เปิดปูมข้อพิพาท ทอท.-การบินไทย “ศูนย์ซ่อมดอนเมือง”เคลียร์กี่ปีก็ยังไม่จบ

07 ต.ค. 2564 | 02:24 น.

เปิดปูมข้อพิพาทระหว่างทอท.กับการบินไทย กรณี“ศูนย์ซ่อมดอนเมือง”ปมยืดเยื้อที่ยังเคลียร์ไม่จบ ทั้งมีการโยง MRO FORTH ว่าจะเข้ามาเสียบแทน แม้จะเป็นคนละบริบทกัน แต่ถ้า MRO รายใหม่นี้แจ้งเกิด ย่อมสะเทือนการบินไทยที่ทำผิดสัญญาซ่อมเครื่องบินกับสายการบินอื่นอยู่เดิม

กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งสำหรับเรื่องที่ยังเคลียร์ไม่จบกรณีการบินไทยค้างจ่ายค่าเช่าที่ดินฝ่ายช่างความยาว 1 กิโลเมตร ติดสนามบินดอนเมืองกับกระแสข่าวการเขี่ยการบินไทยพ้นธุรกิจศูนย์ซ่อมดอนเมือง เพื่อให้ขาใหญ่ MRO FORTH ซึ่งเป็นบริษัทที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.ร่วมลงทุนอยู่ 25% เข้ามาดำเนินการแทน แม้จะเป็นคนละบริบทหรือคนละเรื่องกันเลย แต่ก็ไม่อาจ ปฏิเสธได้ว่าถ้า MRO FORTH สามารถเกิดขึ้นได้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้ การบินไทยจะมีคู่แข่งในสมรภูมินี้ จากเดิมที่ผูกขาดมาอย่างยาวนาน

 

โดยตั้งแต่ปี 2535 การบินไทยได้เช่าที่ดินตอนนั้นเป็นเพียงพื้นที่สนามหญ้า เพื่อสร้างเป็นอาคารฝ่ายช่าง เสียค่าเช่าที่ดิน 20 บาทต่อตร.ม. ภายใต้เงื่อนไข Build operation transfer เมื่อครบสัญญาในปี 2555 อาคารสูง 5 ชั้นนี้ก็ถูกโอนมาเป็นของกรมธนารักษ์ โดยทอท.เป็นผู้ดูแลพื้นที่นี้แทนกรมธนารักษ์และในช่วงปี 2555 มีการปรับขึ้นค่าเช่ามาเป็น 300 บาทต่อตร.ม. และคิดตามพื้นที่ใช้งาน 100,000 บาทต่อตร.ม. ซึ่งเป็นอัตราที่คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) อนุมัติ และผู้ประกอบการทุกรายที่เช่าพื้นที่ต่างก็จ่ายค่าเช่าในอัตราดังกล่าว แม้แต่บางกอกแอร์เวย์สที่มีศูนย์ซ่อมสำหรับให้บริการเครื่องบินของตัวเองในสนามบินดอนเมืองก็จ่ายค่าเช่าในอัตราที่ปรับขึ้นมานี้มาโดยตลอด

ดังนั้นจึงมีการบินไทยเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ไม่ยอมรับอัตราการปรับขึ้นค่าเช่าดังกล่าว เพราะมองว่าไม่เป็นธรรมและส่งผลให้ต้องจ่ายค่าเช่าเพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่า และแม้จะหมดสัญญาเช่าแล้วแต่การบินไทยก็ยังคงใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่ผ่านมามีการจ่ายค่าเช่าในอัตราเดิมคือ 20 บาทต่อตรม.ทำให้จนถึงทุกวันนี้ทอท.จึงเรียกร้องให้การบินไทยจ่ายหนี้ค่าเช่าที่คงค้างอยู่ 3,796 ล้านบาท จากกรณีที่ทอท.ต้องจ่ายผลตอบแทนการใช้พื้นที่นี้ให้กับกรมธนารักษ์แทนการบินไทย

เปิดปูมข้อพิพาท ทอท.-การบินไทย “ศูนย์ซ่อมดอนเมือง”เคลียร์กี่ปีก็ยังไม่จบ

 

ที่ผ่านมาก็มีการนำส่งเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำนักงานอัยการสูงสุด ระหว่างทอท.และการบินไทย ในสมัยที่ “อุษณีย์ แสงสิงแก้ว” นั่งเป็นดีดีการบินไทย เมื่อปี 2560 ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่าที่ผ่านมาก็ให้ไปเคลียร์กันเอง แต่อันใหม่ก็ให้จ่ายในอัตราใหม่ที่กำหนดขึ้นเพื่อรีเซ็ตกันใหม่ และการบินไทยจะไปความต้องการในการใช้พื้นที่ที่ต้องการจริง เพื่อดาวน์ไซด์พื้นที่ จะได้จ่ายค่าเช่าได้ถูกลง ส่วนที่ไม่ใช้ก็จะทยอยคืนพื้นที่ให้ทอท.

แต่ที่ผ่านมาการบินไทยก็เปลี่ยนดีดีไปแล้วหลายคน เรื่องก็ไม่จบ จนการบินไทยเข้าแผนฟื้นฟูกิจการหนี้ก้อนนี้จึงโอนไปอยู่ในฟื้นฟู แต่ในขณะเดียวกันการจ่ายค่าเช่าตามอัตราใหม่ การบินไทยก็ยังคงไม่จ่าย และยังจ่ายในอัตราเดิมอยู่เหมือนเดิม ซึ่งก็เหมือนกับการซื้อเวลา เพราะท้ายสุดก็จะโป๊ะมาเป็นหนี้ก้อนใหม่อยู่ดี เผลอๆอาจจะเข้าสูกระบวนการฟ้องร้องในกันอนาคต

 

นอกจากนี้ยังไม่นับปัญหาที่การบินไทยทำผิดสัญญา เพราะในสัญญาเช่าพื้นที่ตั้งแต่แรกกำหนดให้การบินไทยสามารถซ่อมบำรุงเครื่องบินเฉพาะเครื่องบินของตัวเองเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาการบินไทย กลับเปิดให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานของสายการบินอื่นๆด้วย ซึ่งหลักๆ มี 4 สายการบิน คือ แอร์เอเชีย, แอร์เอเชีย เอ็กซ์, นกแอร์ ไทยไลอ้อนแอร์ ซึ่งที่ผ่านมาทอท.ก็รับทราบเรื่องนี้ แต่ก็อลุ่มอลวยให้ เพราะตอนนั้นการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ ประกอบกับสายการบินเหล่านี้ก็สามารถใช้บริการได้โดยไม่ต้องนำเครื่องไปซ่อมบำรุงในต่างประเทศ

 

ทั้งทันทีที่การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ สถานะของการบินไทยในวันนี้จึงกลายเป็นบริษัทเอกชน ทอท.จึงไม่สามารถอลุ่มอลวยให้ได้อีกต่อไป และได้แจ้งให้การบินไทยรับทราบชัดเจนว่าถ้าการบินไทยยังจะดำเนินการให้บริการสายการบินอื่นๆด้วย จะต้องเข้าสู่กระบวนการตาม พ.ร.บ.รัฐร่วมทุน ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 18 เดือน ทำให้ในระหว่างนี้สายการบินต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบ ทำให้สมาคมสายการบินแห่งประเทศไทย จึงได้ทำหนังสือไปยังทอท. เพื่อขอให้นำเรื่องเข้าครม.เพื่อยกเว้นในเรื่องนี้ชั่วคราวเพื่อให้การบินไทยดำเนินการซ่อมบำรุงให้สายการบินต่างๆ ได้ต่อไปและยิ่งในช่วงที่ไทยจะเปิดประเทศ การซ่อมบำรุงแบบ Line Maintenance จึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยเรื่องนี้ก็คงขึ้นอยู่กับนโยบายของทอท.ว่าจะคิดเห็นเช่นไร

 

เพราะก่อนหน้านี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็เคยมีหนังสือสอบถามมายังทอท.ต่อกรณีที่การบินไทยเปิดซ่อมเครื่องบินให้สายการบินอื่นด้วยว่าทำไมจึงไม่มีการเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนกับการบินไทย ซึ่งที่ผ่านมาการบินไทยก็บอกมาตลอดว่าไม่เคยให้บริการสายการบินอื่นตามสัญญาการเช่าที่ดิน ให้บริการเฉพาะตัวเองและบริษัทลูกอย่างไทยสมายล์ แต่ท้ายสุดก็โป๊ะแตก

 

ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรกอีก เพราะรู้ชะตาว่าต่อไปจะมีขาใหญ่อย่าง MRO FORTH เข้ามาดำเนินธุรกิจแข่งในอีก 1 ปีข้างหน้าในพื้นที่คลังสินค้าหมายเลข 3 ในสนามบินดอนเมือง ซึ่งการเข้ามาของ MRO FORTH ต้องยอมรับว่าไม่ธรรมดาเพราะบอร์ดทอท.อนุมัติให้ดำเนินการธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานภายใต้สัญญา 15 ปี แต่วันนี้ก็ยังมีข้อสงสัยในประเด็นสัดส่วนการถือหุ้นที่มีผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจ MRO จากต่างประเทศถือหุ้นอยู่เพียง 1% รวมถึงบริษัทฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นที่รู้จักในธุรกิจตู้เติมเงินบุญเติม ที่ก็ไม่ได้มีประสบการณ์ทางด้านนี้แต่อย่างใด แถมทอท.ยังเข้ามาถือหุ้นอีก 25% ด้วย

 

แต่เชื่อว่าท้ายสุดเมื่อได้ไลเซ้นท์แล้ว ก็คงไม่ยากที่จะเป็นใบเบิกทางไปดึงกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจ MRO เข้า มาดำเนินการ งานนี้คนชอกชํ้าคงหนีไม่พ้นการบินไทย ที่เป็นเจ้าถิ่นมานาน แต่อะไรๆ ก็มักจะเปลี่ยนไปเมื่อสถานะของการบินไทยพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจนั่นเอง