เปิดวิธีดูแลสุขภาพ "สตรีวัยทอง" ด้วยศาสตร์แผนไทย

30 ก.ค. 2566 | 03:48 น.

เปิดวิธีดูแลสุขภาพ "สตรีวัยทอง" ด้วยศาสตร์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเผยเป็นภาวะของการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จากการเพิ่มขึ้นของอายุ

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า อาการวัยทอง เป็นภาวะของการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จากการเพิ่มขึ้นของอายุ ซึ่งเป็นผลมาจากรังไข่หยุดทำงานทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงผลิตน้อยลง 

ทั้งนี้ ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองมักจะมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกง่ายในเวลากลางคืน มีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดเข่า ผิวหนังแห้ง ท้องอืด ท้องเฟ้อ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ขี้โมโห ขี้หลงขี้ลืม ปวดศีรษะบ่อย วิงเวียน เป็นลมง่าย เหนื่อยง่าย 

ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะไม่ค่อยสุด ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มากะปริดกะปรอย ความรู้สึกทางเพศเสื่อมถอยไปจนถึงไม่มีเลย รวมไปถึงปัญหาที่สำคัญ คือ นอนไม่หลับ โดยอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันอีกด้วย

อย่างไรก็ดี อาการที่พบในสตรีวัยทอง มักเกิดจากการเสียสมดุลของธาตุทั้ง 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุลมและธาตุไฟ (เลือดจะไปลมจะมา) เป็นภาวะที่ธาตุไฟ หรือความร้อนในร่างกายกำลังลดลง 
 

ขณะเดียวกันธาตุลมก็เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งธาตุลมมีความสัมพันธ์กับอาการวิตกกังวล คิดมาก นอนไม่หลับ ซึมเศร้า ปวดชาตามมือตามเท้า ผิวหนังแห้ง ช่องคลอดแห้ง วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น การรักษาจึงเน้นไปที่การปรับสมดุลของระบบเลือดลม ระบบประสาท การบำรุงโลหิต บำรุงเลือดลมให้บริบูรณ์ 

เปิดวิธีดูแลสุขภาพสตรีวัยทองด้วยศาสตร์แผนไทย

การใช้สมุนไพรและตำรับยาแผนไทย โดยเน้นใช้สมุนไพรที่มีรสสุขุมหอมเพื่อคุมธาตุลมไม่ให้กำเริบหรือมีมากเกินไป ได้แก่ 

  • กลุ่มยาหอม เช่น ยาหอมเทพจิตร บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนอนหลับ ยาหอมแก้ลมวิงเวียน แก้ลมวิงเวียน อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ยาขิง บรรเทาอาการท้องอืด ขับลม แน่นจุกเสียด 
  • กลุ่มยาบำรุงเลือด เช่น ยาลูกแปลกแม่ (ตำรับยาแผนโบราณ ประกอบด้วยสมุนไพร 3 ชนิด คือ กล้วยน้ำไท 1 หวี พริกไทย 1 กำมือ มะตูมนิ่ม 1 ผล) มีสรรพคุณ บำรุงเลือดลมสตรี กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด บำรุงร่างกาย บำรุงผิวพรรณ และเป็นยาอายุวัฒนะ กวาวเครือขาว บรรเทาอาการของสตรีวัยทอง เช่น อาการร้อนวูบวาบตามร่างกาย กระสับกระส่าย ช่องคลอดแห้ง และประจำเดือนมาไม่ปกติ ส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและอารมณ์ เนื่องจากมีสารที่มีโครงสร้างทางเคมีและออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง (ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งมดลูก และ มะเร็งเต้านม หรือเนื้องอกที่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ควรใช้) 
  • กลุ่มยาบรรเทาอาการในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น อาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะไม่สุด ได้แก่ ชากระเจี๊ยบแดง และชาตะไคร้ สำหรับสตรีวัยทองที่ประสบปัญหาสุขภาพอื่นๆ สามารถขอเข้ารับการรักษาหรือปรึกษากับแพทย์แผนไทย เพื่อบรรเทาปัญหาของสตรีวัยทอง ยังมียาสมุนไพรตำรับอื่น หรือการใช้ยาปรุงเฉพาะรายเพื่อให้เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละบุคคล

นอกจากนี้ ยังมีหัตถการ การนวดและประคบสมุนไพรจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามตัว ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และหัตถการการอบไอน้ำสมุนไพรโดยมีข้อมูลการศึกษาวิจัย พบว่ากลุ่มผู้ที่อบไอน้ำสมุนไพรจะมีคุณภาพการนอนหลับที่ดีกว่าผู้ที่ไม่ได้ทำหัตถการอบไอน้ำสมุนไพร 

สำหรับการอบไอน้ำสมุนไพรสามารถช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย ช่วยคลายกล้ามเนื้อ ช่วยให้สดชื่นผ่อนคลาย ผิวพรรณเปล่งปลั่ง รวมถึงยังมีผลดีกับระบบทางเดินหายใจอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม สตรีวัยทองยังต้องดูแลทั้งเรื่องการรับประทานอาหารที่ครบทั้ง 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด การออกกำลังกายควรเป็นรูปแบบช้า ๆ เช่น ฤาษีดัดตน มณีเวช โยคะ ชี่กง ว่ายน้ำ เดินเบาๆ พร้อมทั้ง ฝึกการควบคุมอารมณ์ ฝึกทำสมาธิบำบัด งดสูบบุหรี่ และ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด