เจาะ “ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม” เมื่อรัฐตีกรอบเสรีภาพ ?

30 พ.ค. 2565 | 03:55 น.

พามาทำความเข้าใจ “ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม” หรือ "กฎหมายเอ็นจีโอ" จริงหรือที่รัฐตีกรอบเสรีภาพ ? ท่ามกลางเครือข่ายภาคประชาชนเรียกร้องให้รัฐหยุดการพิจารณาร่างกฎหมายใหม่นี้

ร่าง พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรฯ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งคือ คือ "กฎหมายเอ็นจีโอ" หรือ กฎหมายควบคุมการรวมกลุ่ม เป็นประเด็นที่น่าจับตา เพราะเราคงได้เห็นภาคประชาชนออกมาคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่ม

 

 

มีการปักหลักบริเวณถนนราชดำเนินนอก หน้าอาคารสหประชาชาติ มาเป็นเวลา 7 วัน เเละในวันนี้ (30 พ.ค.65) ได้เคลื่อนขบวนทวงถามคำตอบจากรัฐบาล เพื่อให้หยุดการพิจารณาร่างกฎหมายใหม่ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของภาคประชาสังคม และถูกกดดันจากตำรวจให้ย้ายที่ชุมนุม โดยในช่วงเวลาที่ชุมนุมมีกฎหมายที่ให้อำนาจตำรวจสั่งห้ามหรือสลายการชุมนุมได้ คือ ข้อกำหนดที่ออกมาเพื่อควบคุมโรคโควิด ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่านั้น

สาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรฯ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งคือ คือ "กฎหมายเอ็นจีโอ" หรือ กฎหมายควบคุมการรวมกลุ่ม

  • การวางมาตรการให้องค์กรภาคประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบสมาคม มูลนิธิ หรือคณะบุคคลต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรเพื่อให้รัฐและสาธารณชนเข้าถึง ซึ่งรวมทั้งแหล่งที่มาของเงินทุน 
  • โดยให้หน่วยงานของรัฐและบุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจะกำหนดขึ้นภายหลัง (มาตรา 19)
  • ต้องไม่กระทำการอันกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี และไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก เป็นต้น
  • กรณีที่องค์กรไม่แสวงหากำไรได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศ ให้องค์กรแจ้งชื่อแหล่งเงินทุนต่างประเทศ แจ้งชื่อบัญชีธนาคารที่จะรับเงิน จำนวนเงิน และวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงิน และการรับเงินต้องรับผ่านบัญชีที่แจ้งไว้เท่านั้น
  • ต้องใช้เงินจากแหล่งทุนตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งต่อรัฐไว้เท่านั้น และต้องไม่ใช้เงินที่ได้รับมาเพื่อดำเนินกิจกรรมในลักษณะ "แสวงหาอำนาจรัฐ" หรือ "เอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง" (มาตรา 21)
  • กรณีได้รับรายได้จากการรับเงินบริจาคจากบุคคลทั่วไปหรือจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต้องจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละรอบปีปฏิทิน และเปิดเผยบัญชีรายรับรายจ่ายให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูลนั้นโดยง่าย และต้องเก็บรักษาข้อมูลไว้ให้ตรวจสอบเป็นเวลาสามปี (มาตรา 22)
  • การให้เปิดเผยข้อมูลจะมี นายทะเบียน ตั้งแต่ปลัดกระทรวง พม. และข้าราชการที่ปลัดกระทรวง พม. แต่งตั้ง เป็นผู้ตรวจสอบว่า องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ ได้ดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่
  • หากไม่ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลนายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งให้องค์กรนั้นๆ หยุดดำเนินกิจกรรมขององค์กรจนกว่าจะดำเนินการเปิดเผยข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด

 

ข้อห้ามไม่ให้องค์กรแสวงหาผลกำไรดำเนินงาน

  •  กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงความมั่นคงของรัฐด้านเศรษฐกิจ หรือ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
  • กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม
  •  กระทบต่อประโยชน์สาธารณะรวมทั้งความปลอดภัยสาธารณะ
  • เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย
  • เป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือ กระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของบุคคลอื่น
  • หากพบว่า องค์กรไม่แสวงหากำไรดำเนินงานเข้าข่ายตามข้อห้ามที่กฎหมายกำหนด ให้นายทะเบียนแจ้งเตือน และสั่งให้หยุดการกระทำหรือแก้ไขการกระทำให้ถูกต้อง แต่หากยังฝ่าฝืนให้ออกคำสั่งยุติการดำเนินงานขององค์กรดังกล่าว (มาตรา 20)

 

กฎหมายยังมีการกำหนดบทลงโทษไว้เพิ่มอีก 

  •  หากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลตามที่รัฐกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือ ปรับวันละ 1,000 บาท จนกว่าจะดำเนินการตามที่รัฐต้องการ (มาตรา 25)
  • หากองค์กรภาคประชาชนไม่หยุดการดำเนินงานตามข้อห้ามที่กฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือ ปรับวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะดำเนินการตามที่รัฐต้องการ  (มาตรา 26)

ข้อมูล : iLaw