JSP เสริมแกร่ง ธุรกิจ “ยา-อาหารเสริม” ขยายพอร์ต ปั้นผู้ประกอบรายย่อย

27 ก.ค. 2566 | 22:30 น.

เปิดยุทธศาสตร์ “JSP” เดินหน้าขยายพอร์ตเสริมแกร่งธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ประเดิม M&A “GRACE WATER MED” ตามด้วย “ซีดีไอพี” หลังเข้าตลาดหุ้น สยายปีก OEM ให้ผู้ประกอบการรายย่อยลงทุนเพียง 1 แสนบาทก็เป็นเจ้าของแบรนด์ได้

นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ร่วมกับนายพิษณุ แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JSP เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเริ่มมีเงินจากการระดมทุน สเต็ปต่อไปคือการเข้าไป M&A กิจการที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง Value chain ของ JSP

บริษัทล่าสุดที่เพิ่งเข้าไปซื้อกิจการก็คือ “GRACE WATER MED” ในสัดส่วน 52% เป็นธุรกิจ น้ำยาฟอกไต สิ่งที่เราสามารถทำเกี่ยวเนื่องได้คืออาหารเสริมและเครื่องสำอางสำหรับผู้ป่วยโรคไต นำเข้ายาหรือผลิตยาและนำเข้าเครื่องมือแพทย์สำหรับคลินิกฟอกไต เป็นต้น นอกจากนี้ยังเปิดคลินิก “สุภาพโอสถสหคลินิก” เน้นแพทย์แผนไทยรักษาโรคเรื้อรังและโรคผู้สูงอายุ โดยใช้ยาสมุนไพรที่นักวิจัยพัฒนาและเภสัชกรของเราพัฒนาขึ้น

JSP เสริมแกร่ง ธุรกิจ “ยา-อาหารเสริม” ขยายพอร์ต ปั้นผู้ประกอบรายย่อย

“หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ บริษัทมีแผนขยายธุรกิจเพื่อตอบรับความต้องการของลูกค้า จากเดิมที่รับจ้างผลิต (OEM) ผลิตยา สมุนไพรให้กับลูกค้ารายใหญ่ จึงแก้เพลนพอยท์แรก ด้วยการเปิดโรงงาน “แคร์ซูติก” เพื่อทำ OEM ให้กับรายย่อยที่มีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งเริ่มต้นมียอดการสั่งผลิตเพียง 1 แสนบาท

ส่วนเพลนพอยท์ข้อที่ 2 คือลูกค้าที่เข้ามาหาเราแม้จะมั่นใจในการผลิตยาและสมุนไพร แต่ก็ต้องการผลิตอาหารเสริมและเครื่องสำอางด้วย เพราะฉะนั้น “แคร์ซูติก” จึงเพิ่มไลน์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับคนและสำหรับสัตว์ รวมทั้ง Personal Life Medicine หรือการปรุงยาตามใบสั่งแพทย์สำหรับผู้ป่วยเฉพาะซึ่งเป็นเทรนด์ในอนาคต”

อีกประเด็นหนึ่งคือ JSP ทำธุรกิจตั้งแต่พัฒนาผลิตภัณฑ์ จัดหาวัตถุดิบ ผลิตผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานอย. สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจยั่งยืนคือต้องมีทีมพัฒนาวิจัยพัฒนาที่เก่ง ปัจจุบันเรามีทะเบียนอย.ประมาณ 2,000 ทะเบียน และเชื่อว่าทีมวิจัยของบริษัทยังสามารถวิจัยและพัฒนาได้อีก แต่ปัจจุบันอาจยังเก่งไม่ทันการเติบโตของธุรกิจ สิ่งที่ JSP ทำคือ เข้าไปซื้อหุ้น บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 65% ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจให้บริการที่ปรึกษา รับจ้างวิจัยผลิตภัณฑ์ และฝึกอบรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเข้ามาเสริมพอร์ต

JSP เสริมแกร่ง ธุรกิจ “ยา-อาหารเสริม” ขยายพอร์ต ปั้นผู้ประกอบรายย่อย

“ตอนนี้ JSP มีบริษัทรับจ้างวิจัย, เทรนนิ่งจัดหลักสูตรและคอนเซาท์ เป็นธุรกิจต้นน้ำ มีบริษัทรับจ้างผลิต แคร์ซูติกเป็นธุรกิจกลางน้ำ ส่วนปลายน้ำ คือ Distribution Channel หรือช่องทางจัดจำหน่ายซึ่งเราให้ CDIP เข้าไปถือหุ้น 40% ใน “MEDIS” ตู้ขายยาอัตโนมัติ ซึ่งมี VDO Conference ปรึกษาเภสัชกรทำให้ผู้ป่วยได้ยาที่ตรงอาการ

แต่ปัจจุบันขายได้แค่ยาสามัญประจำบ้าน อาหารเสริม เครื่องสำอาง สมุนไพร และเครื่องมือแพทย์บางส่วนเช่น ชุดตรวจ ATK ชุดตรวจท้อง ถุงยางอนามัย ฯลฯ แต่เชื่อว่าในอนาคต ถ้าการเมืองมีนโยบายการสนับสนุนให้คนเข้าถึงยาได้มากขึ้น และยอมให้ทำ Telemedicine ตู้นี้จะเป็นพื้นฐานต่อยอดเข้าสู่ Telepharmacy คือสามารถขายยาอันตรายได้

นายพิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิม JSP รับลูกค้าขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันมีการแตกไลน์ มาเป็นแคร์ซูติก ที่จับลูกฐานขนาดเล็กลง วิธีการขายและการตลาดก็ต่างกัน โดยลูกค้ารายใหญ่ส่วนมากจะมาจาก Connection Reference ส่วนลูกค้ารายย่อยที่มีกำลังซื้อที่น้อยลงจะมาจากทางการยิงแอดผ่านโซเชียลมีเดียซึ่งข้อเสียของการยิงแอดคือเมื่อลูกค้าสนใจเข้ามาดูเยี่ยมชมเราผ่าน Social Media จะมีอีก 10 คู่แข่งที่ AI คัดมาเป็นตัวเลือกให้ลูกค้า

อีกหนึ่งช่องทางคือการจัด Open House เดือนละครั้ง ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชมจะต้องใช้ความพยายามในการเดินทางมา เยี่ยมชมโรงงานเพราะฉะนั้นลูกค้าจะตัดสินใจเกินครึ่ง หลังจากนี้บริษัทมีแผนจะจัดงาน Exclusive VIP สำหรับลูกค้า Top 100 ของประเทศเพื่อเชิญเข้ามาเยี่ยมชมโรงงานชมเพื่อแนะนำธุรกิจและขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ

JSP เสริมแกร่ง ธุรกิจ “ยา-อาหารเสริม” ขยายพอร์ต ปั้นผู้ประกอบรายย่อย

ขณะที่ own brand เบื้องต้นแบ่งเป็นตลาดออนไลน์ผ่านมาร์เก็ตเพลสและโซเชียลมีเดีย ซึ่งอัตราการเติบโตอาจจะยังเล็ก ส่วนออฟไลน์มีการขายผ่านร้านขายยา และโมเดิร์นเทรดอื่นๆ แต่ช่องทางหลักที่ทำรายได้มากที่สุดคือ TV Home Shopping ซึ่งเจ้าหลักๆเป็นลูกค้าของ JSP แล้ว

นายสิทธิชัย กล่าวอีกว่า ธุรกิจหลักตอนนี้เป็น OEM 70% ส่วนการผลิตภายใต้แบรนด์ของลูกค้าเอง (own brand) ยังมีสัดส่วนน้อยอยู่ แต่การเติบโต 2 ปีที่ผ่านมา own brand เติบโตสูงขึ้นต่อเนื่อง จากการทำแบรนด์ “สุภาพโอสถ” และทำเม็ดเงินเข้ากระเป๋ามากกว่า ตอนนี้นับว่า JSP เป็นผู้ผลิต OEM รายใหญ่ในวงการอาหารเสริม

แต่เป็นเจ้าของ own brand รายเล็กในวงการอาหารเสริม เพราะฉะนั้นเรายังมีช่องว่างที่จะเติบโตในการสร้างแบรนด์อีกมาก ดังนั้นในอีก 2 ปีข้างหน้าเราตั้งเป้าที่จะมีสัดส่วนรายได้ของ OEM และ own brand 50 : 50 โดยช่องทางการเติบโตของ own brand มาจาก TV Home Shopping ที่แบรนด์สุภาพโอสถเข้าไปยึดพื้นที่กว่า70% ของ TV Home Shopping ทั่วประเทศแล้ว”

ในส่วน ธุรกิจ OEM หลังจากนี้เน้นจับกลุ่ม “ขายให้กับทัวร์จีน” ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตเร็วแต่ผันผวนขึ้นลงตามตลาดนักท่องเที่ยว โดยปัจจุบันลูกค้าของบริษัทมีทั้งกลุ่มดารา บริษัทรายใหญ่ บริษัทมหาชนและบริษัทขายตรงเพราะบริษัทมีความน่าเชื่อถือ โรงงานมีมาตรฐานต่างประเทศ ทำให้ราคารับผลิตค่อนข้างสูงและต้องมียอดสั่งผลิตต่อล็อตค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทเล็งเห็นโอกาสในกลุ่มสตรีมเมอร์ เน็ตไอดอล YouTuber TikToker ที่เติบโตเร็วกว่ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และเชื่อว่า จะสามารถเข้ามาเป็นลูกค้าได้ในอนาคต

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,908 วันที่ 27 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2566