เทียบคดี “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” กับคดีข่มขืน ทฤษฎีอาชญาวิทยา

19 เม.ย. 2565 | 05:40 น.

ทำไมอาชญากรจึงลงมือข่มขืนเหยื่อ เทียบคดี “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับทฤษฎีอาชญาวิทยา

ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่สังคมให้ความสนใจในคดี “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตกเป็นผู้ต้องหาคดีกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุเกินกว่า 15 ปี 2 คดี และคดีข่มขืนกระทำชำเรา 1 คดี รวม 3 คดี ในพื้นที่ สน.ลุมพินี นอกจากนี้ยังมีอีก 2 คดี ที่ จ.เพชรบุรี และเชียงใหม่ รวม 5 คดี 

 

ภายหลัง ศาลอาญาใต้ให้ประกัน "ปริญญ์" อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. คดี อนาจาร-ข่มขืน 3 สำนวน ๆ ละ 200,000-300,000 บาท โดยสั่งห้ามเดินออกนอกประเทศ

การเข้ามอบตัวและปฏิเสธข้อหาของนายปริญญ์ เกิดขึ้นภายหลังการแถลงลาออกจากรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และผู้อำนวยการศูนย์เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของ ปชป. เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา

 

หรือเพียงหนึ่งวันหลังจากนายษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายความชื่อดังเปิดเผยว่ามีหญิงผู้เสียหายกล่าวหารองหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่คนหนึ่งว่าก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศ

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล หรือ อาจารย์โต้ง ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา ม.รังสิต อธิบายในมุมมองอาชญวิทยาในคดี  “ปริญญ์ พานิชภักดิ์”  ว่า การที่คนๆหนึ่งจะมีพฤติกรรมลงมือก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่นขึ้นอยู่กับภูมิหลัง การอบรบเลี้ยงดูของครอบครัว การศึกษา เเละสังคม

 

งานวิจัยพบว่าในกรณีเยาวชนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือมีพฤติกรรมเกเร ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขจะก่อให้เกิดการละเมิดกฎหมายได้ เมื่อเทียบเคียงกับคดีนี้ ต้องดูว่านายปริญญ์มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนอะไร แบบไหนบ้าง

 

ในกรณีเคสทั่วไป ถ้าทำผิดแล้วยังไม่ถูกดำเนินคดี ไม่มีบทลงโทษ จะยิ่งเพิ่มการกระทำซ้ำๆ มากขึ้น อย่างคดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นข่มขืน อนาจาร ถ้าครั้งแรกถูกดำเนินคดีก็จะเกรงกลัว หลาบจำ และคนที่ทำผิดในลักษณะเดียวกันก็จะไม่กล้าทำ เพราะมีการบังคับใช้กฎหมายเดียวกัน แต่ถ้าครั้งแรกไม่ถูกลงโทษก็จะย่ามใจ ทำต่อไป  

 

“ร่องรอยหลักฐานต่างๆ ต้องอาศัยการตรวจร่างกาย บาดแผล สถานที่เกิดเหตุ และจากเทคโนโลยีประกอบกัน แน่นอนคดีนี้ต้องมีทนายความรู้ในมุมกฎหมาย รู้ว่าการตรวจร่างกายหลายปีไม่เจอแล้ว กล้องวงจรปิดก็ไม่เจอ เว้นแต่มีคลิปเสียงการสนทนา หรือภาพถูกแอบบันทึกไว้ อาจเป็นไปได้ที่จะดึงมาได้ ต้องขึ้นอยู่การสืบสวนสอบสวน คนที่ตกเป็นหยื่อส่วนใหญ่มาจากความไว้ใจ ความใกล้ชิด  คนคุ้นเคย การเป็นคนดี การศึกษาดี ไม่ได้หมายความว่า จะล่วงละเมิดทางเพศคนอื่น เเต่อย่างไรก็ต้องไปพูดกันในศาล” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ อธิบาย

 

 

ส่วนเรื่องสภาพจิตใจของผู้กระทำผิดต้องประเมินเป็นรายกรณี เนื่องจากไม่เหมือนการใช้ความรุนแรง กรณีที่มีการใช้ความรุนแรงอาจเกิดจากวัยเด็กถูกใช้ความรุนแรงมาก่อน แต่คดีของนายปริญญ์ เชื่อว่าน่าจะเกิดจากการขัดเกลาของสังคมและระบบความคิดมีปัญหา

 

“อย่างคดี สมคิด พุ่มพวง นี่คือผิดปกติทางจิต หรือบางคนที่ทำผิดอาจจะแค่ต่อต้านสังคม แต่ดูแล้วคดีนี้ปัญหาด้านบุคคลิกภาพ การแสดงออก หมายถึงว่า คนเรามีความแตกต่างทางความรู้สึกนึกคิด การขัดเกลาทางสังคม ซึ่งจะเกิดตั้งแต่แรกเกิด อยู่ในครอบครัว การศึกษา แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น เช่นเพื่อน เขาอาจจะเจอเพื่อนชอบแนวเดียวกัน  ซึ่งแบบนี้ไม่ต้องรักษา เยียวยา เพราะไม่ได้ป่วยทางจิต เเต่ก็ต้องให้จิตแพทย์จะเป็นผู้ประเมิน”

 

อาจารย์โต้งระบุถึง การดำเนินคดีข่มขืนในไทยและทั่วโลกว่า เหมือนกันตรงที่เหยื่อจะอับอาย ปัญหาที่สำคัญจะทำอย่างไรให้เหยื่อกล้าแสดงตัว ปรับเปลี่ยนสภาพจิตใจ และเหยื่อเองต้องเรียนรู้แล้วว่าจะทำอย่างไร ผู้ปกครองต้องแนะนำลูกหลาน ประเทศไทยต้องให้ความรู้เพิ่มขึ้นพื่อการไม่ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งการแสวงหาพยานหลักฐานในคดีลักษณะนี้   

 

ส่วนโทษนั้นบางคนบอกว่าข่มขืนเท่ากับประหาร ซึ่งก็ยังมีความเห็นต่างกันขึ้นอยู่กับมุมมมอง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าผู้ก่อเหตุทุกรายถูกดำเนินเสมอภาค บังคับใช้กฎหมายเดียวกัน การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม หรือไม่