ทำความรู้จักกับ "ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์" เช็คอาการ-กลุ่มเสี่ยง ที่นี่

22 มิ.ย. 2566 | 20:15 น.

ทำความรู้จักกับ "ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์" คือ อะไร มีอาการอย่างไร ใครบ้างเข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรคนี้บ้าง หลังจากที่ดาราสาวชื่อดัง "แป้ง-อรจิรา" เผย บุตรสาวมีภาวะดังกล่าว คลิกอ่านรายละเอียดที่นี่

"ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์" ทำให้สังคมหันมาสนใจและตั้งคำถามเกี่ยวกับโรคนี้กันมากขึ้นว่า คือ อะไร ร้ายแรงมากแค่ไหน หลังจากที่ดาราสาวชื่อดัง "แป้ง- อรจิรา แหลมวิไล" ระบุว่า ลูกสาวของตนเองเป็นโรคดังกล่าว

ที่สำคัญมีวิธีการป้องกันบุตรหลานของเราเพื่อไม่เป็นโรคภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์นี้ได้หรือไม่ มีอาการเด่น ๆ ที่เราสามารถสังเกตเห็นได้หรือไม่ แล้วใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

"ฐานเศรษฐกิจ" พาไปหาคำตอบของคำถามทั้งหมดนี้ไปพร้อม ๆ กัน 

 ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ คือ อะไร 

"ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์" (Hypothyroidism) หรือ บางครั้งเรียกว่า "ภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ" หรือ "ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์" เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้น้อย หรือไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้งานของร่างกายที่จะไปสนับสนุนระบบเผาผลาญพลังงานภายในเซลล์และเนื้อเยื่อและส่งผลต่อการทำงานระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบหัวใจ จิตใจและอารมณ์ สมรรถภาพทางเพศ และการควบคุมอุณหภูมิในร่างกายที่ไม่คงที่ 

สามารถพบได้ประมาณ 2-5% ของประชากรทั่วไป โดยประมาณ 15% เป็นผู้มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป มีโอกาสพบในเพศหญิงมากกว่าในเพศชายถึงประมาณ 2-8 เท่า สามารถพบได้ในเด็กทารก 1 ใน 3,000-4,000 คน ส่งผลให้มีการเจริญเติบโตช้า ฟันขึ้นช้า ร่างกายแคระแกร็น น้ำหนักน้อย โดยระยะเวลาในการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสาเหตุของโรค

ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ จะทำให้มีความเสี่ยงแทรกซ้อน ได้แก่ โรคคอพอก โรคไขมันในเลือดสูง ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ปัญหาด้านจิตใจ และอารมณ์ที่แปรปรวน ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เกิดการพัฒนาช้าหรือพิการในเด็กแรกเกิด และเกิดภาวะ Myxedema Coma* ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

อาการ "ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์" 

อาการของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ขึ้นกับความรุนแรงของการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ โดยการดำเนินไปของภาวะนี้เป็นไปอย่างช้า ๆ ใช้เวลาหลายปีถึงแสดงอาการ ซึ่งอาการที่อาจพบได้ มีดังนี้

  • อ่อนเพลีย
  • ขี้หนาว
  • ท้องผูก
  • ผิวแห้ง
  • น้ำหนักขึ้น
  • ใบหน้าบวมโต
  • เสียงแหบ
  • ไม่มีแรง
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • คอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น
  • ปวดตึงข้อ ข้อแข็งขยับได้น้อยลง บวมบริเวณข้อ
  • ประจำเดือนผิดปกติ
  • ผมแห้ง ผมบางลง
  • หัวใจเต้นช้าลง
  • มีอาการซึมเศร้า
  • ความสามารถในการจำลดลง

ใครมีความเสี่ยงที่เป็นโรคภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์

แม้ว่าทุกคนจะมีโอกาสการเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ได้แต่จะมีโอกาสมากขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้ 

  • เป็นเพศหญิง
  • อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
  • มีโรคแพ้ภูมิตัวเอง
  • มีประวัติได้รับรังสีรักษา หรือรับยาต้านไทรอยด์ หรือรับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์
  • กำลังตั้งครรภ์ หรือภายใน 6 เดือนหลังคลอด

ที่มา โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์