มหากาพย์ หมูแพง-ไข่ไก่แพง-ราคาสินค้าพุ่ง เจอแล้วจุกทุกรัฐบาล

12 ม.ค. 2565 | 06:42 น.

เปิดมติครม. ย้อนตำนานมหากาพย์ การแก้ปัญหาราคาหมูแพง ไข่ไก่แพง ราคาสินค้าปรับเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ถึง ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาลไหนแก้ปัญหายังไงบ้าง 

ราคาหมูแพง ราคาไข่ไก่แพง ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น สวนทางกับ "ค่าแรง" ที่นิ่งสนิทไม่คิดจะปรับขึ้นบ้าง กลายเป็นเรื่องที่เจอกันเมื่อไรก็สะเทือนกระเป๋าตังค่าครองชีพมาทุกยุคทุกสมัย

ฐานเศรษฐกิจ รวบรวมข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) ย้อนรอยมหากาพย์ประเด็นปัญหา หมูราคาแพง ไข่ไก่ราคาแพง สินค้าปรับราคาขึ้น ในช่วงรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

มาดูสิว่ารัฐบาลไหนเจอปัญหาอย่างไร และมีมติครม.บางส่วนแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้างในยุคนั้นๆ

มหากาพย์ หมูแพง-ไข่ไก่แพง-ราคาสินค้าพุ่ง เจอแล้วจุกทุกรัฐบาล

นายทักษิณ ชินวัตร

 

มติครม. 11 พ.ค. 2547 : เรื่องปัญหาราคาเนื้อสุกร ไก่ และไข่ มีราคาสูงขึ้น 

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอเกี่ยวกับปัญหาราคาเนื้อสุกร ไก่ และไข่ มีราคาจำหน่ายสูงขึ้นมากอันเป็นผลจากปริมาณสัตว์ปีกลดจำนวนลงในช่วงที่เกิดโรคระบาดเชื้อไข้หวัดนกในหลายเดือนที่ผ่านมา และทำให้มีไก่และไข่ออกสู่ท้องตลาดน้อยลง  

นอกจากนี้ ราคาอาหารสัตว์กลับมีราคาสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ทั้งที่ปริมาณความต้องการอาหารสัตว์ในภาพรวมของประเทศลดลงจากเดิม จึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ควบคุมดูแลราคาอาหารสัตว์ให้เหมาะสม และเป็นไปตามหลักอุปสงค์  (demand)และอุปทาน (supply) เพื่อลดต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคให้ลดลง

และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในระบบปิด เพื่อให้ปริมาณเนื้อไก่และไข่ที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น  และช่วยให้ราคาเนื้อสุกรชำแหละปรับตัวลดลง  โดยการส่งเสริมดังกล่าวควรมุ่งให้เกิดดุลยภาพระหว่างการผลิตและความต้องการของผู้บริโภคด้วย

มติครม. 28 ก.ย. 2547 : ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ พ.ศ. .... และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี  คณะที่ 4.2(ฝ่ายการเกษตรฯ) ที่มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอร่างระเบียบสำนัก นายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ พ.ศ. ....

มีสาระสำคัญคือ ให้มีคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์แห่งชาติ   กำหนดหน้าที่ให้ผู้เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดมาตรฐานสินค้าและผลิตภัณฑ์  และจัดตั้งกองทุนพัฒนาสุกรขึ้นเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาสุกรทั้งระบบ  

และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ พ.ศ. ....

มีสาระสำคัญคือ ให้มีคณะกรรมการนโยบายไข่ไก่แห่งชาติ  กำหนดหน้าที่ให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดมาตรฐานสินค้าและผลิตภัณฑ์  และจัดตั้งกองทุนพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาการผลิต   การตลาด   และผลิตภัณฑ์ไก่ไข่ทั้งระบบและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา  โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรอง  ฯ  เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนในร่างระเบียบ  ฯ  

และการกำหนดให้เอกชนต้องดำเนินการตามที่ร่างระเบียบ  ฯ   กำหนดไว้   ไปประกอบการพิจารณา  แล้วดำเนินการต่อไปได้

และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการรับไปพิจารณาดำเนินการตามประเด็นอภิปราย ที่มอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับไปศึกษาว่าสมควรจะปรับปรุงระเบียบที่ได้กำหนดให้ตั้งกลไกระดับชาติในทำนองเดียวกับร่างระเบียบทั้งสองนี้    

ซึ่งรวมทั้งร่างระเบียบนี้ที่ประกาศใช้เป็นระเบียบต่อไปด้วย ก็ให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป   สำหรับการกำหนดให้มีส่วนราชการขึ้นใหม่  เช่น  ศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์สุกรแห่งชาติ  สถาบันวิจัยพัฒนาเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์  ควรตัดออก  และนำไปหารือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

 

มติครม. 22 มีนาคม 2548 : มาตรการดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เมื่อมีการปรับราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้น 

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับมาตรการดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเมื่อมีการปรับราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้น ประกอบด้วย มาตรการดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมาตรการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน/ผู้ประกอบการ   มาตรการตรวจสอบ   มาตรการทางกฎหมายและมาตรการช่วยบรรเทาค่าครองชีพ

โดยมาตรการตรวจสอบ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบราคาสินค้าและความเที่ยงตรงของเครื่องชั่งทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค   รวมทั้งจัดให้มีหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เร็ว(Mobile  Unit)  เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ได้มีการร้องเรียนผ่าน  Hotline  แม่บ้าน 1569  ทั่วประเทศสำหรับมาตรการทางกฎหมาย  ได้แก่  รณรงค์ปิดป้ายแสดงราคา   และขยายเวลาการเพิ่มโทษปรับกรณีไปปิดป้ายแสดงราคา และมาตรการช่วยบรรเทาค่าครองชีพ โดยจำหน่ายสินค้าในราคา/ปริมาณที่เป็นธรรมเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค โดยให้จังหวัดจัดหาสถานที่จำหน่าย  

และขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่จำหน่ายอาหารสำเร็จรูปใน  Food  Court  ในราคาเดิม    และจัดให้มีมุมธงฟ้าราคาประหยัดในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ในบางพื้นที่  โดยจะพิจารณารายการสินค้าที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามสถานการณ์ เช่น เนื้อสุกร ไก่ ไข่ และสินค้าอุปโภคบริโภค

 

มติครม. 5 เม.ย. 2548 : สถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลังการปรับราคาน้ำมันดีเซล 

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลังการปรับราคาน้ำมันดีเซล สรุปได้ว่า สินค้าส่วนใหญ่ยังคงจำหน่ายในราคาเดิมมีเพียงสินค้าบางรายการที่มีราคาเคลื่อนไหวสูงขึ้น โดยมีสาเหตุจากปัจจัยผลกระทบจากราคาวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้น  

ได้แก่  ผงฟักฟอก(ซักมือ)  ราคาสูงขึ้นจากถุงละ 35.50-36.00 บาท  เป็น 35.50-38.25 บาท  เหล็กเส้นชนิดเส้นกลม  SR 24(น้ำหนัก 4.99 กก./เส้น) ราคาสูงขึ้นจากเส้นละ 107-120 บาท  เป็น 107-123 บาท  ถุงพลาสติก ชนิดร้อนราคาสูงขึ้นจาก กก.ละ 61-74 บาท เป็น 65-74 บาท  และชนิดเย็น ราคาสูงขึ้นจาก กก.ละ 65-76 บาท เป็น75-76 บาท

และผลกระทบจากสภาพอากาศและตามฤดูกาล  ได้แก่  สุกรชำแหละ ราคาสูงขึ้นจาก กก.ละ 85-95 บาท เป็น กก.ละ 90-95 บาท ไข่ไก่ (เบอร์ 3) ราคาสูงขึ้นฟองละ 2.60-2.70 บาท  เป็น 2.70-2.80 บาท และมะนาว  ราคาสูงขึ้นจากผลละ 2.50-3.00 บาท  เป็น 3.00-3.50 บาท  สำหรับสินค้าอื่น  ๆ  มีการเปลี่ยนแปลงราคาขึ้นลงในช่วงสั้น ๆ ตามปริมาณสินค้าที่เข้าสู่ตลาดและการส่งเสริมการขาย เช่น ผักสด  ผลิตภัณฑ์นมกาแฟผงสำเร็จรูป น้ำมันพืช น้ำปลา น้ำซีอิ๊ว สบู่ น้ำยาล้างห้องน้ำ แชมพู  และผ้าอนามัย  

และจากผลการตรวจสอบพฤติกรรมผู้ประกอบการพบการกระทำผิดปฏิเสธการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน  1  ราย  ไม่ปิดป้ายแสดงราคา จำนวน  1  ราย  และจำหน่ายก๊าซหุงต้มมีการบรรจุผลิตภัณฑ์ต่ำกว่าที่แสดง จำนวน  1  ราย  ซึ่งได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ส่วนการตรวจสอบข้อร้องเรียนพฤติกรรมสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง  ช่วงวันที่  22-23  มีนาคม  2548  พบพฤติกรรมการจำหน่ายของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงกรณีการปฏิเสธการจำหน่าย กักตุนสินค้า  และขึ้นราคาก่อนกำหนด  พบการกระทำผิดและได้แจ้งความดำเนินคดีในข้อหากักตุนสินค้า จำนวน 4 ราย โดยมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มติครม. 14 มีนาคม 2549 : การกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีมติกำหนดให้สินค้า  17  รายการ เป็นสินค้าควบคุมต่อไป ได้แก่ (1) กระดาษทำลูกฟูก (2) กระดาษพิมพ์และเขียน (3) กระดาษเหนียว (KRAFT PAPER) (4) ครีมเทียมข้นหวาน นมข้น นมคืนรูป นมแปลงไขมัน  (5) แชมพู  (6) น้ำยาซักฟอก  (7) ปูนซีเมนต์  (8) ผงซักฟอก  (9) ผลิตภัณฑ์ล้างจาน(10) ผ้าอนามัย (11) เม็ดพลาสติก  (12) ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์  (13) เยื่อกระดาษ  (14) สบู่(15) สายไฟฟ้า (16) สุกร เนื้อสุกร และ (17) อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท รวมทั้งยกเลิกการกำหนดสินค้าควบคุม 2 รายการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ  และเนื้อไก่  เนื้อไก่ชำแหละ และให้ดำเนินการต่อไปได้

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ 

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ 

 

มติครม. 15 มกราคม 2551 : การกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอการกำหนดสินค้าจำนวน 34 รายการ ได้แก่ (1)กระดาษทำลูกฟูก (2) กระดาษพิมพ์และเขียน (3) กระดาษเหนียว  (กระดาษคร๊าฟ) (4) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (5)ข้าวเปลือก ข้าวสาร (6) ครีมเทียมข้นหวาน  นมข้น  นมคืนรูป  นมแปลงไขมัน (7) เครื่องแบบนักเรียน (8) แชมพู(9) นมผง นมสด (10) น้ำตาลทราย (11) น้ำมันเชื้อเพลิง (12) น้ำมัน และไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้ (13) น้ำยาซักฟอก (14) ปุ๋ย  (15) ปูนซีเมนต์  (16) ผงซักฟอก  (17) ผลิตภัณฑ์ล้างจ้าง  (18) ผ้าอนามัย (19) เม็ดพลาสติก  (20) ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์  (21) ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช (22) ยารักษาโรค (23) เยื่อกระดาษ (24) รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก (25) สบู่ (26) สายไฟฟ้า (27) สุกร  เนื้อสุกร  (28) หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์  (29) เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น  (30)อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  (31) อัญมณี  (32) นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม   โยเกิร์ต  (33) แบตเตอรี่รถยนต์   และ(34) อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป)

และบริการจำนวน 1 รายการ  ได้แก่  การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า  รวม  35  รายการ   ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เป็นสินค้าและบริการควบคุมในปี พ.ศ. 2551

 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 

 

มติครม. 3 กุมภาพันธุ์ 2552 : การกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอการกำหนดสินค้า จำนวน  38  รายการ  และบริการ จำนวน 1 รายการ รวม 39 รายการ เป็นสินค้าและบริการควบคุมในปี พ.ศ. 2552  ตามมติคณะกรรมการ
กลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2552 ดังนี้ 1. สินค้าควบคุมจำนวน 38 รายการ

ประกอบด้วย หมวดอาหารสด  จำนวน  2  รายการ  ได้แก่  สุกร เนื้อสุกร และกระเทียม หมวดอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 10 รายการ ได้แก่  กาแฟผงสำเร็จรูป  ข้าวเปลือก  ข้าวสาร ครีมเทียมข้นหวาน นมข้น นมคืนรูป นมแปลงไขมัน นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม โยเกิร์ต  นมผง  นมสด  น้ำตาลทรายน้ำมันและไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้  แป้งสาลี  อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก  

และอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท หมวดของใช้ประจำวัน จำนวน 6 รายการ ได้แก่ แชมพู น้ำยาซักฟอก  ผงซักฟอกผลิตภัณฑ์ล้างจาน ผ้าอนามัย และสบู่  หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์  จำนวน 4 รายการ  ได้แก่  กระดาษทำลูกฟูก กระดาษพิมพ์และเขียน กระดาษเหนียว (กระดาษคร๊าฟ) และเยื่อกระดาษ หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง จำนวน 3 รายการ แบตเตอรี่รถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก  

หมวดวัสดุก่อสร้าง จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ สายไฟฟ้า  และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ  เหล็กแผ่น  เหล็กเส้น  หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จำนวน 3 รายการ  ได้แก่  ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเชื้อเพลิง  และเม็ดพลาสติก  หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์  จำนวน 1 รายการ  ได้แก่  ยารักษาโรค  

หมวดปัจจัยทางการเกษตร  จำนวน  5  รายการ ได้แก่ ปุ๋ย ข้าวโพด มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช และหัวอาหารสัตว์ อาหาร สัตว์ และหมวดทั่วไป จำนวน 1 รายการ ได้แก่ เครื่องแบบนักเรียน 2. บริการควบคุม จำนวน 1 รายการ ได้แก่ การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า

 

มติครม. 30 มิถุนายน 2552 : ของงบกลางเพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของโรคไข้หวัดในสุกร

1. เห็นชอบโครงการติดตามเฝ้าระวังโรคไข้หวัดสุกรในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์โรคไข้หวัดสุกร  ระยะเวลาดำเนินการ  ระหว่างวันที่ 27 เมษายน-30 พฤษภาคม 2552 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) ประธานกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่เสนอ

2. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ. 2552  งบกลาง  รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้ดำเนินงานโครงการดังกล่าวในวงเงิน 15,327,000 บาท โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมปศุสัตว์) ขอตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณก่อนดำเนินการต่อไป

 

มิติครม. 24 มกราคม 2554 : การกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 (จำนวน 39 รายการ)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการกำหนดสินค้า จำนวน 39 รายการ และบริการ จำนวน 2 รายการ รวม 41 รายการ เป็นสินค้าและบริการควบคุมในปี พ.ศ. 2554 ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

1.สินค้าควบคุม จำนวน 39 รายการ ประกอบด้วย

  • หมวดอาหารสด จำนวน 3 รายการ ได้แก่ สุกร เนื้อสุกร กระเทียม และไข่ไก่
  • หมวดอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 10 รายการ ได้แก่ กาแฟผงสำเร็จรูป ข้าวเปลือก ข้าวสาร ครีมเทียมข้นหวาน นมข้น นมคืนรูป นมแปลงไขมัน นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม โยเกิร์ต นมผง นมสด น้ำตาลทราย น้ำมันและไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้ แป้งสาลี อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก และอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
  • หมวดของใช้ประจำวัน จำนวน 6 รายการ ได้แก่ แชมพู น้ำยาซักฟอก ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ล้างจาน ผ้าอนามัย และสบู่
  • หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ จำนวน 4 รายการ ได้แก่ กระดาษทำลูกฟูก กระดาษพิมพ์และเขียน กระดาษเหนียว (KRAFT PAPER) และเยื่อกระดาษ
  • หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง จำนวน 3รายการ ได้แก่ แบตเตอรี่รถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก
  • หมวดวัสดุก่อสร้าง จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ สายไฟฟ้า และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น
  • หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเชื้อเพลิง และเม็ดพลาสติก
  • หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ จำนวน 1 รายการ ได้แก่ ยารักษาโรค
  • หมวดปัจจัยทางการเกษตร จำนวน 5 รายการ ได้แก่ ปุ๋ย ข้าวโพด มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช และหัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์
  • หมวดทั่วไป จำนวน 1 รายการ ได้แก่ เครื่องแบบนักเรียน

 2. บริการควบคุม จำนวน 2 รายการ ได้แก่ การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า และบริการรับฝากสินค้าหรือบริการให้เช่าสถานที่เก็บสินค้า

 

มติครม. 22 มีนาคม 2554 : รายงานสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์รายงานสถานการณ์และการดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ ดังนี้

1. การผลิต ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ได้สรุปสถานการณ์การผลิตปัจจุบัน มีแม่ไก่ไข่ยืนกรง จำนวน 38-39 ล้านตัว ปัญหาโรคระบาดที่เกิดขึ้นในระบบการเลี้ยงไก่ไข่ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 เป็นต้นมา ทำให้อัตราการให้ไข่โดยรวมลดลงร้อยละ 20 ส่งผลให้ผลผลิตไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดลดลงจากวันละ 30-31 ล้านฟอง เหลือวันละ 24-25 ล้านฟอง

2.การตลาด ปริมาณไข่ไก่ที่เข้าสู่ระบบตลาดมีจำนวนลดลง ผู้ประกอบการค้าส่งไข่ไก่ได้รับไข่ไก่ลดลงกว่าปกติ ปริมาณที่ขาดไปเฉลี่ยตั้งแต่ร้อยละ 10 - 30 สำหรับด้านการส่งออกไข่ไก่ ในเดือนมกราคม 2554 มีการส่งออกไข่ไก่ จำนวน 7 ล้านฟอง ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 75 (มกราคม 2553 ส่งออกไข่ไก่ จำนวน 28 ล้านฟอง) โดยมีสาเหตุมาจากปริมาณไข่ไก่ที่ลดลง ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และข้อเสียเปรียบประเทศคู่แข่งในด้านราคา

3. การดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ มีดังนี้

  • กำกับดูแลราคาขายส่งขายปลีก และการเปิดป้ายแสดงราคาขายปลีก โดยติดตามตรวจสอบภาวะการค้า และขอความร่วมมือผู้ค้ากำหนดราคาขายส่งขายปลีกให้สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์อุปทานและต้นทุนที่แท้จริง รวมทั้งเผยแพร่ราคาขายปลีกไข่ไก่แนะนำเพื่อเป็นข้อมูลด้านการตลาดให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคทราบ โดยราคาขายปลีกแนะนำสำหรับไข่ไก่ เบอร์ 2 อยู่ที่ฟองละ 3.50 บาท และเบอร์3 อยู่ที่ฟองละ 3.40 บาท และได้ประสานเชื่อมโยงผู้เลี้ยงไก่ไข่นำไข่ไก่ไปจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ภายในงานธงฟ้าที่จัดขึ้นทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ
  • กำกับดูแล รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการอาหารสัตว์ให้จำหน่ายอาหารสัตว์ในราคาที่สอดคล้องกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์
  • การติดตามพฤติกรรมทางการค้า ภายใต้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 และการติดตามกำกับดูแลด้านราคา ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกำหนดราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 รวมทั้งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการประชาวิวัฒน์ ด้านการลดค่าครองชีพสินค้า สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ของรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 โดยการกำหนดให้ไข่ไก่เป็นสินค้าควบคุม การกำหนดมาตรการให้ผู้ครอบครองข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีปริมาณตั้งแต่ 50 ตันขึ้นไปต้องแจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้า และการจัดจำหน่ายไข่ไก่เป็นกิโลกรัม


มติครม. 28 มิถุนายน 2554 : ข้อมูลเตือนภัยสินค้าเกษตรประจำเดือน มิถุนายน 2554

  1. รับทราบข้อมูลเตือนภัยสินค้าเกษตรประจำเดือนมิถุนายน 2554 โดยมีสินค้าที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องดูแลและติดตามใกล้ชิด (monitor list) 11 สินค้า ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ไข่ไก่ สุกร ไก่เนื้อ มันสำปะหลัง สับปะรด และผลไม้ (ภาคตะวันออก : เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง) สินค้าที่ต้องมีการเฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์เพื่อการเตือนภัย (caution list) 4 สินค้า ได้แก่ กุ้งขาวแวนนาไม มะนาว ลิ้นจี่ และปลาป่น ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
  2. คณะรัฐมนตรีเห็นว่า ในส่วนของราคาเนื้อสุกรที่จำหน่ายจริงในท้องตลาด ปัจจุบันยังคงมีราคาค่อนข้างสูงกว่าราคาตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง ราคาสุกร เนื้อสุกรแนะนำปี พ.ศ. 2554 ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค ดังนั้น จึงขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อควบคุมราคาเนื้อสุกรให้เหมาะสม สอดคล้องกับราคาต้นทุนที่แท้จริงโดยด่วน

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

มติครม. 24 มกราคม 2555 : การกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542

1. เห็นชอบการกำหนดสินค้า จำนวน 39 รายการ และบริการ จำนวน 3 รายการ รวม 42 รายการ ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2555 เป็นสินค้าและบริการควบคุมในปี พ.ศ. 2555 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

  • หมวดอาหาร จำนวน 13 รายการ คือ กระเทียม, ข้าวเปลือก ข้าวสาร, ข้าวโพด, มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์, ไข่ไก่, สุกร เนื้อสุกร, น้ำตาลทราย, น้ำมันและไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้, ครีมเทียมข้นหวาน นมข้น นมคืนรูป นมแปลง ไขมัน, นมผง นมสด, แป้งสาลี, อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท, อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก
  • หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน จำนวน 3 รายการ คือ ผงซักฟอก, ผ้าอนามัย, กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า
  • หมวดปัจจัยทางการเกษตร จำนวน 9 รายการ คือ ปุ๋ย, ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช, หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์, เครื่องสูบน้ำ, รถไถนา, รถเกี่ยวข้าว, เครื่องวัดความชื้นข้าว, เครื่องตรวจสอบคุณภาพข้าว, เครื่องชั่งวัดอัตราส่วนร้อยละของแป้งในหัวมัน
  • หมวดวัสดุก่อสร้างจำนวน 3 รายการ คือ ปูนซีเมนต์, เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น, สายไฟฟ้า
  • หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ จำนวน 3 รายการ คือ กระดาษทำลูกฟูก กระดาษเหนียว, กระดาษพิมพ์และเขียน, เยื่อกระดาษ
  • หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง จำนวน ๓ รายการ คือ แบตเตอรี่รถยนต์, ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์, รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก
  • หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จำนวน 3 รายการ คือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว, น้ำมันเชื้อเพลิง, เม็ดพลาสติก
  • หมวดยารักษาโรค จำนวน 1 รายการ คือ ยารักษาโรค
  • หมวดอื่น ๆ จำนวน 1 รายการ คือ เครื่องแบบนักเรียน
  • หมวดบริการ จำนวน 3 รายการ ได้แก่ การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า, บริการรับฝากสินค้าหรือบริการให้เช่าสถานที่เก็บสินค้า, บริการทางการเกษตร (ค่าจ้างเก็บเกี่ยวข้าวและผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ ค่าจ้างนวดข้าว ค่าจ้างสีข้าว เป็นต้น)

2. ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตรวจสอบ กำกับ และติดตามราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในท้องตลาดให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการฯ อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องด้วย

 

มติครม. 8 พฤษภาคม 2555 : การแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอว่า ตามที่ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีบางท่านลงพื้นที่สำรวจราคาสินค้าตามตลาดต่าง ๆ รอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้รับรายงานโดยสรุปพบว่าในภาพรวมราคาสินค้ามีทั้งที่มีราคาสูงขึ้นและมีราคาลดลงตามสถานการณ์และฤดูกาล สินค้าที่มีราคาสูงขึ้นส่วนใหญ่

ได้แก่ อาหารปรุงสำเร็จและพืชผัก เช่น มะนาว คะน้า เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีราคาลดลง เช่น เนื้อสุกร เนื้อไก่ กุ้ง ปลาหมึก และไข่ไก่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสินค้าบางชนิดที่มีการปรับราคาสูงขึ้นตั้งแต่ในช่วงที่เกิดเหตุอุทกภัยที่ผ่านมาแล้ว และยังไม่มีการปรับลดลงแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1. ให้กระทรวงพาณิชย์รับไปดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น เพื่อจัดทำตารางเปรียบเทียบราคาสินค้าแต่ละประเภทตามช่วงฤดูกาล และวางแผนการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรในฤดูกาลต่าง ๆ เอาไว้ล่วงหน้าให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งการดำเนินการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียและล้นตลาดด้วย

2. ให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น ติดตามดูแลและควบคุมราคาสินค้าแต่ละรายการในความรับผิดชอบให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

3.ให้รัฐมนตรีที่ยังไม่ได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่สำรวจราคาสินค้าตามตลาดต่าง ๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ลงพื้นที่สำรวจราคาสินค้าตามตลาดในสัปดาห์นี้ด้วย โดยให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำตารางกำหนดการลงพื้นที่ดังกล่าว และแจ้งให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป

4. ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินโครงการจัดจำหน่ายสินค้าราคาถูกเพื่อเป็นทางเลือกและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยขอความร่วมมือในการดำเนินโครงการในด้านสินค้าและสถานที่จัดงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ต่อไปด้วย

 

มติครม. 12 กุมภาพันธุ์ 2556 : รายงานผลการดำเนินการ "โครงการธงฟ้าเคลื่อนที่เพื่อประชาชน" (Mobile Unit)

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการ “โครงการธงฟ้าเคลื่อนที่เพื่อประชาชน” (Mobile Unite) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 11-17 มกราคม 2556 กรมการค้าภายในได้จัดรถเคลื่อนที่เพื่อนำสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพไปจำหน่ายในชุมชนที่มีรายได้น้อยและลูกจ้างในสถานประกอบการต่างๆ ไม่ต่ำกว่าวันละ 10 จุด ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร (50 เขต) ปริมณฑล (จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม) รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง ในราคาต่ำกว่าท้องตลาดร้อยละ 20-40 จำนวน 7 ชนิด

ได้แก่ น้ำมันพืช น้ำตาลทราย ข้าวสาร ไข่ไก่ เนื้อสุกรชำแหละ เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน น้ำยาล้างจาน ฯลฯ

มียอดจากการจำหน่ายสินค้ารวมทั้งสิ้น 4,080,020 บาท ประชาชนให้การตอบรับโครงการธงฟ้าเคลื่อนที่เพื่อประชาชน (Mobile Unit) และให้ความสนใจซื้อสินค้าประมาณ 11,475 คน

สินค้าที่ขายดี ได้แก่ น้ำมันพืช น้ำตาลทราย และสินค้าอุปโภคบริโภค สามารถลดภาระค่าครองชีพประชาชน ประมาณ 1,748,580 บาท

 

มติครม. 6 สิงหาคม 2556 : สถานการณ์สินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ (ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2556)

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสถานการณ์สินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ (ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2556) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ สรุปได้ ดังนี้

1. ราคาขายปลีกขายส่งสินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคบริโภค เทียบกับสัปดาห์ก่อน (1 สิงหาคม 2556) 

  • สินค้าอาหารสด หมวดโปรตีน สุกร ราคาเนื้อแดง-สะโพก 130-135 บาท/กก. สูงขึ้นร้อยละ 2.71 ไก่ ราคาไก่สดทั้งตัว (รวมเครื่องใน) 70-75 บาท/กก. ราคาทรงตัว และไข่ไก่ ราคาฟองละ 3.35-3.45 บาทสูง ขึ้นร้อยละ 3.03
  • หมวดผัก คะน้า ราคา 15-18 บาท/กก. ลดลงร้อยละ 21.43 กะหล่ำปลี และถั่วฝักยาว ราคาทรงตัว อยู่ที่ กก.ละ 18-20 บาท และ 22-25 บาท/กก. สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาทรงตัว

2. ราคาขายปลีกขายส่งสินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคบริโภค เทียบกับสัปดาห์นี้ปีก่อน (1 สิงหาคม 2555) สินค้าอาหารสด คะน้า ราคาลดลงร้อยละ 13.16 กะหล่ำปลี ราคาทรงตัว ในขณะที่สุกร ไก่ไข่ ถั่วฝักยาว ราคาสูงขึ้นร้อยละ 4.44-26.19 สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมันพืชราคาลดลง

 

มติครม. 28 เมษายน 2557 : รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศและรายงานการวิเคราะห์ภาวะราคาสินค้าและเศรษฐกิจของไทยเดือนมกราคม 2557

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ และรายงานการวิเคราะห์ภาวะราคาสินค้าและเศรษฐกิจของไทยเดือนมกราคม 2557 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ สรุปได้ ดังนี้

1.ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมกราคม 2557 เท่ากับ 106.46 เทียบกับเดือนธันวาคม 2556 (เท่ากับ 106.01) สูงขึ้นร้อยละ 0.42 (เดือนธันวาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 014

จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.67 (เดือนธันวาคม 2556 ไม่เปลี่ยนแปลง)

สินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร ไก่สด เนื้อโค ไข่ไก่ นมสด กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว อาหารเช้า อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) อาหารเย็น (อาหารตามสั่ง)

และดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.30 (เดือนธันวาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.22) สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ผ้าอนามัย แชมพูสระผม น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก น้ำมันเชื้อเพลิง บุหรี่ เบียร์ สุรา

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมกราคม 2556 เท่ากับ 103.86 เทียบกับเดือนธันวาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.21

2. ภาพรวมเศรษฐกิจเดือนมกราคม 2557 ชะลอตัวลงตามภาวะการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการใช้จ่ายภาคเอกชน เนื่องจากภาคธุรกิจและครัวเรือนยังกังวลต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน และอาเซียน ปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้การส่งออกสินค้าฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลงในทิศทางเดียวกับภูมิภาค และมีภาวะเงินไหลออก ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคม 2557 อยู่ที่ร้อยละ 1.93 (เดือนธันวาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 1.67) ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.04

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
 

มติครม. 18 พฤศจิกายน 2557 : ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้โรคที่ติดต่อในสัตว์ รวม ๗ ชนิด ได้แก่ โรค Peste des Petits Ruminants (PPR), โรค Contagious Bovine Pleuropneumonia (CBPP), โรคบลูทัง Bluetongue, โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร Porcine Epidemic Diarrhea (PED), โรค African Swine Fever (ASF), โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา Ebola Virus Disease และโรคตับวายเฉียบพลันในกุ้ง Acute Hepatopancreatic Necrosis Disease (AHPND) เป็นโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

 

มติครม. 20 มกราคม 2558 : การกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542

1.เห็นชอบการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมปี 2558 จำนวน 43 รายการ ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

  • หมวดอาหาร จำนวน 14 รายการ คือ กระเทียม ข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวโพด มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ไข่ไก่ สุกร เนื้อสุกร น้ำตาลทราย น้ำมันและไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้ ครีมเทียมข้นหวาน นมข้น นมคืนรูป นมแปลงไขมัน นมผง นมสด แป้งสาลี อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก และผลปาล์มน้ำมัน
  • หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน จำนวน 5 รายการ คือ ผงซักฟอก ผ้าอนามัย กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า แชมพู และสบู่
  • หมวดปัจจัยทางการเกษตร จำนวน 6 รายการ คือ ปุ๋ย ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ เครื่องสูบน้ำ รถไถนา และรถเกี่ยวข้าว
  • หมวดวัสดุก่อสร้าง จำนวน 3 รายการ คือ ปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น สายไฟฟ้า และท่อพีวีซี
  • หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ จำนวน 3 รายการ คือ กระดาษทำลูกฟูก กระดาษเหนียว กระดาษพิมพ์และเขียน และเยื่อกระดาษ
  • หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง จำนวน 3 รายการ คือ แบตเตอรี่รถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่ง และรถยนต์บรรทุก
  • หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จำนวน 3 รายการคือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเชื้อเพลิง และเม็ดพลาสติก
  • หมวดยารักษาโรค จำนวน 1 รายการ คือ ยารักษาโรค
  • หมวดอื่น ๆ จำนวน 1 รายการ คือ เครื่องแบบนักเรียน
  • หมวดบริการ จำนวน 3 รายการ คือ การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า บริการรับฝากสินค้าหรือบริการให้เช่าสถานที่เก็บสินค้า และบริการทางการเกษตร

2. ยกเว้นการเพิ่มรายการสินค้าควบคุมใหม่ 2 รายการ คือ แชมพูและสบู่ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีการผลิตจำนวนมากจากคู่แข่งหลายรายทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด ซึ่งสามารถใช้กลไกตลาดในการควบคุมระดับราคาได้

 

มติครม. 20 กุมภาพันธุ์ 2561 : สรุปภาพรวมดัชนีราคาปี 2560 และแนวโน้มปี 2561 

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปภาพรวมดัชนีราคาปี 2560 และแนวโน้มปี 2561 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ สรุปได้ ดังนี้

1.ดัชนีราคาสำคัญ ปี 2560 ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) สูงขึ้นร้อยละ 0.66 ดัชนีราคาผู้ผลิต สูงขึ้นร้อยละ 0.7 และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้นร้อยละ 1.9

ภาวะเศรษฐกิจจากดัชนีราคา ปี 2560 ราคาสินค้าอุปโภคโดยเฉลี่ยสูงขึ้นจากปี 2559 เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง และราคาเกี่ยวกับการตรวจรักษา การศึกษา และยานพาหนะ ราคาอาหารสดผันผวนตลอดปี โดยเฉพาะช่วงก่อนและหลังอุทกภัย โดยเฉลี่ยราคาลดลงทั่วประเทศ เนื่องจากอุปทานที่ออกมาจำนวนมาก

สะท้อนจากราคาที่ผู้ผลิตขายหน้าฟาร์มลดลง เช่น ปาล์ม ผัก ไก่ และสุกร ราคาอาหารสำเร็จรูป อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้านสูงขึ้น โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร และเมืองท่องเที่ยว เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และราคาส่วนประกอบและเครื่องปรุงอาหารที่สูงขึ้น

3. ดัชนีราคาระดับภูมิภาค และรายจังหวัด เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2560 พบว่าภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ราคาสินค้าทุกประเภทเพิ่มสูงขึ้นมากว่าภาคอื่น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากอยู่ในภูมิภาคที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ตามด้วยภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคอื่น ๆ ในขณะที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีราคาอาหารสดที่ลดลงมากกว่าภาคอื่น ๆ เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ

4. สัดส่วนการใช้จ่ายของประชาชน ปี 2560 พบว่าค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยทั้งประเทศ คิดเป็น 20,347 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่มีรายได้น้อย คิดเป็น 11,507 บาทต่อเดือน และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในชนบท คิดเป็น 14,936 บาทต่อเดือน

5. แนวโน้มเงินเฟ้อ ปี 2561 กระทรวงพาณิชย์ประมาณการไว้ที่ร้อยละ 0.7-1.7 ต่อปี ภายใต้สมมุติฐาน GDP ของไทยขยายตัวร้อยละ 3.6-4.6 ราคาน้ำมันดิบดูไบ 55-65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

รวมทั้งได้ปรับตามค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีผลในวันที่ 1 เมษายน 2561 ที่เพิ่มขึ้น 10.5 บาททั่วประเทศ ซึ่งส่งผลทำให้ต้นทุนราคาสินค้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.5

อย่างไรก็ตาม สมมุติฐานดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสแรก

6. จากดัชนีราคาสำคัญในปี 2560 มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านต่าง ๆ ทั้งการดูแลราคาสินค้าและการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการประชารัฐ รวมถึงการส่งเสริมสินค้าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคของร้านค้าธงฟ้าประชารัฐเป็นการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้อีกทางหนึ่ง

และสามารถขยายการดำเนินการ โดยเพิ่มประเภทสินค้าที่เกี่ยวกับอาหารและเร่งกระจายร้านค้าธงฟ้าประชารัฐเคลื่อนที่ (Mobile unit) สำหรับประชาชนทั่วไป อาจต้องหามาตรการลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทาง ค่าพาหนะ และเคหสถานต่อไปในอนาคต

นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งเท่านั้นจากมติครม.ในการเจอปัญหา แก้ปัญหา หมูแพง ไข่ไก่แพง สินค้าราคาปรับตัวในแต่ละยุคแต่ละรัฐบาล ที่เรียกได้ว่า เจอปัญหานี้ทีไรเรตติ้งตก เจอแล้ว "จุก"  ได้ทุกรัฐบาลนะเออ

 

ที่มา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี