“วราวุธ”ชง 5 นโยบาย แก้วิกฤตประชากร เด็กเกิดน้อย-ผู้สูงวัยมาก

16 มี.ค. 2567 | 09:35 น.
อัพเดตล่าสุด :16 มี.ค. 2567 | 09:43 น.

“วราวุธ ศิลปอาชา” เดินหน้าแก้วิกฤตประชากรเด็กเกิดน้อย ผู้สูงอายุมาก ร่วมกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการจุฬาอารี และ World Bank พร้อมชง 5 นโยบายทำทันทีเข้าครม. ยื่นสมุดปกขาวถึงยูเอ็น สร้างความมั่นคงต่อครอบครัวไทย

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร” ร่วมกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการจุฬาอารี และ World Bank พร้อมเดินหน้า 5 นโยบาย เพื่อสร้างความมั่นคงของครอบครัวไทย ให้ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร ประกอบด้วย

นโยบายที่ 1. เสริมพลังวัยทำงาน : ให้สามารถตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะสูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน อาทิ พัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพ (Reskill / Upskill) กระจายงานสู่พื้นที่และชุมชน ส่งเสริมการออมภาคบังคับ และส่งเสริมสมดุลชีวิตการทำงานและครอบครัว อาทิ จัดหรือหาบริการดูแลเด็กปฐมวัย - ผู้สูงอายุช่วงกลางวัน สวัสดิการลาเพื่อดูแลบุตร ทำงานแบบยืดหยุ่นไม่จำกัดสถานที่ และส่งเสริมบทบาทชายหญิงร่วมกันดูแลครอบครัว 

“วราวุธ”ชง 5 นโยบาย แก้วิกฤตประชากร เด็กเกิดน้อย-ผู้สูงวัยมาก

นโยบายที่ 2. เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน : ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน อาทิ การส่งเสริมสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาให้เข้มแข็ง ดูแลสุขภาพกายและใจของเด็กและแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ จัดตั้งศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน รับเด็กอายุ

นโยบายที่ 3. สร้างพลังผู้สูงอายุ พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส : ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน อาทิ ส่งเสริมการป้องกันโรคมากกว่ารักษาโรค ส่งเสริมการจ้างงานและขยายอายุเกษียณ ส่งเสริมการมี Digital Literacy พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมและการเดินทาง

นโยบายที่ 4. เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการ : ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน อาทิ เพิ่มโอกาสทางการศึกษา เพิ่มการจ้างงานในทุกภาคส่วน ส่งเสริมพลังของคนพิการ ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม ป้องกันการพิการแต่กำเนิดและการพิการทุกช่วงวัยส่งเสริมการฟื้นฟูสมรรถภาพ และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ โดยใช้หลักการ Universal Design

นโยบายที่ 5. สร้างระบบนิเวศ (Eco-system) ที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว : ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน อาทิ ได้แก่ Family support services: ระบบสวัสดิการที่เหมาะสมและทั่วถึง การสร้างชุมชนน่าอยู่สำหรับประชากรทุกกลุ่มทุกวัย (Community for all) การสร้างบ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย (Housing for all) ทุกกลุ่มเป้าหมาย การส่งเสริมเศรษฐกิจครัวเรือน และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ด้วยการหยุดทำร้ายธรรมชาติ และส่งเสริม Green Economy ซึ่งจะเพิ่มคุณภาพชีวิต

“วราวุธ”ชง 5 นโยบาย แก้วิกฤตประชากร เด็กเกิดน้อย-ผู้สูงวัยมาก

หลังจากการประชุม กระทรวง พม. จะดำเนินการจัดทำสมุดปกขาว “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์” เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนเมษายน 2567 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะได้นำเสนอในการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (57th Session of Commission on Population and Development : CPD57) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2567

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า เรื่องทั้งหมดต้องรีบทำ เริ่มจากปัญหาสังคมสูงวัย ถ้าอัตราการเกิดของไทยยังเป็นแบบนี้อีก 60 ปี จากนี้ระยะยาวไปประชากรไทยจาก 66 ล้านคน จะเหลือ 30-32 ล้านคนเท่านั้น แต่ระยะสั้น 5-10 ปี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจะมีขนาดครอบครัวที่เล็กลง จากเคยมีลูก 6-7 คน เหลือ 1 คน สัดส่วนจาก 6:1 เป็น 1:1 ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.3:1 เกาหลีใต้ 0.7 : 1 คน สัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยแรงงาน ลดลง ในขณะที่ สัดส่วนประชากรสูงอายุยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“สังคมไทยเข้าสู่สังคม Super Aging Society หรือ สังคมสูงอายุขั้นสุดยอดอย่างสมบูรณ์แบบเหมือนประเทศญี่ปุ่น สัดส่วนประชากรจะเป็นพีรามิดกลับหัวเพราะผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น คนทำงานและเด็กเกิดใหม่ลดลง ย้อนไปเมื่อสมัยที่ตัวเองเกิดมีประชากรเกิดใหม่ปีละล้านกว่าคน ก็เท่ากับว่าหลังจากนี้ก็จะมีคนเข้าสู่สังคมสูงวัยปีละล้านคน ยิ่งที่ให้อัตราเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอดเร็วกว่าเดิม”

“วราวุธ”ชง 5 นโยบาย แก้วิกฤตประชากร เด็กเกิดน้อย-ผู้สูงวัยมาก

นอกจากนี้กลุ่มคนที่เกื้อหนุนผู้สูงอายุเมื่อก่อนมีอัตราส่วน 6:1 คน แต่ตอนนี้เหลือ 3.2:1 หมายความว่าผู้สูงอายุ 1 คน มีคนดูแลลดลงจาก 6 คนเหลือ 3.2 คน และอีก 10 ปี ข้างหน้าก็จะเหลือ 2 คนเท่านั้น ทำให้คนเจเนเรชั่นหน้าหรือ Gen Z Gen Alpha จะเป็นกำลังแบกสังคมของจริง โดยค่าใช้จ่ายในการดูแลและสวัสดิการ ในการดูแลผู้สูงอายุผ่านเบี้ยยังชีพปี 2566 จำนวน 7.7 หมื่นล้านบาท ในการดูแลจำนวน 10.3 ล้านคน ยังไม่ใช่ระบบสวัสดิการถ้วนหน้า หากยังใช้ระบบขั้นบันไดแบบนี้จะต้องใช้งบฯเป็น 1.2 แสนล้านบาท และหากมีการเปลี่ยนเพิ่มเป็นคนละ 1,000 บาท แบบถ้วนหน้าทุกคนต้องใช้งบ 1.9 แสนล้านบาท ถ้าเพิ่มเป็น 3,000 บาท ก็ต้องใช้ 5.6 แสนล้านบาท ขณะที่คนทำงานลดลง รายรับมีน้อยกว่ารายจ่าย

ส่วนการดูแลด้านสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพ คาดการณ์ว่าจะต้องดูแลเพิ่มเป็น 15 ล้านคน ในอีก 5 ปีข้างหน้า และต้องใช้เงินดูแลการประกันสุขภาพสูงถึง 6 หมื่นล้านบาท ทั้งเบี้ยยังชีพ ค่ารักษาร่างกาย เมื่อรวมกันแล้วอาจจะถึงหลักล้านล้านบาท ฉะนั้นต้องมองว่า “ประชาชนคนไทย” เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต้องทำงานเชิงรุก เชิญชวนทุกกระทรวงให้ก้าวข้ามปัญหานี้ไปให้ได้