รู้จักโรค “หลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน” ที่ทำ “ต้าร์ มิสเตอร์ทีม” ทรุดบนเวที

11 ก.พ. 2567 | 17:16 น.

ข่าว “ต้าร์ มิสเตอร์ทีม” นักร้องดังยุค 90 ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลกะทันหันขณะแสดงคอนเสิร์ตที่เขาใหญ่เมื่อวันเสาร์ (10 ก.พ.) ด้วยอาการโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน ทำให้เราต้องให้ความสนใจโรคดังกล่าวนี้กันมากขึ้น เพราะเป็นมหันตภัยใกล้ตัวที่ต้องรักษาโดยไวที่สุด

 

โรคเส้นเลือดสมองตีบเฉียบพลัน หรือ หลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน (Stroke) นั้น เป็นมหันตภัยใกล้ตัว และต้องได้รับการรักษาให้ทันท่วงที เพราะอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวอย่างใหญ่หลวงทั้งต่อตัวผู้ป่วยเองและผู้ดูแล หรือหากอาการรุนแรงมากก็อาจมีผลถึงเสียชีวิต  

จากสถิติในปี 2020 พบว่า ในทุกๆ 2 นาที จะมีคนไทยป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน โดยอาการของโรคหลอดเลือดสมองแบบเฉียบพลัน หากเกิดขึ้นแล้ว ผู้ป่วยต้องถูกนำส่งโรงพยาบาลให้ถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้สมองขาดเลือดเป็นเวลานาน

ทุกๆ 1 นาทีที่เสียไปจะมีเซลล์สมองตายเกือบ 2 ล้านเซลล์

เหตุที่ต้องนำส่งผู้ป่วยให้ถึงโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วนั้น เพราะทุกๆ 1 นาทีที่สมองขาดเลือด เซลล์สมองจะตายไป 1.9 ล้านเซลล์ หรือ 114 ล้านเซลล์ใน 1 ชั่วโมง ส่งผลให้การทำงานของสมองช้าลง และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว สมองก็หยุดทำงานไปในที่สุด

ดังนั้น การมาถึงโรงพยาบาลล่าช้าเกิน 270 นาที อาจเป็นที่มาของ “อัมพฤกษ์ อัมพาต” อย่างสมบูรณ์ ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว และหากอาการรุนแรงมากก็ถึงขั้นเสียชีวิตได้

สาเหตุของโรค

โรคหลอดเลือดสมองตีบ เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่ส่งไปเลี้ยงสมอง สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ สมองขาดเลือด (จากหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน) กับ เลือดออกในสมอง ซึ่งในกรณีของคุณต้าร์ มิสเตอร์ทีม (หรือในชื่อจริง คุณสุรชัย วงษ์บัวขาว) นั้น เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ทางภรรยาได้อัปเดตอาการของสามีผ่านทางเฟซบุ๊ก surachai wongbuakao ระบุว่า ผล CT Scan จากโรงพยาบาลต้นทางที่รักษา พบเลือดออกที่แกนสมอง 5 มล. มีอาการอ่อนแรงซีกขวา อย่างไรก็ตาม เมื่อย้ายมายังโรงพยาบาลใกล้บ้านและทำ CT Scan ซ้ำ ปรากฏว่าไม่มีเลือดออกเพิ่ม จึงไม่ต้องผ่าตัด เบื้องต้นยังคงต้องนอน ICU 2-3 วัน

โรคเส้นเหลือดสมองตีบเฉียบพลันนับเป็นมหันตภัยใกล้ตัว

สาเหตุของอาการสมองขาดเลือด ส่วนใหญ่เกิดจาก

  • ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis)
  • ลิ่มเลือดจากหัวใจมาอุดตันหลอดเลือดสมอง
  • หลอดเลือดขนาดเล็กอุดตัน
  • ภาวะความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด หรือมีการฉีกขาดของหลอดเลือด

ผู้ที่มีความเสี่ยงจากการเกิดสมองขาดเลือดที่เกิดจากภาวะหลอดเลืองแดงแข็ง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงวัย หรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยจะมีความเสี่ยงมากขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง ซึ่งทำให้มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดไปอุดตันได้มากขึ้น

ปัจจุบัน พบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด พบในผู้ป่วยอายุน้อยลงเรื่อยๆ และพบว่าเพศชายจะมีโอกาสเป็นโรคสมองขาดเลือดมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดก็คือ ลิ่มเลือดจากหัวใจมาอุดตันหลอดเลือดสมอง

ส่วนอาการเลือดออกในสมอง เป็นภาวะที่หลอดเลือดในสมองหรือหลอดเลือดระหว่างกระดูกและสมองแตกออก ทำให้เลือดไปสะสมและกดอัดเนื้อเยื่อสมอง มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ถือเป็นภาวะที่อันตราย สามารถส่งผลให้เสียชีวิตได้

ข้อแนะนำเพื่อการป้องกัน

ดังนั้น บุคคลที่เข้าข่ายหรือมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง จึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และหากมีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงควรรับประทานยาควบคุมโรคอย่างมีวินัย ควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนัก ลดมันลดหวานลดเค็ม เน้นรับประทานผักผลไม้และอาหารที่เป็นประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยในหนึ่งสัปดาห์ควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150 นาที เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและปรับความสมดุลให้กับร่างกาย

ขณะเดียวกัน สำหรับผู้ที่ยังไม่ปรากฏว่ามีโรคประจำตัว ก็ควรจะควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน หมั่นออกกำลังกาย ไม่เคร่งเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

ข้อแนะนำสำหรับการเฝ้าระวังอาการอัมพฤกษ์-อัมพาต

ข้อสังเกตเพื่อการเฝ้าระวังอาการอัมพฤกษ์-อัมพาตเฉียบพลันจากโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ร่างกายอ่อนแรง แขนขาอ่อนแรงไปครึ่งซีก ไม่มีแรงยกแขน กำมือไม่ได้ หยิบจับของก็หลุดร่วงจากมือ ไม่มีแรงเดิน หรือเดินเซ ไม่มีแรงกระดกเท้าและยกขาขึ้นไม่ได้ มุมปากตก ปากเบี้ยว เห็นภาพซ้อน การมองเห็นผิดปกติ พูดลำบาก พูดไม่ชัด นึกคำไม่ออกหรือพูดผิดๆ ถูกๆ หรือบางคนอาจพูดไม่ได้เลย มีอาการชาที่ใบหน้า ชาตามมือตามเท้าและครึ่งซีกของร่างกาย มีอาการปวดศีรษะรุนแรงแบบฉับพลัน ร่วมกับการอาเจียน วิงเวียนศีรษะคล้ายบ้านหมุน เดินเซ รายที่รุนแรงอาจถึงขั้นหมดสติได้

โรคนี้อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวอย่างใหญ่หลวงทั้งต่อตัวผู้ป่วยเองและผู้ดูแล

ในปัจจุบัน โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด ครองสถิติสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของประชากรไทย ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นราว 500-1,000 คนต่อวัน และมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 5-10% อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โอกาสในการเกิดอัมพฤกษ์-อัมพาตก็จะลดลงด้วยเช่นกัน และยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้มาก

ด้วยเหตุที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมักจะไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ จากร่างกายล่วงหน้า การตรวจหาความเสี่ยง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือการใช้ยาเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงร่วมอื่นๆ ก็ช่วยให้โอกาสการเกิดโรคลดลงได้

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท