svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

จาก “ไฟไหม้สำเพ็งล่าสุด” ย้อนมหากาพย์ “สายไฟฟ้าลงดิน”

27 มิถุนายน 2565

จาก “ไฟไหม้สำเพ็งล่าสุด” ย้อนมหากาพย์ “สายไฟฟ้าลงดิน” ว่าเป็นอย่างไร เพราะไม่เพียงส่งผลต่อความสวยงามของเมือง แต่ส่งผลถึงความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนอีกด้วย พามาย้อนดู

ไฟไหม้ล่าสุด ย่านตลาดสำเพ็ง เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวานที่ผ่านมา (26 มิ.ย.) จากสาเหตุหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด สร้างความเสียหายต่ออาคาร ทรัพย์สินในบริเวณที่เกิดเหตุ รวมไปถึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 11 ราย และเสียชีวิตถึง 2 ราย

เรื่องนี้ถือเป็น “บทเรียนราคาแพง” โดยถือเป็นหน้าที่การไฟฟ้าต้องช่วยดูด้วยเพราะเป็นความรับผิดชอบโดยตรง โดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุ พบปัญหาพื้นที่อาคารที่ถูกฉีดน้ำมีการยุบตัว รวมถึง “ปัญหาสายไฟ สายสื่อสาร”

 

ที่เป็นหนึ่งสาเหตุทำให้เพลิงไหม้ลุกลาม โดยนัดหมายหารือร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง ในสัปดาห์หน้า ทั้งเรื่องไฟแสงสว่าง ความปลอดภัยบนท้องถนน รวมถึงเรื่องความปลอดภัยของหม้อแปลงไฟ และสายสื่อสารที่อยู่รวมกับเสาไฟฟ้า

เมื่อพูดถึง "ปัญหาคนกรุง" ที่รอการแก้ไขที่ไม่พูดไม่ได้ก็คือ  “สายไฟ สายสื่อสาร” โดยเฉพาะย่านสำเพ็ง สายไฟฟ้าและสายสัญญาณสื่อสารที่ระโยงระยางดูไม่เป็นระเบียบ ตลอดแนวถนนย่านเยาวราชและตลาดสำเพ็ง บางจุดถูกพาดผ่านไปมาระหว่างถนน ขณะที่ประชาชนเดินจับจ่ายซื้อของอยู่เป็นจำนวนมาก

 

แม้แต่การเดินทางมาประเทศไทยของ “รัสเซล โครว์” ดาราฮอลลีวูด รูปถ่ายเซลซี่ที่มีฉากหลังเป็นสายไฟระโยงระยาง ถึงขนาดสื่อญี่ปุ่น “Abema Times” ตีแผ่สกู๊ป ต้องใช้เวลา 200 ปี ถึงจะนำลงดินได้ทั้งหมด  

จาก “ไฟไหม้สำเพ็งล่าสุด” ย้อนมหากาพย์ “สายไฟฟ้าลงดิน”

 

จาก “ไฟไหม้สำเพ็งล่าสุด” ย้อนมหากาพย์ “สายไฟฟ้าลงดิน”

ดูคลิปเพิ่มเติม : www.youtube.com/watch?v=XB3npLKP2EA

 

จริงๆ แล้วการนำสายไฟฟ้าลงดิน ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นโครงการที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ริเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 แต่เริ่มนำสายสื่อสารลงดินในกรุงเทพฯ สมัยของ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี พ.ศ.2559 มีการเซ็นข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่าง กฟน. ทีโอที สตช. และ กทม.

 

แผนดังกล่าวเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525 – 2529) ในชื่อโครงการ “โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน”

 

โดย กฟน. มีแผนดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ที่ กฟน. ดูแลและรับผิดชอบระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และสมุทรปราการ ระยะทางรวม 236.1 กิโลเมตร มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2527 – 2567 รวม 8 แผน ได้ดำเนินการ แล้วเสร็จ 48.6 กิโลเมตร

 

คงต้องยอมรับเรื่องการนำสายไฟฟ้าลงดินทั่ว กทม.และทั่วประเทศ เป็นงานหนักพอสมควร แต่คำถามที่ตามมาคือ ล่าช้าขนาดนี้?

 

วันที่ 15 ตุลาคม 2556 ครม.เห็นชอบ แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน รัชดาภิเษก ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในพื้นที่ถนนสายหลัก ในวงเงินลงทุนรวม 8,899.58 ล้านบาท

 

1 กันยายน 2558 ครม.เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย โดย กฟน. ดำเนินตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็น “มหานครแห่งอาเซียนของ” จำนวน 39 เส้นทาง ระยะทาง 127.3 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 48,717.2 ล้านบาท

 

วันที่ 31 มกราคาม 2560 ครม.เห็นชอบให้ กฟน. ดำเนินตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) วงเงินลงทุนรวม 9,088.8 ล้านบาท

 

วันที่ 9 มกราคม 2561 ครม.มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง)

 

วันที่ 24 กันยายน 2562 ครม.มีมติรับทราบแผนงาน/โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ  จังหวัดนนทบุรี และสมุทรปราการ รวมระยะทาง 251.6 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2527-2564 รวม 5 แผนงาน ดำเนินการแล้วเสร็จ 46.6 กิโลเมตร ประกอบด้วย

 

  • แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า โครงการถนนสีลม ปทุมวัน และจิตรลดา ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร
  • แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2547-2552 โครงการพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท) ระยะทาง 24.4 กิโลเมตร
  • แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) โครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) ระยะทาง 6 กิโลเมตร

 

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 เห็นชอบในหลักการให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Win)  วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 3,673.40 ล้านบาท ระยะทางรวม 20.5 กิโลเมตร จำนวน 3 โครงการ

  1. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนรัตนาธิเบศร์ (ถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก)
  2. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี-ถนนติวานนท์
  3. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถนนสุขุมวิท (ซอยสุขุมวิท 81-ซอยแบริ่ง) ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2563-2566

 

วันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ครม.มีมติรับทราบรายงานผลดำเนินตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน (เดือนธันวาคม 2562) มีแผนงาน/โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ระยะทาง 167 กิโลเมตร จำนวน 3 แผนงาน

  1. แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) รวมระยะทาง 25.2 กิโลเมตร
  2. แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน รัชดาภิเษก รวมระยะทาง 22.5 กิโลเมตร
  3. แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน รวมระยะทาง 127.3 กิโลเมตร  

 

แผนการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับ Quick Win) รวมระยะทาง 20.5 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2566 ประกอบด้วย 

  • พื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงถนนรัตนาธิเบศร์ ช่วงถนนราชพฤกษ์ถึงถนนกาญจนาภิเษก
  • ช่วงถนนกรุงเทพ-นนทบุรีถึงถนนติวานนท์
  • พื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถนนสุขุมวิท ช่วงซอยสุขุมวิท 81-ซอยแบริ่ง

 

22 มิถุนายน 2565 กทม. หารือ กฟน. เดินหน้าจัดระเบียบสายไฟ-สื่อสารลงดินรวม 236 กม. พร้อมเชื่อมระบบร้องเรียนกับ Traffy Fondue 

การไฟฟ้านครหลวงได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ระยะทาง 236.1 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ 62 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 174.1 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มเสถียรภาพและความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า รองรับความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต เสริมสร้างภูมิทัศน์ให้สวยงาม และเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน

 

โครงการสายใต้ดินที่แล้วเสร็จ (คลิกที่นี่)

 

โดยมีหลักเกณฑ์การเลือกพื้นที่โครงการ ประกอบด้วย แนวถนนสายหลัก แนวรถไฟฟ้า ย่านธุรกิจและสถานที่สำคัญ และตามนโยบายของหน่วยงานผู้ดูแลพื้นที่ รูปแบบการก่อสร้าง ประกอบด้วย

  • วิธีการดันท่อ (Pipe Jacking) ใช้สำหรับการก่อสร้างสำหรับวางบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าบนถนนจราจร 
  • วิธีการดึงท่อ (Horizontal Directional Drilling : HDD) ใช้สำหรับการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าจากบ่อพักไปยังจุดจ่ายไฟต่างๆ
  • วิธีการขุดเปิด (Open Cut) ใช้สำหรับการก่อสร้างบ่อพักและวางท่อร้อยสายไฟฟ้าบนทางเท้า

 

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาสายไฟฟ้ารุงรัง ยุ่งเหยิง นอกจากจะสะท้อนถึงความล่าช้า ยังสะท้อนถึงการบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ในกทม. อย่างมีประสิทธิภาพ คงต้องจับตาดูบทบาทของผู้ว่าฯ กทม.ในการจัดการกับความยุ่งเหยิงครั้งนี้

ที่ได้กำหนดนัดหมายหารือร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง ในสัปดาห์หน้า ทั้งประเด็น ไฟแสงสว่าง ความปลอดภัยบนท้องถนน ความปลอดภัยของหม้อแปลงไฟ และสายสื่อสารที่อยู่รวมกับเสาไฟฟ้า 

 

ข้อมูล : การไฟฟ้านครหลวง