เปิดปฏิบัติการดึงลงทุน 1 ล้านล้าน เดิมพันอนาคตรัฐบาลโค้งสุดท้าย

10 ก.พ. 2565 | 08:41 น.

“ม.ล.ชโยทิต” หัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุก เปิดแผนครั้งแรกกับการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายใหญ่ดึงเงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ว่าจะทำได้หรือไม่

“ผมมาช่วยประเทศ ไม่สนใจเรื่องการเมืองอะไร มีงานทำข้างหน้าก็ทำไป ส่วนจะยุบเมื่อไร จะเลือกเมื่อไร่ ถึงตอนนั้นก็เลิก เพราะผมเข้ามาทำงาน ผมสละงานจากเอกชนมาเพราะอยากจะช่วยชาติแค่นั้นเอง” 

 

นี่คือหนึ่งในคำพูดที่ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ในฐานะหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกดึงดูดการลงทุนในประเทศไทย กล่าวขึ้นในช่วงของการแถลงรายละเอียดแผนงานการดึงดูดการลงทุนของรัฐบาลเป็นครั้งแรกต่อสื่อมวลชน 

 

หลังจากเจอคำถามว่าในช่วง 1 ปีที่ได้เริ่มต้นทำแผนการดึงดูดนักลงทุนมาแล้ว จะต้องถูกปมการเมืองเข้ามากระทบทำให้แผนที่ทำมาจะเดินต่อได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้นั่นคือ การเดินหน้าปฏิบัติการเชิงรุกต่อ

ตามแผนปฏิบัติการครั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 ประเภท คือ 1. อุตสาหกรรมรถยนต์ 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 3. อุตสาหกรรมยา 4. อุตสาหกรรมดิจิทัล และ 5. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

 

ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยยังพึ่งพาต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และผลักดันให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ช่วยพัฒนา และเกิดการลงทุนใหม่ในประเทศ

เปิดปฏิบัติการดึงลงทุน 1 ล้านล้าน เดิมพันอนาคตรัฐบาลโค้งสุดท้าย

“ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทย และถ้าเอาท่องเที่ยวมารวมกัน จะพบว่า แค่ 3 ประเภทนี้มีผลต่อจีดีพีไทยมากถึง 50% หากไม่เร่งทำจะทำให้เงินส่วนนี้หายไปถึง 50% และคงตามไม่ทันแน่”

ทั้งนี้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ ได้หารือกับสถานทูตทั้งเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งหอการค้าต่างประเทศ และบริษัทที่ลงทุนในต่างประเทศ ทั้งหมดได้สะท้อนความต้องการว่าอยากให้รัฐบาลช่วยปลดล็อกเรื่องวีซ่า ซึ่งขณะนี้ก็ได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว และจะมีผลในทางปฏิบัติประมาณ 2 เดือนจากนี้

 

โดยเฉพาะการจัดทำสิทธิประโยชน์ทางด้านวีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาว (LTR) สูงสุด 10 ปี เช่นเดียวกับการขยายเวลาการแจ้งที่พำนักอาศัยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อครบ 1 ปี จากเดิมทุก 90 วัน คาดว่าจะมีผลในทางปฏิบัติในอีก 2 เดือนข้างหน้า 

 

ส่วนเรื่องของที่ดิน เช่น การถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติ ในอัตราส่วนมากกว่า 49% หรือการให้สิทธิชาวต่างชาติในการถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ นั้น แม้ตอนนี้ยังติดเรื่องของกฎหมายอยู่ แก้ต้องใช้เวลาที่จะต้องทำให้สังคมเข้าใจก่อนว่าเกิดประโยชน์จริงกับประเทศ แต่ก็เป็นนิมิตรหมายอันดีที่ได้มีการหารือถึงแนวทางแก้ไขไปแล้ว ส่วนจะได้มากน้อยแค่ไหนก็คงต้องมีเวลาในการพิจารณา

เปิดปฏิบัติการดึงลงทุน 1 ล้านล้าน เดิมพันอนาคตรัฐบาลโค้งสุดท้าย

ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่า หากทำได้ตามแผนทั้งหมด ในช่วง 2 ปีนี้ น่าจะสามารถดึงดูดเงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ถือเป็นเงินลงทุนรอบใหม่ ที่จะเข้ามาปรับฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทยอย่างแท้จริง รวมทั้งประเทศไทยยังได้รับประโยชน์จากการมีองค์ความรู้เข้ามาในประเทศ ด้วย 


สำหรับแผนการดึงดูดอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตามแผนมีดังนี้ 

 

1.อุตสาหกรรมรถยนต์ EV ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้หารือกับผู้ประกอบการในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 15 รายเดิมที่อยู่ในไทยอยู่แล้ว ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังมีจากประเทศจีนเข้ามาเพิ่มอีก 3-4 ราย ก็ได้รับการตอบรับที่ดี และได้เตรียมออกมาตรการมาส่งเสริม คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะออกมารองรับทั้งการผลิตและความต้องการใช้ เพื่อให้ไทยกลายเป็น 1 ใน 10 ของฐานการผลิตรถยนต์ EV ของโลก ทั้งนี้หากเป็นไปตามเป้าหมายว่าค่ายรถต่าง ๆ ยืนยันจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป จะมีเงินลงทุนอย่างน้อย 3.6 – 4 แสนล้านบาท

 

2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีโอกาสในการลงทุน 10,000 – 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากความต้องการในอาเซียนที่เพิ่มขึ้น และนักลงทุนรายใหญ่ที่ขยายซัพพลายเชน ไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตต้นน้ำ (Wafer) ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสในการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

 

3.อุตสาหกรรมยา ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นอุตสาหกรรมยาของไทยควรดึงดูดเงินการลงทุนเพื่อนำมาใช้ในส่งเสริมปัจจัยการผลิตหรือการวิจัยและพัฒนา โดยหารือและจัดทำมาตรการดึงดูดบริษัทยาระดับโลกเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น 

 

4.อุตสาหกรรมดิจิทัล ประเทศไทยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคแก่บริษัทดิจิทัลต่าง ๆ โดยมีปัจจัยหลักในการดำเนินการ เช่น ปรับปรุงระเบียบข้อบังคับด้านข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเพิ่มแรงจูงใจทางภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะนี้ได้มีการหารือกับนักลงทุนระดับโลกอย่างต่อเนื่องแล้ว 

 

5.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยดึงรายได้เข้าประเทศได้ในหลักล้านล้านบาท มีเป้าหมายในการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูงหรือเป็นผู้มีทักษะสูง มาเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศไทย จำนวน 1 ล้านคน ใน 4 กลุ่มหลัก คือ 1.ผู้มีความมั่งคั่งสูง 2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ที่ตอนนี้มีจำนวนมากกว่าหลาย 100 ล้านคน 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อช่วยกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และสนับสนุนการดึงดูดบุคลากรศักยภาพสูงมาช่วยผลักดันนวัตกรรมในอุตสาหกรรม S-Curve อีกด้วย 

เปิดปฏิบัติการดึงลงทุน 1 ล้านล้าน เดิมพันอนาคตรัฐบาลโค้งสุดท้าย

“หากรักษาเฉพาะแค่ 3 อุตสาหกรรม คือ EV อิเล็กทรอนิกส์ และท่องเที่ยวสมัยใหม่ เอาไว้ได้ จะมีโอกาสที่จีดีพีเติบโตในอนาคต ถือเป็นการบ้านสำคัญที่ต้องผลักดันในอนาคต เพราะถ้าผลักดันไม่ได้ พอโควิดจบ แล้วประเทศไทยไม่สามารถดึงดูดใครเข้ามาได้เลย ก็คงทำให้คนเหล่านี้หนีไปประเทศอื่นหมด” 

 

ม.ล.ชโยทิต กล่าวอีกว่า สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว คือตอนนี้ทางทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ ได้ดึง ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้รับจ้างผลิตอุปกรณ์ไอโฟนรายใหญ่ของแอปเปิ้ล มาร่วมทุนกับ บมจ.ปตท. โดยในอนาคตหากทางฟ็อกซ์คอนน์ ได้ลงทุนตั้งบริษัทในไทย ก็คาดหวังว่าโรงงานแห่งนี้จะรองรับการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้กับรถยนต์อัจฉริยะของแอปเปิ้ลด้วย

 

รวมทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ขณะนี้บริษัท ฮิตาชิ ได้ร่วมธุรกิจกับ Archelik บริษัทแม่ของแบรนด์ Beko ที่ทำธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศตุรกี ซึ่งจะเตรียมเข้ามาตั้ง Headquarter และศูนย์ R&D ในประเทศไทย