แก้หนี้นอกระบบบุคลากร "สาธารณสุข"เปิดคลินิกสุขภาพการเงิน 8 ธ.ค.นี้

28 พ.ย. 2566 | 20:15 น.

"หมอชลน่าน" ขานรับนโยบายรัฐบาลจับมือ สถาบันการเงิน หวังแก้ปัญหาหนี้ทั้งในระบบ-นอกระบบให้กับบุคลากรทางการแพทย์กว่า 5 แสนราย ผ่าน 2 โครงการหลัก ปูพรมเปิดคลินิกสุขภาพทางการเงินทุกโรงพยาบาลในสังกัด 8 ธ.ค.นี้ 

หลังจากที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศแก้ปัญหาหนี้นอกระบบปลดปล่อยคนไทยจาก "หนี้นอกระบบ" กว่า 5 หมื่นล้านบาทโดยยกให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมประกาศดีเดย์เปิดลงทะเบียนในวันที่ 1 ธ.ค.นั้น

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขานรับนโยบายแก้หนี้ให้กับบุคลากรโดยประกาศนโยบายความมั่นคงทางการเงินให้แก่บุคลากรในสังกัดที่มีมากกว่า 5 แสนคนซึ่งจำนวนหนึ่ง

พบว่า ประสบปัญหาเรื่องหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ โดยร่วมกับ "ธนาคารออมสิน" ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินบุคลากรผ่าน 2 หลักการ คือ 

บุคลากรที่มีหนี้นอกระบบ

นำเข้ามาสู่ในระบบโดยเสียอัตราดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 6 

บุคลากรที่มีหนี้ในระบบ

ตัวอย่างเช่น หนี้บ้าน จะได้รับการปรับปรุงหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง เพื่อช่วยให้บุคลากรสาธารณสุขได้มีบ้านเป็นของตนเอง โดยจัดทำแผนความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน (Money Safety MOPH+) ใน 2 โครงการ 

1.โครงการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ดำเนินการใน 4 กลุ่ม คือ รีไฟแนนซ์ ซื้อบ้านหลังใหม่ ปลูกสร้าง และต่อเติมซ่อมแซม

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข 15% เป็นหนี้บ้านประมาณ 2.5 ล้านบาทต่อคน ดอกเบี้ยประมาณ 4.6% เฉลี่ย 9,583 บาทต่อเดือนซึ่งดอกเบี้ยโครงการนี้อยู่ที่ 2.6% จะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อคน 4,167 บาทต่อเดือนและลดค่าใช้จ่ายภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุข 3 พันล้านบาทต่อปี

 

2.โครงการสินเชื่อสวัสดิการและอื่น ๆ 4 รูปแบบ

  • สินเชื่อสวัสดิการ : อุปโภคบริโภค/ชำระหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น
  • สินเชื่อ Salary เปย์ เพื่อบุคลากรภาครัฐ
  • สินเชื่อสวัสดิการโดยใช้บำเหน็จตกทอด
  • สินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ

จากข้อมูลพบว่า บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข 40% เป็นหนี้เฉลี่ย 2 แสนบาทต่อคน ดอกเบี้ยประมาณ 16% เฉลี่ย 2,666 บาทต่อเดือน โดยดอกเบี้ยโครงการอยู่ที่ 6.459% จะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อคนได้ 1,584 บาทต่อเดือน และลดค่าใช้จ่ายภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุข 3,042 ล้านบาทต่อปี

โดยทั้ง 2 โครงการ คาดว่าจะช่วยทำให้บุคลากรมีเงินเหลือเก็บ 5,751 บาทต่อเดือน และประหยัดค่าใช้จ่ายภาพรวมกระทรวงสาธารณสุขได้กว่า 6,042 ล้านบาทต่อปี 

นอกจากนี้ในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 จะเปิดคลินิกสุขภาพทางการเงินในทุกโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพทางการเงินและวินัยทางการเงินให้แก่บุคลากรด้วย