อาจารย์ มธ. ชี้ ‘หมูแพง’ สะท้อนประสิทธิภาพ ‘กรมปศุสัตว์’

10 ม.ค. 2565 | 02:30 น.

นักเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เสนอรัฐอุดหนุนราคาเนื้อหมู จี้ ‘กรมปศุสัตว์’ รับผิดชอบ-วางมาตรการรับมือโรคระบาดในอนาคต พร้อมตั้งคำถามมีการ “ปิดข่าว” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้อุตสาหกรรมส่งออกอาหารหรือไม่ 

อาจารย์วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงปรากฏการณ์ราคาเนื้อหมูแพงในขณะนี้ว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาเนื้อหมูแพงขึ้นเป็นเพราะเกิดโรคระบาดในหมูจนทำให้หมูล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา นั่นคือโรคระบาดที่เกิดขึ้นในวัว ที่ชื่อว่า “โรคลัมปี สกิน” หรือ LSD ซึ่งโรคดังกล่าวไม่ใช่โรคประจำถิ่น ประเทศไทยจึงไม่มียารักษาในขณะนั้น
 

“ในขณะนั้นมีความพยายามที่จะนำยาเข้ามา แต่ก็ถูกรัฐปรามว่ายาดังกล่าวต้องผ่านการรับรอง ซึ่งรัฐจะเป็นผู้จัดหาให้ สุดท้ายก็ทอดเวลายาวนานออกไปจนกระทั่งบริษัทยาเอกชนได้รับการอนุมัติให้นำยาเข้ามาขาย โรค LSD จึงสิ้นสุด ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์ในหมูก็คล้ายคลึงกัน” อาจารย์วีระวัฒน์ กล่าว

อาจารย์วีระวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า การเกิดโรคระบาดในหมูจึงสะท้อนถึงประสิทธิภาพและการวางมาตรการรองรับที่อาจไม่ดีพอของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักในการควบคุมดูแลในเรื่องนี้ ฉะนั้นความตระหนักถึงปัญหาและการเตรียมความพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ


อาจารย์วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร


“เราคงไม่ทราบว่าเหตุการณ์นี้มีเบื้องลึกเบื้องหลังหรือมีอะไรที่ซ่อนเร้นอยู่หรือไม่ เราคงไม่สามารถไปกล่าวโทษใครได้ แต่สิ่งที่สะท้อนคือประสิทธิภาพในการป้องกันและการมีมาตรการรองรับเมื่อเกิดเหตุ ที่ต้องมีมากกว่านี้” อาจารย์วีระวัฒน์ กล่าว
 

อาจารย์วีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า เราทราบข่าวเรื่องโรคระบาดภายหลังที่ผลกระทบเกิดขึ้นเป็นห่วงโซ่ไปแล้ว เราพบว่ามีผู้เลี้ยงสุกรจำนวนหนึ่งที่หยุดประกอบการไปแล้ว เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นจนแบกรับไม่ไหวทั้งจากอาหารสัตว์ที่ราคาแพงและการเกิดโรคระบาด ขณะที่ผู้บริโภคปลายทางก็เผชิญกับราคาเนื้อหมูที่แพงขึ้นแล้ว 
 

ฉะนั้นมาตรการของรัฐบาล อาทิ สั่งห้ามส่งออกเนื้อหมู หรือการตั้งจุดจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูก อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในขณะนี้ แต่หากต้องการทำให้ดีกว่า รัฐจำเป็นต้องอุดหนุนราคาด้วย ซึ่งก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าจะอุดหนุนไปที่ไหน ระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู พ่อค้าคนกลาง เขียงหมู หรือทั้งหมด

อาจารย์วีระวัฒน์ กล่าวว่า ณ จุดนี้ คงเป็นเรื่องยากที่จะกลับไปแก้ที่โครงสร้างหรือกลับไปที่การป้องกันตั้งแต่แรก ที่สำคัญคือเราไม่สามารถไปกล่าวหาใครได้ว่าเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการห้ามส่งออก หรือการปล่อยให้เกิดโรคระบาดในหมูหรือไม่ อย่างไรก็ตามหมูเป็นสัตว์ที่ใช้เวลาเลี้ยงไม่นานก็สามารถจำหน่ายได้ คาดการณ์กันว่าประมาณ6 เดือน สถานการณ์จะคลี่คลายลง ฉะนั้นประเด็นจึงอยู่ที่ว่า หลังจากนี้กรมปศุสัตว์จะเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตอย่างไร เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงของกรมปศุสัตว์ที่จะทำงานเชิงรุกเพื่อติดตามสถานการณ์ คาดการณ์ และเฝ้าระวังเหตุการณ์อย่างสม่ำเสมอ
 

“เมื่อปีที่ผ่านมาผู้บริหารของกรมปศุสัตว์ได้ให้สัมภาษณ์ว่าประเทศไทยไม่มีโรคอหิวาต์ในหมูอย่างแน่นอน แต่ผลการตรวจสอบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กลับพบโรคระบาดในปี 2564 ซึ่งก็คือปีที่แล้ว คำถามคือมีการปิดข่าวหรือไม่ เนื่องจากการส่งออกเนื้อสัตว์หรือการส่งออกอาหาร เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่มีความสำคัญของประเทศ หากเกิดโรคระบาดในประเทศย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค”อาจารย์วีระวัฒน์ กล่าว
 

อาจารย์วีระวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ในฐานะผู้บริโภคที่เป็นประชาชนทั่วไป ควรได้รับคำอธิบายถึงสาเหตุที่ราคาเนื้อหมูแพงขึ้นอย่างทันทีทันใด และที่สำคัญคือหากสาเหตุเกิดจากโรคระบาดตามที่สื่อมวลชนรายงาน ความรับผิดชอบโดยตรงก็จะต้องตกอยู่ที่กรมปศุสัตว์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง