เช็คสัญญาณเตือน 3 อาการบ่งชี้กำลังแพ้ฝุ่น PM 2.5

18 ต.ค. 2566 | 20:15 น.

พร้อมรับมือฝุ่น PM 2.5 เช็คสัญญาณเตือน 3 อาการบ่งชี้แพ้ฝุ่น PM 2.5 ทั้งแบบอาการระยะสั้น ระยะยาว พร้อมวิธีป้องกันหลีกเลี่ยงฝุ่นเมื่อต้องอยู่นอกอาคาร ที่พัก คลิกอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่ 

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 วนกลับมาสร้างปัญหาสุขภาพให้กับคนไทยกันอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาวเช่นนี้ โดย กรมควบคุมมลพิษ แนะนำให้ประชาชนเฝ้าระวังโดยเกาะติดสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 อย่างใกล้ชิดเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ตา และผิวหนัง  

ฝุ่น PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กซึ่งมีขนาดเล็กว่า 2.5 ไมครอน หรือขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมและเนื่องจากมีขนาดเล็กมากทำให้หลุดรอดการกรองจากจมูกและสามารถผ่านลงไปถึงถุงลมปอดได้ เมื่อเราหายใจเข้าไป ก่อให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินหายใจและสามารถเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดและกระจายไปทั่วร่างกายได้ นอกจากนี้ในฝุ่น PM 2.5 มักพบสารก่อมะเร็งและโลหะหนักที่เป็นอันตรายเกาะอยู่ด้วย

อาการและผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5

ระยะสั้น

  • ทำให้ระคายเคืองตา ตาแดง คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ อาการภูมิแพ้และหอบหืดกำเริบ ทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อง่ายขึ้น ผิวหนังอักเสบมีผื่นคันที่ผิวหนัง

ระยะยาว

  • การทำงานของปอดแย่ลง เสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และ โรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอด ผิวหนังเหี่ยวย่นก่อนวัย

เช็คสัญญาณเตือนจากการแพ้ฝุ่น PM 2.5

  • ผิวหนัง เกิดเป็นตุ่มผื่น นูนแดงกระจายบนผิวหนัง
  • ดวงตา ตาแดง เปลือกตาบวม มีน้ำตาไหล ใต้ตาช้ำมีสีคล้ำขึ้น
  • ทางเดินหายใจ คัน แน่นในโพรงจมูก แน่นหน้าอก ไอ จาม มีน้ำมูกแบบใสๆ

ฝุ่น PM 2.5 สามารถทำให้เกิดการอักเสบ 2 รูปแบบ 

1.อักเสบเฉียบพลัน 

มีอาการจาม น้ำมูก คัดจมูก แสบตา คันตา น้ำมูกไหล ยิ่งคนที่เป็นหอบหืดจะเหนื่อยขึ้น จากภาวะหลอดลมตีบอักเสบ มีหายใจเสียงหวีด ส่วนคนที่ไม่เคยเป็นหอบหืดมาก่อนหรือคนที่เป็นหอบหืดตอนเด็กหายแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกได้เพราะความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ที่สูงกระตุ้นให้โรคกลับมาและกระตุ้นให้เป็นโรคใหม่ได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกับภูมิแพ้ผิวหนัง กระตุ้นผื่นภูมิแพ้ผิวหนังและลมพิษได้ด้วย

2.อักเสบเรื้อรัง 

มีอาการคัดจมูกมากจนทนไม่ไหว ปวดมาก ปวดซีกเดียว มีมูกสีเหลืองเขียวออกมา การได้กลิ่นลดลง ซึ่งเป็นอาการของโพรงไซนัสอักเสบหรือภูมิแพ้กำเริบรุนแรงได้ นอกจากนี้ที่สำคัญมากการเกิดการอักเสบเรื้อรังในทางเดินหายใจ ทำให้เกิดเซลล์ผิดปกติกลายเป็นมะเร็งต่าง ๆ ในอนาคต อาทิ มะเร็งปอด เป็นต้น

วิธีหลีกเลี่ยงฝุ่น PM 2.5

1.เช็คดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index – AQI) ก่อนออกจากบ้าน หากอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ควรเลี่ยงการออกนอกบ้านและทำกิจกรรมกลางแจ้ง

2.สวมใส่หน้ากาก N95 ที่ได้มาตรฐานช่วยป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ดีที่สุดและควรสวมใส่ให้ถูกต้อง หากสวมหน้ากากอนามัยควรเลือกที่ครอบหน้าได้ทั้งหมด
ล้างจมูกทุกวันอย่างถูกวิธี เพื่อให้โพรงจมูกสะอาด ลดโอกาสการติดเชื้อและการเกิดโรค

3.ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศ HEPA Filter เพื่อให้การกรองอากาศมีความละเอียดสูงกว่าแผ่นกรองอากาศปกติ สกัดกั้นสารก่อภูมิแพ้ได้ เพราะแม้จะปิดประตูหน้าต่าง ฝุ่น PM 2.5 ก็ยังเล็ดลอดเข้ามาได้


ข้อมูล โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยามหิดล