รถไฟฟ้าสายสีเขียว โจทย์หินในมือ “ชัชชาติ” ผู้ว่าฯกทม.ป้ายแดง

31 พ.ค. 2565 | 22:35 น.

รถไฟฟ้าสายสีเขียว รอต้อนรับผู้ว่าฯกทม. “ชัชชาติ” งานด่วนชิ้นแรก หลังเปิดมติครม.ชี้ชัดกทม.ต้องเร่งสรุปข้อมูลโครงการทั้งหมด พร้อมรับความเห็นคมนาคม ก่อนส่งมหาดไทยชงครม. วงในรับมีหลายปมที่ไม่ง่าย ทั้งข้อกฎหมาย คำนวณค่าโดยสาร รวมทั้งต้องปลดล็อก ม. 44 ให้ได้

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว น่าจะเป็นหนึ่งในเผือกร้อนก้อนใหญ่รอคอยการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนใหม่เข้ามาตัดสินใจว่าจะเดินหน้าไปยังไงต่อ โดยเฉพาะผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนในโครงการ ซึ่งยังมีความเห็นไม่ตรงกันระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย จนนำมาสู่การวอร์คเอ้าท์ไม่ร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จนทำให้ที่ประชุมต้องเลื่อนวาระเรื่องดังกล่าวออกไป

 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมครม.ไม่ได้เลื่อนวาระดังกล่าวออกไป แต่มีมติมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ส่งเรื่องกลับให้ กทม. รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม ไปพิจารณาจัดทำข้อมูลข้อเท็จจริงในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนครบถ้วน แล้วนำเรื่องนี้พร้อมข้อมูลดังกล่าวเสนอที่ประชุมครม.อีกครั้งหนึ่งโดยด่วน

 

ทั้งนี้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ยังได้มีการทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 แจ้งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขอความเห็นชอบประกอบการพิจารณา ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ปลัดกระทวงมหาดไทย ในฐานะประธานการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รวมไปถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

โดยระบุว่า ครม.ได้มีการพิจารณาเห็นว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากกระทรวงมหาดไทย (กทม.) มาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง ซึ่งกระทรวงมหาดไทย (กทม.) ก็ได้ตอบชี้แจงกระทรวงคมนาคมไปแล้ว

ภาพประกอบ รถไฟฟ้า สายสีเขียว BTS

 

อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือเป็นครั้งที่ 11 ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานของกทม. เนื่องจากข้อมูลที่กทม.จัดทำเพิ่มเติมนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงที่ทำให้การวิเคราะห์ของกระทรวงคมนาคมแตกต่างไปจากเดิม 

 

โดยเฉพาะในประเด็นของการคำนวณอัตราค่าโดยสาร การรองรับระบบตั๋วร่วม และความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมาย รวมทั้งยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการติดตั้งสะพานเหล็ก 2 แห่ง และรายละเอียดค่าใช้จ่ายโครงการช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ด้วย

 

เพื่อให้การพิจารณาเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยเสนอในครั้งนี้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี รอบคอบ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน โดยคำนึงถึงภาระการเงินของรัฐที่อาจต้องรับผิดชอบต่อไป

 

แหล่งข่าวระบุว่า จากนี้ไปกระทรวงมหาดไทย และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกทม. ต้องเร่งสรุปรายละเอียดเสนอมายังครม. ตามมติครม.โดยเร็ว โดยเฉพาะประเด็นที่ต้องเร่งหาข้อสรุป ประกอบไปด้วยสัญญาของส่วนต่อขยายต้องทำตามกฎหมายใดบ้าง ทั้ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐละเอกชน พ.ศ.2562 และหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีให้เกิดความครบถ้วน เป็นไปตามมาตราก 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 

 

ขณะเดียวกันในประเด็นเรื่องของค่าโดยสารนั้น ต้องไปดูด้วยว่าจะหารือสรุปอย่างไร โดยมีการยกตัวอย่างให้เทียบเคียงกับมาตรการของการบริหารจัดการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ MRT ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการคำนวณอัตราค่าโดยสาร 

ภาพประกอบ รถไฟฟ้าสายสีเขียว BTS

 

ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ติงในเรื่องของการคิดค่าโดยสารไว้ว่า อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ตามร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกำหนดให้มีอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นอัตราค่าโดยสารสูงกว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในปัจจุบัน 

 

กระทรวงคมนาคมเห็นว่าการคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ สมควรพิจารณาภายใต้ข้อเท็จจริงและดำเนินการ โดยสมควรกำหนดให้ค่าโดยสารมีอัตราค่าบริการที่ถูกที่สุดสำหรับประชาชน ที่ใช้บริการในพื้นที่กทม.และปริมณฑล เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ ซึ่งจะทำให้การจราจรในกรุงเทพมหานครเบาบางลง เพราะปัจจุบันผู้มีรายได้น้อยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรถไฟฟ้าจำนวน 130 บาทต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 35% ของค่าแรงขั้นต่ำ

 

ดังนั้นจากเงื่อนไขในร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะควบคุมอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย โดยกระทรวงมหาดไทยใช้ข้อมูลในปี 2562 เป็นฐาน ในการเปรียบเทียบและคำนวณ มีความเห็นว่า ในอนาคตเมื่อปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ประกอบกับรถไฟฟ้า สายสีเขียวเป็นเส้นทางหลักของเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่น ย่อมส่งผลให้สามารถลดอัตราค่าโดยสารลงได้มากกว่า 65 บาท 

 

นอกจากนี้จากการพิจารณาอัตราค่าโดยสารเมื่อเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าสายอื่น พบว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเขียว เปิดให้บริการมาแล้วกว่า 21 ปี ได้ผ่านจุดคุ้มทุนมาแล้ว มีผู้โดยสารประมาณ 8 แสน – 1 ล้านคน (สถิติประมาณการก่อนเกิดโควิด-19) และมีอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย 

 

ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีผู้โดยสารประมาณ 3 แสนคนต่อวัน และมีอัตราค่าโดยสาร ไม่เกิน 40 บาทตลอดสาย แต่ยังสามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง จึงเห็นว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวสามารถ กำหนดราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมและถูกลงกว่า 65 บาทได้ และยังต้องดูด้วยว่า นโยบายของผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ ที่ประกาศคิดค่ารถไฟฟ้า BTS ราคา 8 สถานี ตั้งแต่  25-28 บาท จะทำได้หรือไม่ด้วย

 

แหล่งข่าวระบุอีกว่า ความยากของเรื่องนี้ยังมีข้อกฎหมายเกี่ยวกับ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของปัญหาว่า จะใช้วิธีอะไรมาปลดล็อกข้อกฎหมายฉบับนี้ ที่ผูกมัดให้กทม.ดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดเส้นทาง

 

เช่นเดียวกับการรับโอนภาระทางการเงินของโครงการช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ -คูคต ด้วยว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร และคงต้องดูว่ากระทรวงมหาดไทยจะมีความเห็นเพิ่มเติมอย่างไรออกมา

 

หากกทม.จะแก้ปัญหาการโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ รฟม.ดูแล คำถามที่ตามมาคือ กทม.หรือ รฟม.จะเป็นคนรับภาระหนี้ที่ค้างชำระ BTS อยู่ตั้งแต่เดือน เมษายน 2560 ถึงปัจจุบัน 38,000 ล้านบาท อย่างไรด้วย

 

ขณะเดียวกันก็จะต้องพิจารณาด้วยว่าหากจะมีการลดค่าโดยสารให้ถูกลงกว่าเดิมนั้นจะทำให้เกิดภาระขาดทุนหรือไม่ เพราะถ้าขาดทุนแล้วกทม.จะต้องจัดสรรงบประมาณของกทม.เข้าไปอุดหนุนได้หรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถนำงบประมาณส่วนกลางไปอุดหนุนได้เพราะจะไม่เป็นธรรมกับคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่ได้ใช้รถไฟฟ้าเส้นดังกล่าว

 

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการยังต้องรอให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ สรุปรายละเอียดทั้งหมดเสนอมาให้กับกระทรวงมหาดไทย เช่น เรื่องการเงินเป็นยังไง รับโอนมาแล้วจะพอไปชำระหนี้ไหม และความพร้อมเป็นยังไง ซึ่งเรื่องทั้งหมดเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. ต้องจัดทำรายละเอียดมาให้กระทรวงมหาดไทย โดยกระทรวงจะทำหน้าที่พิจารณาและส่งผ่านเข้าไปยังครม. พิจารณา

 

“ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว หลังจากกทม.ส่งมาให้พิจารณาแล้ว กระทรวงมหาดไทย จะดูเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเช็คให้เกิดความรอบคอบอีกครั้งว่าขั้นตอนต่าง ๆ ได้ทำอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาการเจรจาร่างสัญญาร่วมลงทุนของสายสีเขียว ผู้ว่าฯกทม.คนเก่า แจ้งเหตุผลว่าที่ต้องเลือกรูปแบบนี้เพราะติดขัดเรื่องงบประมาณ แต่จากนี้คงต้องรอดูผู้ว่าฯ คนใหม่เสนอมาอีกทีว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนจะต้องเสนอมาเมื่อไหร่นั้น ตอนนี้ยังไม่ได้ระบุ” นายนิพนธ์ ระบุ