ครม.ไฟเขียวแผนก่อหนี้ใหม่พุ่ง 1.41 ล้านล้าน ตรึงราคาน้ำมัน-กู้ลงทุน

12 เม.ย. 2565 | 07:38 น.

ครม. เคาะแผนการบริหารหนี้สาธารณะ รอบใหม่ ปรับกรอบวงเงินก่อหนี้ใหม่เพิ่มอีก 4.9 หมื่นล้าน เป็น 1.41 ล้านล้านบาท ระบุใช้ในการตรึงราคาน้ำมัน กู้ลงทุนรัฐวิสาหกิจ และปรับโครงสร้างหนี้ คาดหนี้สาธารณะต่อ GDP แตะ 62.76%

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 2 โดยมีการปรับแผนการก่อหนี้ใหม่ ใช้ในการตรึงราคาน้ำมัน กู้ลงทุนรัฐวิสาหกิจ และปรับโครงสร้างหนี้ ดังนี้

  • แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,415,103.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49,619.73 ล้านบาท 
  • แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,501,163.56 ล้านบาท ลดลง 35,794.42 ล้านบาท 
  • แผนการชำระหนี้ วงเงิน 363,269.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,035.29 ล้านบาท

 

สำหรับความจำเป็นในการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2 มีปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้ 

 

1.การกู้เงินเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน

 

2.การปรับเพิ่มวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเป็นหนี้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 เพื่อบริหารความเสี่ยงวงเงินกู้ต่างประเทศที่คาดว่าจะลงนามสัญญาและหรือรองรับการระดมทุนในสกุลเงินตราต่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้น จำนวน 29,345 ล้านบาท

3.การกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาและเพื่อดำเนินโครงการหรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง จำนวน 39,445.05 ล้านบาท เช่น

  • การรถไฟแห่งประเทศไทยปรับเพิ่มวงเงินโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน (ระบบไฟฟ้า เครื่องกล และตู้รถไฟฟ้า) จำนวน 1,660.28 ล้านบาท 
  • การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยปรับเพิ่มเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในปี 2565- 2567 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบบรรจุโครงการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2 จำนวน 21 โครงการ และให้รัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

 

ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (DSCR) ต่ำกว่า 1 สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2 โดยให้รัฐวิสาหกิจดังกล่าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะไปดำเนินการด้วย 

 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลัง คาดว่า ประมาณการหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ภายหลังการปรับปรุงแผนในครั้งนี้ จะอยู่ที่ 62.76% ซึ่งไม่เกิน 70% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด 

ทั้งนี้ ประมาณ 70% ของหนี้สาธารณะ จะเป็นเงินกู้เพื่อการลงทุน แบ่งเป็น ด้านคมนาคม 26% ด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ 13% ด้านเศรษฐกิจและสังคม 13% ด้านสาธารณูปการ 9% ด้านลงทุนทั่วไป 6% และด้านสาธารณสุข 2%