อากาศหนาว ระวังโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก

29 พ.ย. 2566 | 03:35 น.

กรมการแพทย์ แนะผู้ปกครองรับมือกับโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก ดูแลบุตรหลานในช่วงอากาศหนาวเย็นเพราะร่างกายอาจปรับตัวไม่ทันทำให้ป่วยง่ายขึ้นเนื่องจากเชื้อโรคอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานและแพร่กระจายได้ดีช่วงนี้

กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีความห่วงใยในบุตรหลาน แนะผู้ปกครองรับมือกับโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก ดูแลบุตรหลานในช่วงอากาศหนาวเย็นเพราะร่างกายอาจปรับตัวไม่ทันเพราะเชื้อโรคอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้นและแพร่กระจายได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กๆ ทำให้ป่วยได้ง่ายขึ้น อาจส่งผลต่อการเกิดโรคปอดบวม ปอดอักเสบ ที่เกิดเป็นกลุ่มได้ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวเด็กป่วยเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา

ประเทศไทยมีการระบาดอย่างมากของเชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อ RSV และไวรัสทางเดินหายใจอื่น ๆ เนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมา ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ผู้ใหญ่และเด็ก ๆ เข้มงวดในการใส่หน้ากากอนามัยทำให้โรคที่เกิดจากไวรัสอื่น ๆ น้อยลงไปด้วยแต่หลังจากมีการผ่อนคลายโรคโควิด 19 เด็ก ๆ ซึ่งยังไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคทางเดินหายใจหรือผู้ใหญ่มีภูมิต้านทานที่น้อย จึงทำให้ปีนี้มีผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก

มีการติดเชื้อและระบาดอย่างมาก ของไข้หวัดใหญ่ RSV และโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้ปกครองยังต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ด้วย เช่นเดียวกับที่มีข่าวในประเทศจีน

นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวแนะนำให้ผู้ปกครองเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็กที่พบในฤดูหนาว โดยให้การดูแล ดังนี้

1.แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยที่โรงเรียน เด็กเล็กหลีกเลี่ยงที่ชุมชน

2.เด็กทารกควรได้รับนมมารดา รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ สะอาด ปรุงสุกใหม่

3.ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง

4.หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อโรคระบบหายใจ ผู้ป่วยควรอยู่บ้าน พักรักษาตัวให้หาย ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอ จาม

5.หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะที่บ้านและของเลน อุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ

นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์

6.รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ สวมเสื้อกันหนาวเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น หมั่นดูแลสุขภาพของบุตรหลานให้แข็งแรง โดยการส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัยและพักผ่อนให้เพียงพอ

7.ให้วัคซีนพื้นฐานตามอายุ และเสริมด้วยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้กับเด็ก หากบุตรหลานของท่านมีอาการเจ็บป่วยหรือไม่สบาย สามารถรับการรักษาหรือปรึกษาแพทย์ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

นายแพทย์ประวิทย์ เจตนชัย แพทย์เชี่ยวชาญระบบหายใจเด็กให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรคหวัดจากการติดเชื้อไวรัสในเด็กเล็กอาจมีไข้และน้ำมูก ส่วนในเด็กโตอาจไม่มีไข้ มีอาการไอ น้ำมูกใส และหายได้เอง ไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ

โรคไข้หวัดใหญ่

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) อาการคล้ายไข้หวัดแต่อาการจะรุนแรงกว่า เช่น มีไข้สูง น้ำมูก ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกข้อนตามมาได้ เช่น โรคหอบหืดกำเริบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ

ให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเฉพาะ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง เช่น อ้วน, อายุน้อยกว่า 2 ปี, มีโรคปอดเรื้อรังหรือโรคหืด, เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า รวมทั้งโรคลมชัก

โรคติดเชื้อ RSV

เกิดจากการติดเชื้อไวรัส RSV ในระยะแรกอาการจะคล้ายไข้หวัด ไข้ ไอ น้ำมูก ในเด็กโตที่แข็งแรงดีอาการจะไม่รุนแรงและหายได้เองแต่สำหรับเด็กเล็ก (อายุน้อยกว่า 2 ปี) ที่มีการติดเชื้อไวรัส RSV มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหอบและโรครุนแรงตามมาได้ เช่น หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบ

นอกจากนี้เด็กที่คลอดก่อนกำหนด มีโรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่รุนแรง ไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ให้สารน้ำให้เพียงพอ ให้ออกซิเจน พ่นยา ขยายหลอดลม พ่นน้ำเกลือเข้มข้นชนิดพิเศษในผู้ป่วยบางราย