ข่าวดี พบสารจาก "กระชายขาว" มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งลำไส้-มะเร็งสมอง

26 มิ.ย. 2566 | 06:20 น.

ข่าวดี นักวิทย์ไทย พบสารเวสิเคลขนาดนาโนจาก "กระชายขาว" มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งลำไส้โดยไม่มีผลต่อเซลล์ลำไส้ปกติและมีฤทธิ์ยับยั้งการเคลื่อนที่ของเซลล์มะเร็งสมองชนิดที่พบบ่อยในเด็ก

จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 รายงานว่า ปัจจุบันคนไทยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ถึงวันละ 336 คน หรือ 122,757 คนต่อปี และเสียชีวิตวันละ 221 คน หรือ 80,665 คนต่อปี โดยข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งรายงานว่า อุบัติการณ์โรคมะเร็งในไทย พบโรคมะเร็งในเพศหญิง 151 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และพบในเพศชาย 169.3 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน

ข่าวดีล่าสุด รศ.ดร.อาทิตย์ ไชยร้องเดื่อ อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการศึกษา "เวสิเคิลขนาดนาโน" ที่สร้างและหลั่งออกมาจากเซลล์สัตว์เพื่อพัฒนาไปเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพสำหรับการวินิจฉัยและการพยากรณ์โรคและเป็นเป้าหมายใหม่สำหรับรักษาโรคชนิดต่าง ๆ อย่างกว้างขวางแต่ข้อมูลและประโยชน์ของ "เวสิเคิลขนาดนาโน" ที่สกัดได้จากพืชยังมีค่อนข้างจำกัด 

ทางกลุ่มจึงทำการวิจัยพบว่า จากการวิจัย พบว่า เวสิเคิลขนาดนาโนจาก "กระชายขาว" มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งลำไส้ โดยไม่มีผลต่อเซลล์ลำไส้ปกติ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แล้วในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ PLOS ONE 

นอกจากเซลล์มะเร็งลำไส้แล้วยังพบว่า เวสิเคิลจากกระชายมีฤทธิ์ฆ่าและยับยั้งการเคลื่อนที่ของเซลล์มะเร็งสมองชนิดที่พบบ่อยในเด็กอีกด้วย 

จากการค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาเวสิเคิลจากกระชายสำหรับการรักษาโรคมะเร็ง โดยคาดว่าอีก 2 - 3 ปีข้างหน้าจะสามารถขยายผลสู่ระดับสัตว์ทดลอง

"กลุ่มวิจัยยังได้ศึกษาประโยชน์ของเวสิเคิลขนาดนาโนจากผลไม้ที่นิยมบริโภคในประเทศไทย คือ "ส้มโอ" โดยพบเป็นครั้งแรกว่า มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของเซลล์สมอง ซึ่งอาจนำไปต่อยอดพัฒนาสู่การสร้างยาหรือวิธีการรักษาใหม่สำหรับโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการอักเสบของเซลล์สมอง อาทิ โรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสันได้ต่อไปในอนาคต 

ทั้งนี้ ยังหวังว่า การศึกษาประโยชน์ของเวสิเคิลจากพืชสมุนไพรและผลไม้ไทยจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจของเกษตรกรไทยให้เจริญเติบโตตลอดจนเป็นการจุดประกายให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เห็นความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติใกล้ตัวและทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไปอีกด้วย

5 ดับดับแรกมะเร็งที่พบบ่อยในเพศชาย

  • มะเร็งตับและท่อน้ำดี
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

5 ดับดับแรกมะเร็งที่พบบ่อยในเพศหญิง

  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งตับและท่อน้ำดี
  • มะเร็งปากมดลูก
  • มะเร็งลำไส้
  • มะเร็งปอด