข้ากับสงกรานต์ แม้แต่ละชนชาติต่างอ้างว่าสงกรานต์เป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของตนแต่แท้ที่จริงแล้วรากฐานมาจากอินเดีย ทำให้ประเพณีดังกล่าวระบุเป็น “ประเพณีร่วม” ในภูมิภาคอาเซียนที่แต่ละชนชาติน้อมนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติและสืบสานอย่างงดงามในแบบฉบับวัฒนธรรมของตนเอง

[caption id="attachment_140943" align="aligncenter" width="503"] อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร[/caption]

อาจารย์ตุลย์ เล่าต่ออีกว่า แม้ว่ารากฐานการดูสุริยคติจะส่งต่อประเพณีสงกรานต์เข้าสู่อุษาคเนย์ แต่วิธีการปฏิบัติของชาวอินเดียกับชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับประเพณีดังกล่าวดูแตกแต่ง ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงเวลาดังกล่าวชาวอินเดียนิยมบูชาพระอาทิตย์ที่เทวสถาน แต่เราชาวไทยและเพื่อนบ้านใกล้เคียงเลือกทำบุญตามหลักศาสนาเพื่อส่งต่อบุญกุศลให้กับบรรพบุรุษ รวมทั้งการเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน

ซึ่งการเล่นน้ำในประเพณีสงกรานต์เกิดการถกเถียงกันอย่างหลากหลาย บ้างก็อ้างว่า ได้รับอิทธิพลมาจากประเพณีโฮลีของอินเดียหรือเทศกาลสาดสีที่สวยงาม แต่นักวิชาการหลากหลายท่านมองว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ โดยอ้างอิงจากหลักฐานหลากหลายชิ้นงาน ไม่ว่าจะเป็น บันทึกพระราชพิธี 12 เดือน ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นและตอนกลาง ซึ่งปรากฏว่ามีการบันทึกถึงพิธีกรรมการรดน้ำดำหัวของผู้ใหญ่ รวมทั้งการสรงน้ำพระ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามอีกนัยยะที่สำคัญของการสาดน้ำสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของศาสนาผีในอดีตว่า น้ำ เป็นสัญลักษณ์ของการชำระล้างขับไล่สิ่งไม่ดีให้หมดสิ้นไป แม้ว่าการเล่นน้ำในปัจจุบันจะยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ปัจจุบันธรรมเนียมดังกล่าวได้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่สวยงามของสงกรานต์ในอุษาคเนย์เป็นที่เรียบร้อย ดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาซึมซับความสดชื่นของประเพณีดังกล่าว วัดได้จากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นในทุกปี

MP-30-3253-3 แตกต่างแต่เหมือนกัน “มนต์เสน่ห์สงกรานต์ไทย”

สำหรับสงกรานต์ในประเทศไทยแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน โดยในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ส่วนใหญ่จะจัดประเพณีดังกล่าวหลากหลายวันด้วยความเข้มข้นเพราะมีฐานรากเกี่ยวกับศาสนาผีที่แข็งแรง สำหรับภาคกลางและภาคใต้ส่วนใหญ่จะเป็นสงกรานต์เล็กๆ เกิดการปรุงแต่งที่พอเหมาะเพื่อสอดรับวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลาการจัดงานที่ไม่นาน โดยหลักๆมุ่งเน้นการทำบุญและสานต่อความสนุกสนานด้วยการเล่นน้ำ ซึ่งการทำความเข้าใจในแต่ละภูมิภาคเป็นหัวใจที่สำคัญในการก้าวเดินให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน ร่วมกันบูรณาการในการจัดกิจกรรมเพื่อสานต่อประเพณีดังกล่าวด้วยความเข้าถึง อาทิ การจัดสรรช่วงเวลาท่องเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ในแต่ละภูมิภาคเพราะส่วนใหญ่จะจัดงานไม่ตรงกัน ให้กับประชาชนชาวไทยหรือนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเรียนรู้ประเพณีสงกรานต์ได้อย่างครอบคลุม กว้างขวาง และนุ่มลึก

ปีใหม่ไทย จุดเริ่มต้นของฤดูกาลเพาะปลูก

แม้ว่าสงกรานต์จะมีรากฐานมาจากอินเดีย แต่ชนชาติในภูมิภาคอาเซียนได้นำประเพณีดังกล่าวมาปรับและประยุกต์เป็นฐานรากในการจัดกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ ซึ่งสามารถสร้างพื้นที่แห่งการพักผ่อนให้กับมนุษย์ได้ปลดปล่อยและเติมแต่งรวมทั้งเรียนรู้จินตนาการใหม่ๆ ไม่เพียงเท่านั้น สงกรานต์ยังเป็นจุดเริ่มต้นอีกหลากหลายมิติของวัฒนธรรม อาทิ วันขึ้นปีใหม่ รวมทั้ง วันเริ่มต้นของฤดูกาลเพาะปลูก

ซึ่งจุดเริ่มต้นของการเพาะปลูกนั้นส่วนใหญ่จะเริ่มต้นในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนั้นเข้าสู่ภาวะปกติ มีปริมาณน้ำฝนอยูในเกณฑ์ที่ดี ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีเพียงต่อการใช้งานทั้งในด้านการเพาะปลูก รวมทั้งอุปโภคและบริโภคอย่างเหมาะสม ซึ่งทางภาครัฐส่วนใหญ่จะกำหนดให้ช่วงเวลาดังกล่าวให้เป็นฤดูการเพาะปลูกและผลิตของประเทศในทุกปี

MP-29-3253-b อาจารย์ตุลย์ เผยต่ออีกว่า สำหรับแง่มุมภาคการศึกษา เรามุ่งสอนและสนับสนุนให้กลุ่มนักศึกษาได้สืบสานประเพณีดังกล่าวด้วยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งการจัดกิจกรรมภายในชุมชน เพื่อตระหนักและซึมซับถึงความสำคัญ ความงดงามของประเพณีดังกล่าวให้เข้าไปถึงจิตสำนึก อันเป็นรากแก้วที่ยั่งยืนและมั่นคงในการส่งต่อประเพณีที่งดงามไปสู่อนุชนรุ่นหลัง
หากมองให้ลึกซึ้งประเพณีมีแง่มุมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้หลากหลายเรื่องราว เต็มเปี่ยมไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อ และทัศนคติ ที่สำคัญสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมาของชนชาติและการไหลเทของวัฒนธรรมที่เราได้ขานรับและนำมาปรับใช้อย่างสร้างสรรค์ จนเกิดเป็นพิธีกรรมหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามเสมอมา ไม่เพียงเท่านั้นยังฉายภาพให้เห็นถึงความสุข รอยยิ้ม และการปลดปล่อยความเครียดอันนำมาสู่จินตนาการและองค์ความรู้ในการก้าวเดินต่อไปในวันใหม่บนกรอบพื้นฐานการรักษาและธำรงไว้ซึ่งแก่นแท้ของประเพณี

MP-29-3253-c   การจัดงานประเพณีสงกรานต์ทั่วประเทศ

> ประเพณีตักบาตรสงกรานต์สะพานไม้ อำเภอสังขละบุรี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-18 เมษายน ณ ลานเจดีย์พุทธคยา วัดวังก์วิเวการาม และสะพานมอญ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

> ประเพณีสงกรานต์ “สืบสานวัฒนธรรมไท-ยวน ป๊อกแป๊ก” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน ณ วัดป๊อกแป๊ก อ.เมือง จ.สระบุรี

> งานสุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูน เสียงแคน และถนนข้าวเหนียว ประจำปี 2560 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-15 เมษายน ณ บริเวณบึงแก่น นคร และถนนศรีจันทร์ อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น

> ประเพณีสรงน้ำโอยทานสงกรานต์ศรีสัชนาลัย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-12 เมษายน ณ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

> เทศกาลเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ : AMAZING SONGKRAN 2017 อัศจรรย์วันสงกรานต์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-13 เมษายน ณ อุทยานเบญจสิริ กรุงเทพมหานคร

> งานประเพณีสงกรานต์นครพนม รื่นรมย์ บุญปีใหม่ ไทย-ลาว และถนนข้าวปุ้นประจำปี 2560 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน ณ บริเวณถนนข้าวปุ้น (หน้าด่านป่าไม้)เขตเทศบาลเมืองนครพนม และในเขตเทศบาลตำบลเรณูนคร จังหวัดนครพนม

> HATYAI MIDNIGHT SONGKRAN จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 เมษายน ณ สี่แยกโอเดียน,ถนนเสน่หานสรณ์ , ถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 และวัดมหัตตมังคลาราม อำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา

> ประเพณีสงกรานต์ออนเดอะบีชและภูเก็ตไบค์วีค 2017 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 เมษายน ณ หาดป่าตอง สะพานหิน จังหวัดภูเก็ต

> ปี๋ใหม่เมือง ดอกเอื้องงาม (Songkran Festival, a Romantic Touch of Orchids) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-16 เมษายน ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

> งาน ฉำเย็นเล่นวิถีไทย วันไหลพัทยา มหาสงกรานต์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-20 เมษายน ณ ถนนเลียบชายหาดพัทยากลาง จังหวัดชลบุรี

> สงกรานต์กรุงเก่าประจำปี 2560 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ณอุทยานประวัติศาสตร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

> สงกรานต์พระประแดง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน ณ หน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

  MP-30-3253-5 Water Festival 2017 เทศกาลวิถีนํ้า...วิถีไทย ระหว่างวันที่ 13-16 เมษายน

1. ภาคกลาง จัดที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร พื้นพี่ริมโค้งนํ้าที่ยาวที่สุดของแม่นํ้าเจ้าพระยา 4 วัด 3 ท่านํ้า

2. ภาคเหนือ จัดที่ บ้านโบราณเชียงใหม่ ริมแม่นํ้าปิง

3. ภาคใต้ จัดที่ ถนนพังงา เมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต

4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดที่ลานวัฒนธรรมโลกบ้านเชียงจังหวัดอุดรธานี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,253 วันที่ 16 - 19 เมษายน พ.ศ. 2560