นวัตกรรมชุดตรวจโรคไตแบบพกพา คัดกรองโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้น

21 มิ.ย. 2566 | 04:50 น.

นายกฯ ชื่นชมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคไตแบบพกพาจากแพทย์จุฬาฯ แก้ปัญหา "โรคไตเรื้อรัง" สนับสนุนสถาบันการศึกษามีส่วนร่วมวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข

"โรคไตเรื้อรัง" ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพคนไทยมายาวนาน และนับเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมาต่อเนื่อง จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค พบว่า ปัจจุบัน 1 ใน 10 ของประชากรทั่วโลกมีการทำงานของไตผิดปกติ และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ล้านคน โดยมีสาเหตุมาจากการไม่ได้เข้ารับการรักษาโรคไตวายเรื้อรัง

ส่วนสถานการณ์ของโรคไตเรื้อรังในประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในปี 2565 พบว่า 1 ใน 25 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง กลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่

อีกทั้งยังพบจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 3 จำนวน 420,212 ราย ระยะ 4 จำนวน 420,212 ราย และระยะที่ 5 ที่ต้องล้างไตมากถึง 62,386 ราย

พัฒนานวัตกรรมชุดตรวจโรคไตแบบพกพา

ล่าสุดภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และทีมงาน ทำการวิจัย “โครงการพัฒนาระบบการคัดกรองโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้นในระดับปฐมภูมิด้วยชุดตรวจ albuminuria” และได้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคไตระยะเริ่มต้น แบบพกพาขึ้น

สำหรับการวิจัยโครงการดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวรส. เพื่อประเมินประสิทธิภาพของชุดตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในระยะเริ่มต้น และพัฒนาแนวทางการตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในรูปแบบเครื่องมือทดสอบ ณ จุดดูแลผู้ป่วย (Point of care testing) ซึ่งประกอบด้วยชุดตรวจคัดกรองโรคไต ระบบบันทึกข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนผู้ป่วย การจัดเก็บ ประมวลและรายงานผลแบบอัตโนมัติ

รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมการตรวจค่าการทำงานของไต และการแสดงแสดงผลค่าการตรวจ สามารถตรวจคัดกรองโรคไตได้ตั้งแต่ในระยะแรก นำไปสู่การวิจัยและการรักษาได้รวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนรู้ค่าอัลบูมิน (Albumin) ที่บ่งบอกถึงการเป็นโรคไตได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น 

ประโยชน์ของนวัตกรรมชุดตรวจโรคไต

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีแนวโน้มมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการวิจัยพัฒนารูปแบบนวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคไตแบบพกพา จะช่วยยกระดับการเข้าตรวจรักษาทางสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว และเพิ่มความมั่นคงในระบบสุขภาพ รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล และไม่สะดวกต่อการเดินทางไปรับบริการในโรงพยาบาล 

อีกทั้งยังสามารถนำชุดตรวจฯ ไปใช้ในภาคสนาม โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ขาดแคลนเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการได้อย่างสะดวก ทำให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตได้มากยิ่งขึ้น

นายกฯ ยินดีผลสำเร็จจากการวิจัยและพัฒนา

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคไตระยะเริ่มต้น แบบพกพาครั้งนี้

นับเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของสถาบันการศึกษา พัฒนาองค์ความรู้ทางด้านนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบสุขภาพของไทยได้ สอดคล้องกับนโยบายทางสาธารณสุขของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้ง เป็นอีกหนึ่งผลงานจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย