แพทย์ออสซี่พบพยาธิเป็นๆในสมองผู้ป่วย ยกเป็นกรณีติดเชื้อชนิดใหม่ให้ระวัง

30 ส.ค. 2566 | 01:03 น.
อัพเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2566 | 01:22 น.

แพทย์ออสเตรเลียตะลึงพบพยาธิยาว 8 ซม.ตัวเป็น ๆ ในสมองผู้ป่วยทำให้เกิดอาการผิดปกติ ตั้งแต่ปวดท้อง ไอ เหงื่อออกตอนกลางคืน ไปจนถึงอาการหลงลืม-ซึมเศร้า  ยกเป็นการติดเชื้อชนิดใหม่ส่งผ่านจากสัตว์สู่คนที่ไม่เคยมีการบันทึกมาก่อน

 

การค้นพบความเสี่ยงใหม่ที่เป็น ภัยสุขภาพ ครั้งนี้ เปิดเผยโดย แพทย์ในออสเตรเลีย ที่พบ พยาธิตัวกลม ความยาว 8 เซนติเมตรในสภาพยังมีชีวิต ในสมอง ของผู้ป่วยหญิงชาวออสเตรเลียวัย 64 ปี ที่เข้ามารับการรักษาและแพทย์วินิจฉัยให้เธอเข้ารับการผ่าตัด โดยพยาธิที่พบดังกล่าว มีลักษณะคล้ายเส้นด้ายสีแดงเส้นเล็กๆ มันถูกดึงในลักษณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ออกจากกลีบสมองบริเวณหน้าผากของผู้ป่วยในการผ่าตัดที่กรุงแคนเบอร์ราเมื่อปีที่ผ่านมา

 ดร.ซานจายา เซนานายาเก แพทย์โรคติดเชื้อประจำโรงพยาบาลแคนเบอร์รากล่าวว่า ทุกคนในห้องผ่าตัดต่างตกตะลึงสุดขีด ในขณะที่ศัลยแพทย์ใช้คีมหยิบสิ่งผิดปกติที่พบในสมองของผู้ป่วยออกมา ซึ่งสิ่งผิดปกตินั้น ก็คือพยาธิสีแดงอ่อนขนาด 8 เซนติเมตรที่ขยับตัวไปมา "เมื่อตัดประเด็นความน่าขยะแขยงออกไปแล้ว เคสนี้นับว่าเป็นการติดเชื้อชนิดใหม่ที่ไม่เคยมีการบันทึกมาก่อนในมนุษย์ 

สำนักข่าวบีบีซีรายงานเมื่อวันอังคาร (29 ส.ค.) ว่า ผู้ป่วยหญิงรายนี้มีอาการทุกข์ทรมาน ซึ่งแพทย์กล่าวว่า เธอล้มป่วยด้วยกลุ่มอาการผิดปกติ ที่เริ่มตั้งแต่ปวดท้อง ท้องเสีย ไอ และเหงื่อออกตอนกลางคืน ซึ่งพัฒนาไปสู่อาการหลงลืมและซึมเศร้าในที่สุด

พยาธิตัวกลมลักษณะคล้ายด้ายสีแดงที่ถูกดึงออกมาจากสมองของผู้ป่วย

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ผู้ป่วยน่าจะติดเชื้อพยาธิ หลังจากที่เธอไปเก็บหญ้าพื้นเมือง “วอร์ริกาล กรีนส์” (Warrigal Green) ข้าง ๆ ทะเลสาบใกล้กับบ้านที่เธออาศัยอยู่

ดร.เมห์ราบ ฮอสเซน ผู้เชี่ยวชาญด้านปรสิตวิทยา ระบุในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Emerging Infectious Diseases) โดยคาดว่า ผู้ป่วยรายนี้กลายเป็นโฮสต์ (Host) โดยบังเอิญ หลังจากเก็บพืชซึ่งปนเปื้อนมูลงูหลามและไข่ปรสิตมาปรุงอาหาร

โดยโฮสต์นั้น หมายถึงร่างของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ที่ปรสิต ซึ่งในกรณีนี้คือพยาธิตัวกลม เข้าไปดำรงชีวิตด้วยการอาศัยและแพร่พันธุ์อยู่ในสิ่งมีชีวิตนั้น ซึ่งหากปราศจากโฮสต์ ปรสิตก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ด้วยเหตุนี้ปรสิตจึงไม่ทำลายโฮสต์ แต่มันสามารถเจริญเติบโต แพร่กระจายโรค และก่อให้เกิดความเสียหายต่อโฮสต์ได้

ในกรณีของผู้ป่วยหญิงคนนี้ พยาธิดังกล่าวคือ พยาธิตัวกลม Ophidascaris Robertsi ซึ่งพบได้ทั่วไปในงูหลามพรม (carpet pythons) ซึ่งเป็นงูที่มีถิ่นฐานกระจัดกระจายทั่วประเทศออสเตรเลียโดยเฉพาะในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ โดยพยาธิอาจจะเข้าไปอยู่ในสมองของผู้ป่วยเป็นเวลานานถึง 2 เดือน

ภาพสแกนสมองของผู้ป่วย

ภาพพยาธิที่พบเมื่อมองผ่านกล้องขยาย

แพทย์สันนิษฐานในเบื้องต้นว่า เธออาจกินพืชที่มีไข่ของพยาธิซึ่งปนเปื้อนอยู่ในมูลของงูหลามพรมเข้าไป ทำให้ไข่พยาธิเข้าไปฟักตัวอยู่ในร่างกาย อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการวิจัยหาสาเหตุที่แท้จริงกันต่อไป  

ทั้งนี้ แพทย์ผู้วิจัยเตือนว่า เคสผู้ป่วยรายนี้ เน้นย้ำถึงอันตรายของโรคและการติดเชื้อที่อาจส่งผ่านจากสัตว์สู่คนที่เพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง