"สังคมสูงวัย 2567" ปลุกตลาดอาหาร-เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพโต 3.4 หมื่นล้าน

26 ธ.ค. 2566 | 06:06 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ ความท้าทายใหม่ในธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ จากมูลค่าตลาดที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องในปี 2567 สอดรับการขยายตัวของสังคมสูงวัย

ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ "สังคมสูงอายุ" อย่างสมบูรณ์ โดยคาดว่าในปี 2574 ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด และจากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยพบว่า ผู้สูงอายุมีจำนวนทั้งหมด 12.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.4 จากประชากรทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2566) ทำให้หลายกลุ่มธุรกิจเริ่มหาแนวทางและกลยุทธ์ในการจัดสรรสินค้าและบริการที่เหมาะสมกับช่วงอายุเฉลี่ยของคนไทยที่เปลี่ยนไป เพื่อตั้งรับกับมูลค่าตลาดที่สูงขึ้น 

หนึ่งในตลาดที่คาดว่าจะเติบโตขึ้น แต่ยังคงอยู่บนความท้าทาย คือ “ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ” เนื่องจากมีผลการประเมินโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกมาว่า ในปี 2567 มูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุจะเติบโตสูงขึ้น สอดรับกับผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

การประเมินมูลค่าตลาดอาหาร-เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ ในปี 2567 - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

มูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุปี 2567 คาดไม่ต่ำกว่า 34,000 ล้านบาท ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพต้องปรับกลยุทธ์และพร้อมตั้งรับความท้าทาย

จากผลการวิจัยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุในไทยมีแนวโน้มเติบโตจากฐานประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่ม แต่ด้วยกำลังซื้อผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ได้สูงมาก ทำให้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพต้องปรับกลยุทธ์ เพื่อตั้งรับความท้าทายดังกล่าว

โดยในเบื้องต้นคาดว่า มูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุปี 2567 อาจอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 34,000 ล้านบาท และขยายตัวราว 6%YoY ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวให้ภาพการเติบโตแบบระมัดระวัง อันเป็นผลจากการขยายตัวของฐานประชากรกลุ่มผู้สูงอายุที่มีศักยภาพเป็นหลัก

การคาดการณ์ตลาดอาหาร-เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพวัย 60+ (ปี 2567) - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

2 ประเภทหลักๆ ของตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ 

1. อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุทั่วไป 

คิดเป็นสัดส่วน 92% ของมูลค่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ เหมาะต่อการเจาะตลาดในระยะแรก เนื่องจากสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเต็มใจจะจ่าย และต้องการอาหารที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารออร์แกนิก อาหารที่ปรับปริมาณสารอาหารให้เหมาะสมกับวัยกับโรคด้านไขมัน น้ำตาล และโซเดียมต่ำ โดยจะเน้นไปที่คุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ ภายใต้ราคาที่เข้าถึงง่าย

2. อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง  

มีสัดส่วนในตลาดเพียง 8% แต่มีแนวโน้มเติบโตจากจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ที่จะเพิ่มขึ้นจาก 4.1 แสนคนในปี 2564 โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็นเท่าตัวที่ 8.3 แสนคนภายในปี 2580 ซึ่งผุ้สูงอายุในกลุ่มนี้ต้องการอาหารที่เฉพาะเจาะจง เหมาะสมกับโรค สภาพร่างกายและการรักษา ทำให้โอกาสในการผลิตนั้นอาจอยู่ที่การร่วมมือกับสถานพยาบาล รวมถึงมีการหาช่องทางจำหน่ายร่วมกันโดยกลุ่มอาหาร

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยว่า ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุยังคงเติบโตได้แบบค่อยเป็นค่อยไป ตามการเพิ่มขึ้นประชากรผู้สูงอายุไทย หากผู้ประกอบการมีการขยายการลงทุนและรุกตลาดมากขึ้น จนทำให้มีสินค้าหลากหลายเพื่อรองรับความต้องการ รวมถึงปรับราคาให้เข้าถึงง่าย ก็นับว่ามีโอกาสที่จะขยายฐานลูกค้าผู้สูงอายุไปยังกลุ่มอื่นๆ ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่จะสามารถส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่มีอัตราผู้สูงอายุอยู่มาก อย่างประเทศญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปได้อีกด้วย


ขอบคุณภาพประกอบและที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย