ธปท.เล็งทบทวนคาดการณ์เงินเฟ้อ-จีดีพีมี.ค.นี้

11 ก.พ. 2565 | 11:08 น.

ธปท.เล็งทบทวนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป-จีดีพี ในการประชุม กนง.เดือนมี.ค.นี้ ย้ำทั้งปีอยู่ในกรอบ อัตรา1-3%

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่าธปท.จะมีการทบทวนการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อและปรับไส้ในอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีพีดี) ของปี 2565 โดยเฉพาะภาคการส่งออกเป็นสำคัญ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคม2565

 

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า มีความเสี่ยงปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โเดยจะทยอยลดลงในครึ่งปีหลัง  จากเดิมธปท.คาดการณ์เงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2564 มองว่า อัตราเงินเฟ้อปี 2565 จะอยู่ที่ 1.7% และ 1.4% ในปี 2566 แต่จากพัฒนาการเงินเฟ้อในเดือนมกราคม 2565 ที่เพิ่มขึ้น 3.23% จากราคาพลังงานและอาหารสดเป็นสำคัญ จึงเป็นความเสี่ยงที่คาดว่าเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีความเป็นไปได้ที่สูงกว่าคาดการณ์ได้  แต่ทั้งปียังคงอยู่ในกรอบ 1-3%   

 

ทั้งนี้  มองว่า กรอบเป้าหมาย 1-3% เป็นกรอบที่ธปท.และกระทรวงการคลังมีการตกลงร่วมกันทุกปี ซึ่งเป็นกรอบที่อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่ผันผวน และไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป ทำให้ภาคธุรกิจวางแผนธุรกิจได้เหมาะสมในระยะถัดไปข้างหน้า

 

 

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล

 

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า การเพิ่มขึ้น 3.23%ของเงินเฟ้อเมื่อเดือนมกราคม 2565  ส่วนใหญ่มาจากราคาพลังงานเป็นหลัก และอาหารสด เช่น ราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ดี การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ามีจำกัดเฉพาะบางประเภทเท่านั้น ไม่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นในสินค้าอื่นๆ เป็นวงกว้าง   หากดูการเปลี่ยนแปลงของราคาในจำนวน 90 หมวด จะพบว่า ราคาน้ำมันมีการเปลี่ยนแปลงราคามากที่สุด โดยมีการปรับเพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และรองลงมา คือ เนื้อหมูที่มีการเปลี่ยนแปลงราคา 22% และอันดับสุดท้าย คือ เครื่องปรุงเปลี่ยนแปลง 9%

 

ทั้งนี้ความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ถ้าหากราคาพลังงานและอาหารเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าคาด มีการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้ราคาอาหาร เช่น อาหารตามสั่งสูงขึ้นได้ และการหยุดชะงักของภาคการผลิตยังทำให้เพิ่มภาระต้นทุนผู้ประกอบการ รวมทั้งยังมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยอาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด

 

สุรัช แทนบุญ

 

 

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ที่เงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงขึ้นนโยบายการเงินจะดูแลในส่วนของรายได้ไม่ให้สะดุดทั้ง 3 ด้าน คือ

1.การคงอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.50% นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

2.การเติมเงินใหม่ผ่านมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อฟื้นฟู

3.ปรับโครงสร้างหนี้ ลดภาระหนี้ภาคเอกชน โดยประสานงานกับธนาคารดูแลลูกหนี้ให้สามารถชำระหนี้ได้

 

ต่อข้อถาม ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ออกมา 7.5%นั้น  นายสุรัชมองว่า  อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะปรับความเร็ว และจำนวนครั้งของการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะมีผลต่อกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายอัตราแลกเปลี่ยน และกระทบต่อประเทศเกิดใหม่ทุกประเทศ  ไม่เฉพาะประเทศไทย

แต่ความผันผวนตลาดการเงินของไทยเทียบกับหลายประเทศไทยจัมีความแข็งแกร่ง ทั้งด้านต่างประเทศ เพราะมีหนี้ต่างประเทศน้อย มีเงินสำรองสูง ธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ระดมจากเงินฝากในประเทศ ทำให้ สามารถเอื้อให้ใช้นโยบายการเงินไปสู่เป้าหมายเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงินได้.