กทม. ผนึก แอสตร้าฯ ใช้ AI เพิ่มประสิทธิภาพคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้น

07 ต.ค. 2566 | 13:45 น.

ข่าวดี กทม. - แอสตร้าเซนเนก้า ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้นในระยะเริ่มต้น หวังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของคนไทย

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า ปัจจุบันมะเร็งปอดคร่าชีวิตคนไทยเกือบ 20,000 รายในแต่ละปีและโดยส่วนใหญ่มักตรวจพบในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย ส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร หากสามารถตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้แก่ผู้ป่วยได้

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในการเปิดโครงการ Lung Ambition Alliance: "Don’t Wait. Get Checked." และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองเบื้องต้นสำหรับมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ระหว่าง กรุงเทพมหานคร และ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) ณ ห้องประชุมพิทยรักษ์ ชั้น 4 อาคารสำนักการแพทย์

ปัจจุบันนวัตกรรมเทคโนโลยีได้ถูกพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด รวมถึงระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ซึ่งมีความสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดเบื้องต้นได้ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับ แอสตร้าเซนเนก้า และเครือข่ายภายใต้โครงการ Lung Ambition Alliance นำเทคโนโลยี AI มาเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้นให้ตอบโจทย์และส่งผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับนโยบายบริหารงาน "การเชื่อมโยงระบบการแพทย์ทุกระดับอย่างไร้รอยต่อ" ซึ่งการให้บริการสุขภาพที่เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับปฐมภูมิจนถึงตติยภูมิขั้นสูง

กทม. ผนึก แอสตร้าฯ ใช้ AI เพิ่มประสิทธิภาพคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้น

ด้วยมาตรฐานการแพทย์ขั้นสูงสุด เพื่อให้คนกรุงเทพฯ สุขภาพดี สร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริม ป้องกัน แก้ไขความเสี่ยงที่เป็นภัยคุกคามทางสุขภาพ และส่งเสริมความรู้ให้ชุมชน ในระดับเส้นเลือดฝอย ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้ทุกคนสามารถเข้าสู่การรักษาได้อย่างรวดเร็วและเท่าเทียมยิ่งขึ้น

กทม. ผนึก แอสตร้าฯ ใช้ AI เพิ่มประสิทธิภาพคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้น  

"สิ่งสำคัญที่เราต้องทำ คือ ใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้บริการแก่คนกรุงเทพฯ ทำอย่างไรที่จะสามารถสอนครูและนักเรียนให้รู้จักใช้ AI เพื่อทำสิ่งต่าง ๆ ทางการศึกษาให้ดีขึ้น ส่วนตัวคิดว่า เรามีสิ่งที่เป็น Smart City มากมาย เช่น เซนเซอร์การตรวจจับเรื่องต่าง ๆ บนท้องถนน ระบบตรวจวัดระดับน้ำ และอีกมากมาย นี่เป็นแนวทางสู่ Smart City อย่างแท้จริง เมืองอัจฉริยะคืออะไร? ตนคิดว่า คำจำกัดความของ Smart City คือการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชน

รวมไปถึงเพื่อปรับปรุงการให้บริการด้านสุขภาพของประชาชนอีกด้วย นี่คือหัวใจสำคัญของ Smart City และหากพูดถึง AI คนอาจจะกลัวว่าจะมาแทนที่เรื่องต่างๆ หรือไม่ เช่น ด้านการแพทย์ จึงอยากลองเรียกคำอื่นดูเป็น IA (Intelligent Assistant) คือ ผู้ช่วยอัจฉริยะ เป็นการใช้ AI เพื่อช่วยให้การตัดสินใจได้ดีขึ้น รวดเร็ว และถูกต้องมากขึ้น ไม่เพียงแต่ในด้านการแพทย์เท่านั้น แต่เป็นในทุกด้านของการบริการเพื่อให้สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น เราต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอว่าเทคโนโลยีใดเหมาะสมสำหรับการใช้งานเพื่อปรับปรุงการบริการเพื่อประชาชนดีขึ้นต่อไป" นายชัชชาติ กล่าว

 

กทม. ผนึก แอสตร้าฯ ใช้ AI เพิ่มประสิทธิภาพคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้น