ระวัง "โรคไอกรน" เตือนประชาชนพาบุตรหลานฉีดวัคซีนตามเกณฑ์

05 ต.ค. 2566 | 03:55 น.

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา เตือนประชาชนระวัง "โรคไอกรน" เผย หากมีอาการไข้ต่ำๆ มีน้ำมูก ไอมากผิดปกติจนทำให้หายใจไม่ทันให้รีบไปพบแพทย์ แนะผู้ปกครองพาบุตรหลานฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ที่กำหนด

สถานการณ์ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคไอกรนในระบบรายงาน 506 (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 18 กันยายน 2566 จำนวน 13 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ ต่ำกว่า 1 ปี โดยเขตสุขภาพที่ 12 พบผู้ป่วยยืนยัน 2 ราย เสียชีวิต 1 ราย ในจังหวัดปัตตานีนั้น 

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (B. pertussis) ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม สัมผัสกับสารคัดหลั่งและเครื่องใช้ของผู้ป่วย ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อในเด็กซึ่งอาการของโรคไอกรนในเด็กอาจรุนแรงมากจนทำให้เสียชีวิตได้

อาการของโรคจะแสดงหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 6 - 20 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ มีน้ำมูก และไอ โดยอาจเป็นต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจะเริ่มแสดงอาการสำคัญของโรค คือ ไอเป็นชุด ๆ ถี่ ๆ ติดกัน 5 - 10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น จนทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และพยายามหายใจเข้าลึก ๆ และมีเสียงดังวู๊ป สลับกับการไอเป็นชุด ทั้งนี้ อาการที่กล่าวมาอาจเป็นเรื้อรังติดต่อกันนานถึง 2 - 3 เดือน

หากมีผู้ป่วยไอกรน ควรแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อแก่ผู้อื่นโดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อผ่านน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย

ในผู้สัมผัสโรคควรสังเกตว่า มีอาการไอหรือไม่ ติดตามอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ส่วนเด็กที่สัมผัสโรคใกล้ชิดควรไปรับคำปรึกษาจากแพทย์ แม้จะได้รับวัคซีนป้องกันครบแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ สคร.12 สงขลาขอแนะนำให้ประชาชนนำบุตรหลานอายุต่ำกว่า 6 ปี เข้ารับวัคซีนให้ครบตามช่วงอายุที่กำหนด คือ อายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 1 ปีครึ่ง และฉีดเข็ดกระตุ้นเมื่ออายุ 4 ปี พร้อมเน้นย้ำควรสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422