แบงก์เบรกปล่อยกู้ "กลุ่มซีพี"สร้าง"ไฮสปีดเทรนเชื่อม3สนามบิน"​

24 ต.ค. 2564 | 14:59 น.

แบงก์พาณิชย์ ชะลอปล่อยสินเชื่อ กลุ่มซีพี ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.24 แสนล้านบาท หลังโควิดระบาด ต้องกลับมาทบทวนความคุ้มค่าการลงทุนใหม่ ประกอบกับรอความชัดเจนนโยบายรัฐบาลในการผลักดัน EEC

โครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่าโครงการรวม 224,544.36 ล้านบาท ที่ "กลุ่มซีพี" ภายใต้ชื่อบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด หรือ ที่ปัจจุบันได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด  เป็นผู้ดำเนินการโครงการ อาจต้องสะดุดลงหลังจากสถาบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มซีพี

 

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเจ้าหนี้ต้องกลับมาทบทวนการปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการขนาดใหญ่ว่าจะมีความคุ้มค่าในการลงทุนตามที่ได้มีการประเมินไปก่อนหน้านี้หรือไม่ หนึ่งในโครงการที่ต้องมีการทบทวน คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ของกลุ่มซีพี ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 2.24 แสนล้านบาท

การทบทวนการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้สถาบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มซีพีเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง เพราะเห็นว่าผลตอบแทนแทนทางเศรษฐกิจลดลงจากเดิมที่คาดว่าว่าจะมีจำนวน 50,900 ล้านบาท โดยมีค่า IRR ที่ 14.2% 

 

นอกจากนี้หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 นโยบายของภาครัฐเองก็ยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการผลักดันนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ทำให้สถาบันการเงินต้องชะลอการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มซีพีเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

 

"ฐานเศรษฐกิจ" พยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้กับกลุ่มซีพี แต่ไม่สามารถติดต่อได้ นอกจากนี้ยังได้โทรศัพท์ไปสอบถามนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถึงเรื่องดังกล่าว แต่ไม่มีการรับสาย

กลุ่มซีพีที่เข้ามาดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะเวลาสัญญา 50 ปี มูลค่ากว่า 224,544 ล้านบาท ภายใต้ชื่อใหม่บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด หรือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือ ซี.พี.และพันธมิตร ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC), บมจ.ช.การช่าง (CK), บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD)

 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เห็นชอบให้เยียวยาผลกระทบของโควิด-19 ในส่วนของค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรลลิงก์ แก่บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็น ชำระเงินค่าโอนสิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาทให้ รฟท. เพื่อเข้าบริหารการเดินรถแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ภายในวันที่ 25 ต.ค. 2564

 

26 ตุลาคม 2564 นายคณิศ  แสงสุพรรณ  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยถึงกรณีที่สถาบันการเงินไม่อนุมัติการปล่อยกู้ให้บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม 3 สนามบิน จำกัด หรือซีพี ที่ปัจจุบันได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “บริษัท  เอรา  วัน  จำกัด” เพื่อดำเนินโครางการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้น  

คณิศ  แสงสุพรรณ

ขณะนี้รฟท.ได้ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 160 กิโลเมตร  แล้ว 98.11%  เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างให้บริษัท เอเชีย เอรา  วัน จำกัด ดำเนินการ ซึ่งเอกชนคู่สัญญาได้ทยอยเข้าดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปลายปี 2563 เช่น การก่อสร้างถนน ก่อสร้างสะพาน บ้านพักคนงาน ฯลฯ โดยรฟท.ต้องส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเพิ่มเติมอีก 1.89% ภายในเดือนมกราคม 2565

 

หลังจากนั้นเอกชนจะได้รับหนังสือแจ้งให้เริ่มเงิน (NTP) ปัจจุบันโครงการฯ ดังกล่าวยังไม่ถึงขั้นตอนที่เอกชนคู่สัญญาจะต้องได้สินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อดำเนินโครงการฯ เนื่องจากต้องรอการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) ออกหนังสือแจ้งให้เริ่ม (NTP) ซึ่งจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนมีนาคม 2565 ส่วนการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน คาดว่าเอกชนต้องดำเนินการขอกู้วงเงิน ราว 1 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างช่วงสถานีลาดกระบัง-สถานีอู่ตะเภา 

 

สำหรับสัญญาร่วมลงทุนระบุไว้ว่าเอกชนคู่สัญญาจะทำสัญญาสินเชื่อโครงการฯกับสถาบันการเงิน ภายใน 240 วัน นับจากวันที่ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ดังนั้นขั้นตอนการทำสัญญาสินเชื่อต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 หากถึงช่วงทำสัญญาสินเชื่อดังกล่าวคาดว่าสถานการรณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 คงคลี่คลายแล้ว

 

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบังไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 220 กม. มีผู้เดินรถรายเดียวกัน ซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง เชื่อมกรุงเทพฯ กับพื้นที่ อีอีซี ภายในระยะเวลาไม่เกิน 60 นาที

 

แนวเส้นทางโครงการผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ใช้แนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางของโครงการเดิมและมีการออกแบบใหม่เฉพาะบริเวณเชื่อมต่อเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ (ขาออก) และสนามบินอู่ตะเภา (ขาเข้า)

 

โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-ระยอง มูลค่าโครงการรวม 224,544.36 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • ระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา 168,718.00 ล้านบาท
  • การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ 45,155.27 ล้านบาท
  • สิทธิการเดินรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671.09 ล้านบาท