ติงกสทช. ตั้งนักวิชาการศึกษาควบรวมทรู-ดีแทคต้องโปร่งใส

02 มี.ค. 2565 | 08:57 น.

คณะกรรมาธิการฯ ติงปมควบรวมกิจการทรู-ดีแทค ตั้งผู้ศึกษาการควบรวมกิจการ ตามกรอบกฎหมาย กสทช. ต้องโปร่งใส ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม

นายเกียรติ สิทธีอมร รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง ทรูและดีแทค และการค้าปลีก-ค้าส่ง สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญผู้บริหารเข้ามาชี้แจงข้อมูลการควบรวมกิจการดังกล่าว

 

โดยมีของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท แอ๊ดวานซ์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เข้ามาชี้แจงข้อมูลเหตุผลความจำเป็นของการควบรวมกิจการ

 

ทั้งนี้ยอมรับว่าในการหารือครั้งนี้คณะกรรมาธิการฯ ยังมีข้อกังวล และมีข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดหาผู้เข้ามาทำการศึกษาการควบรวมกิจการ ตามกรอบกฎหมายของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่จะต้องทำให้เสร็จภายใน 30 วัน

 

โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา โดยผู้ที่เข้ามาทำการศึกษาจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการดำเนินการครั้งนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตามกฎหมายของกสทช.เอง ซึ่งกรณีนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้ขอให้ไปทบทวนในกระบวนการทำได้ทำจนถึงวันนี้ให้ดี

 

“ที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้ก่อนมีการยื่นขอควบรวมกิจการ แต่พอระหว่างทางได้มีการยื่นขอควบรวมกิจการเกิดขึ้น จึงมีความหมายว่า ตามกฎหมาย กสทช.ต้องตั้งนักวิชาการอิสระขึ้นมาศึกษาผลกระทบ ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างศึกษา ซึ่งคระกรรมาธิการฯ ได้มีข้อสังเกตไปแล้วว่า นักวิชาการที่เอามานี้ต้องอิสระจริง ๆ ไม่ใด้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงทางอ้อม ซึ่ง ณ วันนี้มองว่า ยังไม่สบายใจในประเด็นนี้”

ขณะเดียวกันยังมีประเด็นในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง เพราะที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตว่า หลายหน่วยงานยังไม่สามารถทำกับกรณีนี้อะไรได้ ซึ่งขณะนี้ได้หารือกันในรายละเอียดเชิงลึกจนมั่นใจว่า ผู้กำกับดูแลทั้ง กสทช. และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีอำนาจตามกฎหมายในการกำกับดูแลการควบรวมกิจการในหลาย ๆ ชั้นทั้งบริษัทแม่ และบริษัทลูก และไม่มีช่องโหว่ใด ๆ เกิดขึ้นแน่นอน

 

นายเกียรติ กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ ทั้ง 2 รายได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นของการควบรวมกิจการแล้ว โดยเมื่อมีผู้ให้บริการน้อยราย บริษัทที่เป็นรายเล็กคงต้องร่วมกันถึงจะอยู่ได้ ส่วนอีกเรื่องคือปัจจุบันมีผู้ให้บริการจากต่างประเทศที่ใช้บริการบนฐานอินเตอร์เน็ตจำนวนมาก กลุ่มนี้ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ให้บริหารอย่างชัดเจน

ดังนั้นคณะกรรมาธิการฯ จึงตั้งข้อสังเกตไปว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกก็ไม่ได้ปล่อยให้ใครเข้ามาหาประโยชน์ในลักษณะนี้ โดยจะมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องก่อน ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลของไทยควรต้องพิจารณาแนวทางดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบริษัทต่าง ๆ

 

เบื้องต้นคณะกรรมาธิการฯ ได้ขอให้ทางบริษัทยื่นข้อเสนอ เพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างของกิจการโทรคมนาคมอย่างเปิดกว้างในทันที