โรคแบคทีเรียกินเนื้อ รู้ก่อน รักษาได้ เพศชายเสี่ยงกว่าเพศหญิง

30 มี.ค. 2567 | 02:00 น.

ชวนรู้จัก "โรคแบคทีเรียกินเนื้อ" หรือ โรคเนื้อเน่า ที่กำลังระบาดในญี่ปุ่น พบไม่บ่อยแต่มีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิต-เกิดภาวะทุพพลภาพจากโรคสูง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 

จากกรณีที่ว่าการมหานครโตเกียว เมืองหลวงประเทศญี่ปุ่น ออกคำเตือนประชาชนหลังพบผู้ติดเชื้อโรคแบคทีเรียกินเนื้อ หรือ โรคเนื้อเน่า (flesh-eating-disease) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ สเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ เพิ่มสูงขึ้นโดยพบผู้ติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคนแล้ว 517 ราย

ทั้งนี้ ข้อมูลสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ได้สรุปข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุ อาการ และแนวทางการป้องกันเกี่ยวกับโรคนี้ว่า การวินิจฉัยและรักษาโรคตั้งแต่ระยะเริ่มแรกได้สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้

ในประเทศไทยโรคนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่โดยเมื่อปี พ.ศ. 2562 ช่วงเดือนกรกฎาคม มีรายงานข่าวพบผู้ป่วยด้วยโรคแบคทีเรียกินเนื้อเป็นจำนวนมากที่ จ.น่าน โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรและชาวนา ซึ่งจากการสอบสวนการระบาดของโรคในพื้นที่โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตที่ 1 ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน และโรงพยาบาลน่าน ในช่วงเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2562 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยโรคแบคทีเรียกินเนื้อ 51 ราย มีผู้เสียชีวิต 5 ราย

โรคแบคทีเรียกินเนื้อ คือ อะไร 

โรคแบคทีเรียกินเนื้อ หรือ โรคเนื้อเน่า (flesh-eating disease) หรือ ชื่อทางการแพทย์ คือ โรค necrotizing fasciitis เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรงที่ผิวหนังชั้นลึก ตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ไปจนถึงชั้นเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ และอาจลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้

โรคนี้พบไม่บ่อยแต่มีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตหรือเกิดภาวะทุพพลภาพจากโรคตามมาได้สูงหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที

สำหรับประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยด้วยโรคแบคทีเรียกินเนื้อทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ประมาณ 15.5 รายต่อประชากรแสนราย และมีอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อย 17-49 ขึ้นกับชนิดของเชื้อก่อโรค ความรุนแรงของโรคและตำแหน่งที่มีการติดเชื้อ โรคประจำตัว ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย รวมถึงระยะเวลาตั้งแต่ที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการจนกระทั่งได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

ช่วงระยะเวลาที่พบผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากที่สุด คือ ช่วงเดือนมีนาคม ถึง มิถุนายน และรองลงมา คือ เดือนกรกฎาคม ถึง ตุลาคม ของทุกปี

สาเหตุของโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียโดยอาจเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียเพียงชนิดเดียว (monomicrobial infection) หรือหลายชนิดร่วมกัน (polymicrobial infection) เชื้อแบคทีเรียก่อโรคมีทั้งชนิดที่ใช้ออกซิเจน (aerobic bacteria) และไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic bacteria)

อย่างไรก็ดี พบว่า เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุที่สำคัญ คือ เชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A Streptococci) แต่เชื้อที่มีความรุนแรง คือ เชื้อแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas hydrophila)

ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีโรคประจำตัวที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น เบาหวาน ตับแข็ง ไตวาย 

ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดส่วนปลายตีบหรืออุดตัน 

ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด 

ผู้ที่มีภาวะอ้วน 

ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์ 

ผู้ที่ได้ยากดภูมิคุ้มกัน

กลุ่มเกษตรกรและชาวนาที่มักเกิดบาดแผลเล็ก ๆ น้อยๆ ในระหว่างการทำงาน และสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในดินหรือน้ำ จากการเดินลุยหญ้า นาข้าว เหยียบย่ำโคลนระหว่างการทำเกษตรกรรม เป็นต้น 

นอกจากนี้ผู้ที่มีบาดแผลเล็กน้อย เช่น ของมีคมบาดหรือตำ แมลงสัตว์กัดต่อย ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ ผู้ที่มีแผลหลังการผ่าตัด รวมถึงผู้ที่มีแผลหลังจากการป่วยด้วยโรคสุกใสแต่ไม่ได้รับการทำความสะอาดบาดแผล หรือทำความสะอาดบาดแผลไม่เหมาะสม สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อได้เช่นกัน
 
อาการโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

ในระยะเริ่มแรกของโรคผู้ป่วยมักมีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยบริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อ และมีอาการไม่ชัดเจน ในเด็กเล็กมักบอกอาการผิดปกติไม่ได้อย่างจำเพาะเจาะจงแต่อาจแสดงออกในลักษณะอาการหงุดหงิดง่าย งอแงมากผิดปกติ ร่วมกับปฏิเสธการเคลื่อนไหวของอวัยวะหรือผิวหนังบริเวณที่มีการติดเชื้อ

ตำแหน่งที่พบรอยโรคส่วนใหญ่ คือ บริเวณแขน ขา และเท้า ต่อมาเมื่อการติดเชื้อลุกลามมากขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูง ร่วมกับผิวหนังบริเวณที่มีการติดเชื้อจะเริ่มบวม แดง ร้อนอย่างชัดเจน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดบริเวณดังกล่าวอย่างมาก 

ทั้งนี้ อาการปวดจะค่อยๆ รุนแรงมากขึ้น โดยไม่สอดคล้องกับอาการผิดปกติบริเวณผิวหนังที่ตรวจพบ และขอบเขตของรอยโรคมักไม่ชัดเจน โดยพบว่าบริเวณที่กดเจ็บจะกว้างกว่าบริเวณผื่นแดง เนื่องจากพยาธิสภาพของโรคเกิดลึกในชั้นใต้ผิวหนัง ผู้ป่วยบางรายอาจมีผิวหนังพองเป็นตุ่มน้ำหรือถุงน้ำ (อาจมีเลือดปน) บริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อ หรือบางรายอาจคลำได้ฟองอากาศในเนื้อเยื่อ (crepitation) ร่วมด้วย 

เมื่อโรคดำเนินต่อไป สีของผิวหนังบริเวณที่มีการติดเชื้อจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ ม่วง หรือดำ เนื่องจากเกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อชั้นไขมันใต้ผิวหนัง และชั้นเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อบริเวณนั้นอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ เมื่อเริ่มมีเนื้อเยื่อตายเกิดขึ้น เส้นประสาทที่เลี้ยงผิวหนังบริเวณนั้นอาจถูกทำลาย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการชาของผิวหนังบริเวณที่มีการติดเชื้อ (skin anesthesia) แทนที่อาการปวด และบางรายอาจพบการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดร่วมด้วย ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดภาวะช็อค และมีการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ไต บกพร่องร่วมด้วยได้

โดยทั่วไป ในระยะแรกของโรคแบคทีเรียกินเนื้อนั้นมักไม่มีความเฉพาะเจาะจง ทําให้ผู้ป่วยมักได้รับการวินิจฉัยแรกรับเป็นโรคอื่น

อาการที่จำเพาะเจาะจง (hard sign) ของโรคแบคทีเรียกินเนื้อ มี 4 อาการ คือ ผิวหนังบริเวณที่มีการติดเชื้อมีสีคล้ำ ม่วง ดำ หรือเน่าตาย ผิวหนังพองเป็นตุ่มน้ำหรือถุงน้ำ คลำได้ฟองอากาศในเนื้อเยื่อ และชาบริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อ แต่เนื่องจากอาการเหล่านี้พบได้เพียงร้อยละ 7 ถึง 44 ของผู้ป่วยทั้งหมดและมักพบในระยะท้ายของโรค ทำให้การวินิจฉัยและรักษาอาจล่าช้าเกินไป

การป้องกันโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือมีบาดแผลที่ผิวหนังแต่หากมีบาดแผลเกิดขึ้นที่ผิวหนังแล้ว ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้บาดแผลไปสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่สกปรกและระวังไม่ให้สิ่งสกปรกเข้าไปในบาดแผล ควรล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด หรือแอลกอฮอล์ 70% ทันที และใส่ยาฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนังที่เหมาะสม เช่น โพวิโดน ไอโอดีน เป็นต้น ห้ามใช้ยาผงโรยใส่แผลโดยตรง

สำหรับกรณีที่บาดแผลเกิดจากวัสดุที่มีความสกปรก เช่น ตะปู หนาม ไม้ทิ่มแทง หรือผู้ป่วยมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือมีโรคประจำตัวที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อ ควรต้องหมั่นสังเกตอาการ เช่น ไข้ ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณบาดแผลนั้นอย่างใกล้ชิด

หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย