"ทรู-ดีแทค" แจงควบรวมกิจการ ปิดประตูสู้ "เอไอเอส" เต็มสูบ

02 มี.ค. 2565 | 22:31 น.

เปิดเหตุผลแท้จริงดีลยักษ์ด้านธุรกิจการสื่อสารค่ายมือถือ ทรู-ดีแทค หลังเข้าชี้แจงคณะกรรมาธิการฯ ชุด พร้อมทั้งมีเอไอเอสเข้าชี้แจงด้วย ไปฟังสาเหตุของการควบรวมธุรกิจกันว่าดีลครั้งนี้มีอะไรที่น่ากังวล

เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจอย่างต่อเนื่อง สำหรับดีลยักษ์ด้านธุรกิจการสื่อสารของประเทศไทย หลังจากเกิดกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างสองค่ายมือถือใหญ่ คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ทรู” กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” ในลักษณะบริษัทร่วมลงทุน (Joint Venture)

 

ล่าสุดแม้การดำเนินการครั้งนี้จะยังไม่สะเด็ดน้ำ หลังจากหน่วยงานต่าง ๆ ยังคงตั้งข้อสังเกตสำหรับเหตุผลและความจำเป็นสำหรับดีลใหญ่ในครั้งนี้ โดยหวังว่า จะปกป้องไม่ผู้ใช้บริการ นั่นก็คือประชาชนทั่วไป ได้รับผลกระทบจากการควบรวมกิจการ

 

ในด้านการตรวจสอบ ที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง ทรูและดีแทค และการค้าปลีก-ค้าส่ง สภาผู้แทนราษฎร ขึ้นมาเพื่อรับทราบข้อมูลข้อเท็จริงของการดำเนินการครั้งนี้ และได้มีการประชุมไปแล้วหลายครั้ง 

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2565 คณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ ที่มี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นประธาน ก็ได้เชิญผู้บริหารทั้ง 2 ค่าย เข้ามาชี้แจงเหตุผล รวมทั้งยังมีบริษัท แอ๊ดวานซ์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เข้ามาร่วมวงประชุมด้วย

 

ภายหลังการประชุมซึ่งบริษัทต่าง ๆ ได้ส่งตัวแทนมาชี้แจง ก็ได้มีการอธิบายเหตุผลของการควบรวมกิจการตามที่คณะกรรมาธิการตั้งข้อสังเกต โดยภายหลังการประชุม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ โดยระบุว่า 
 

คณะกรรมาธิการฯ ได้มีการสอบถามในหลายประเด็น และได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อย โดยการเชิญมาชี้แจงจากทางผู้ให้บริการตอนนี้น่าจะเพียงพอแล้ว คงไม่ต้องเชิญมาอีก แต่ให้ไปตอบบางข้อสงสัยเท่านั้น 

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวจากวงประชุม ระบุว่า ในการประชุมครั้งนี้ มีการสอบถามเรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อน โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีการสอบถามทางตัวแทนของเอกชนจากค่ายมือถือไปว่า ถ้าไม่มีการให้ควบรวมกิจการแล้วจะเป็นอะไรไหม

 

ทั้งนี้ทางตัวแทนของ ทรู และดีแทค ได้ชี้แจงเหตุผลว่า ปัจจุบันถ้าไม่มีการควบรวมกันจะส่งผลต่อการทำธุรกิจ เพราะที่ผ่านมาทางเอไอเอส ก็รุกการทำ 5G อย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงต้องควบรวมเพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันเชิงธุรกิจให้ได้

 

โดยเฉพาะทางดีแทคเองในปัจจุบันก็มีจำนวนลูกค้าลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ให้บริการเอง ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของ กสทช. เกี่ยวกับเพดานที่กำหนดไว้ชัดเจน 

 

ประกอบกับการมีแพล็ตฟอร์มจากต่างประเทศเข้ามา เช่น เน็ตฟลิกซ์ ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น เพราะลูกค้าต้องใช้ข้อมูลเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยที่ผู้ประกอบการไม่สามารถเก็บค่าบริการเพิ่มเติมได้

 

อย่างไรก็ตามจากการสอบถามทางผู้ให้บริการ แม้ว่าจะได้มีการตอบข้อสงสัยของคณะกรรมาธิการเบื้องต้นแล้ว แต่ก็ยังมีบางเรื่องที่ยังคงคาใจอยู่ ดังนั้น น.อ.อนุดิษฐ์ ประธานในที่ประชุม จึงขอให้ ทั้ง 2 บริษัท กลับไปจัดทำข้อชี้แจงมาให้คณะกรรมาธิการเพิ่มเติมมาอีก เพื่อจะได้นำข้อมูลไปศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการต่อไป

 

เรื่องนี้ น.อ.อนุดิษฐ์ ให้สัมภาษณ์ว่า แม้จะได้รับทราบเหตุผลความจำเป็นเบื้องต้นในการควบรวมกิจการแล้ว ทั้งแนวทางการควบรวมกิจการ ข้อกฎหมาย และผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่ยังมีบางเรื่องที่ขอให้ทั้ง 2 บริษัท กลับไปจัดทำข้อชี้แจงมาให้คณะกรรมาธิการเพิ่มเติมอีกครั้ง

สำหรับคำถามที่คณะกรรมาธิการฯ ยังมีข้อสงสัย เช่น สาเหตุสำคัญจริง ๆ ของการควบรวมกิจการครั้งนี้มีอะไรเพิ่มเติมอีก เพราะแม้ว่า ในการประชุมครั้งนี้ ทั้ง 2 บริษัทจะได้ชี้แจงไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ครบถ้วน 

 

โดยเฉพาะกรณีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทางผู้บริการจะมีการให้บริการใหม่ ๆ อย่างไรบ้าง เพื่อให้การใช้เครือข่ายมากขึ้น แต่ไม่กระทบต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของต้นทุนการบริการ

 

ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของการลดต้นทุนของผู้ประกอบการว่า จะกระทบต่อการให้บริการหรือไม่ และยังสามารถแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมต่อไปได้อย่างไรบ้าง

 

พร้อมกันนี้ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมจากคณะกรรมาธิการฯ อีกเรื่อง โดยเฉพาะในรายของ นายเกียรติ สิทธีอมร รองประธานคณะกรรมาธิการฯ ยอมรับว่า คณะกรรมาธิการฯ ยังมีข้อกังวล และมีข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดหาผู้เข้ามาทำการศึกษาการควบรวมกิจการ ตามกรอบกฎหมายของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่จะต้องทำให้เสร็จภายใน 30 วัน

 

นายเกียรติ สิทธีอมร รองประธานคณะกรรมาธิการฯ

 

โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา โดยผู้ที่เข้ามาทำการศึกษาจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการดำเนินการครั้งนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตามกฎหมายของกสทช.เอง ซึ่งกรณีนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้ขอให้ไปทบทวนในกระบวนการที่ได้ทำจนถึงวันนี้ให้ดีก่อน

 

“ที่ผ่านมาได้ตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้มาก่อนมีการยื่นขอควบรวมกิจการ แต่พอระหว่างทางได้มีการยื่นขอควบรวมกิจการเกิดขึ้น จึงมีความหมายว่า ตามกฎหมาย กสทช.ต้องตั้งนักวิชาการอิสระขึ้นมาศึกษาผลกระทบ ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างศึกษา ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อสังเกตไปแล้วว่า นักวิชาการที่เอามานี้ต้องอิสระจริง ๆ ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงทางอ้อม ซึ่ง ณ วันนี้มองว่า ยังไม่สบายใจในประเด็นนี้”

 

ขณะเดียวกันยังมีประเด็นในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง เพราะที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตว่า หลายหน่วยงานยังไม่สามารถทำกับกรณีนี้อะไรได้ แต่ขณะนี้ได้หารือกันในรายละเอียดจนมั่นใจว่า ผู้กำกับดูแลทั้ง กสทช. และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีอำนาจตามกฎหมายในการกำกับดูแลการควบรวมกิจการในหลาย ๆ ชั้นทั้งบริษัทแม่ และบริษัทลูก และไม่มีช่องโหว่ใด ๆ เกิดขึ้นแน่นอน

 

นายเกียรติ ยังกล่าวว่า การหารือครั้งนี้ ทั้ง 2 รายได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นของการควบรวมกิจการแล้ว โดยเมื่อมีผู้ให้บริการน้อยราย บริษัทที่เป็นรายเล็กคงต้องร่วมกันถึงจะอยู่ได้ ส่วนอีกเรื่องคือปัจจุบันมีผู้ให้บริการจากต่างประเทศที่ใช้บริการบนฐานอินเตอร์เน็ตจำนวนมาก กลุ่มนี้ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ให้บริหารอย่างชัดเจน

 

ดังนั้นคณะกรรมาธิการฯ จึงตั้งข้อสังเกตไปว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกก็ไม่ได้ปล่อยให้ใครเข้ามาหาประโยชน์ในลักษณะนี้ โดยจะมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องก่อน ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลของไทยควรต้องพิจารณาแนวทางดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบริษัทต่าง ๆ เบื้องต้นคณะกรรมาธิการฯ ได้ขอให้ทางบริษัทยื่นข้อเสนอ เพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างของกิจการโทรคมนาคมอย่างเปิดกว้างในทันที

 

อย่างไรก็ตามเรื่องราวของดีลยักษ์ครั้งนี้ ยังคงมีอีกหลายหลายประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อ เพราะนอกจากจะส่งผลต่ออนาคตกิจการโทรคมนาคมของไทยแล้ว ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ คงต้องมาลุ้นต่อกันว่า ท้ายที่สุดท้ายเรื่องนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราเอง