ชวนหญิงไทยเช็ค 6 อาการเสี่ยงเป็น "มะเร็งเต้านม"

07 ต.ค. 2566 | 09:10 น.

เดือนแห่งการป้องกันมะเร็งเต้านม ชวนผู้หญิงไทยรู้เท่าทันโรคมะเร็งเต้านม แนะวิธีสังเกตพร้อมตรวจเช็ค 6 อาการเสี่ยงทำได้ด้วยตัวเอง รู้ก่อนรักษาให้หายขาดได้

ภัยของมะเร็งเต้านม ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก รายงานว่า ปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลกประมาณ 2.3 ล้านคน เสียชีวิตราว 685,000 คนต่อปี

ขณะที่ประเทศไทย มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทย จากข้อมูลในปี พ.ศ.2563 พบว่า ผู้หญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 18,000 คนต่อปี หรือคิดเป็น 49 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมราว 4,800 คน หรือคิดเป็น 13 คนต่อวัน ทั้งยังมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2566 จะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 22,000 คนต่อปี

สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม

ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่า มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้มากขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย และดื่มสุรา รวมถึงบางปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม และอายุที่มากขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้ผู้หญิงไทยให้ตระหนักและรู้เท่าทันมะเร็งเต้านมโดยวิธีสังเกตอาการผิดปกติที่อาจชี้ให้เห็นว่า กำลังเสี่ยงว่า เป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้  

อาการที่อาจจะเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม 

1.มีก้อนที่เต้านมหรือรักแร้

2.รูปร่างหรือขนาดของเต้านมที่เปลี่ยนไป

3.รูปร่างหรือขนาดของหัวนมที่เปลี่ยนแปลงไป

4.มีน้ำ, เลือด หรือน้ำเหลืองไหลออกมาจากหัวนม

5.สี หรือ ผิวหนังบริเวณลานหัวนมที่เปลี่ยนไป เช่น รอยบุ๋ม รอยย่น ผิวหนังบริเวณเต้านมที่เปลี่ยนไป

6.อาการเจ็บผิดปกติที่เต้านมหรือรักแร้โดยเฉพาะเจ็บข้างเดียว

โรคมะเร็งเต้านมมีกี่ระยะ?

มี 4 ระยะ แบ่งเข้าใจง่ายได้ 3 แบบ คือ

ระยะเริ่มต้น (ระยะที่ 1-2) ได้แก่ กลุ่มที่ก้อนขนาดเล็กไม่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองหรือกระจายไปเล็กน้อย

ระยะลุกลาม (ระยะที่ 2-3) ได้แก่ กลุ่มที่ก้อนขนาดใหญ่หรือกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองค่อนข้างมาก

ระยะแพร่กระจาย (ระยะที่ 4) ได้แก่ กลุ่มที่มีโรคกระจายไปอวัยวะอื่น เช่น ปอด ตับ กระดูก

เป็นมะเร็งเต้านมก้อนใหญ่ ยังมีโอกาสหายหรือไม่?

-ยังมีโอกาสหายขาดได้

-ความเข้าใจต่อตัวโรคอย่างถูกต้องและการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญที่จะไม่ทำให้พลาดโอกาสในการรักษาให้หาย

-ในปัจจุบันมียาเคมีบำบัดและยามุ่งเป้าที่มีประสิทธิภาพดีช่วยทำให้ขนาดของก้อนเล็กลงจนสามารถผ่าตัดได้ และลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำในภายหลังเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว มีโอกาสหายหรือไม่?

ขึ้นอยู่กับระยะโรค

  • โอกาสหาย : ระยะเริ่มแรก > ระยะลุกลาม > ระยะแพร่กระจาย
  • ในระยะแพร่กระจาย (ระยะ 4) มีโอกาสหายค่อนข้างน้อย

ถึงแม้จะไม่หายขาด แต่การรักษาในปัจจุบัน สามารถทำให้มีชีวิตยืนยาวและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ปัจจุบันมีการรักษาใหม่หลายชนิดในผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาอาจมีชีวิตอยู่ได้อีกหลายปี แม้จะป่วยเป็นโรคในระยะที่ 4 แล้ว

 

ชวนหญิงไทยเช็ค 6 อาการเสี่ยงเป็น \"มะเร็งเต้านม\"

ที่มา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย