กรมควบคุมโรคเปิดแนวทาง 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ทำยังไง เช็คเลยที่นี่

10 มิ.ย. 2566 | 14:30 น.

กรมควบคุมโรคเปิดแนวทาง 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ทำยังไง เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลทุกอย่างไว้ให้แล้ว หลังประเทสไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝนทำให้มีน้ำขังตามภาชนะซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงแนวทางป้องกันโรคจากยุงลายเป็นพาหะด้วย 3 เก็บ ว่า ประกอบด้วย 

  • เก็บบ้านให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก 
  • เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ 
  • เก็บขยะภายในบริเวณบ้าน โรงเรียน และวัด เช่น ขวด กระป๋อง ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

"การดำเนินการดังกล่าวจะสามารถป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา" 

นอกจากนี้ ต้องช่วยกันปรับปรุงสิ่งแวดล้อม หรือทำกิจกรรม BIG CLEANING DAY เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถานที่ ให้ปลอดโปร่ง สะอาด ไม่ให้เป็นที่เกาะพักของยุง ซึ่งกรมควบคุมโรคได้กำหนดเป้าหมายในการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลาย 7 สถานที่ หรือ 7ร. ได้แก่ 

  • โรงเรือน(บ้าน) 
  • โรงเรียน 
  • โรงพยาบาล 
  • โรงแรม รีสอร์ท 
  • โรงงานอุตสาหกรรม 
  • โรงธรรม(วัด/มัสยิด/ศาสนสถาน) 
  • สถานที่ราชการ 

ซึ่งสถานที่ดังกล่าวมีการรวมตัวกันของประชาชนถือเป็นสถานที่เสี่ยงที่จะมีการระบาดของโรคไข้เลือดออก และจากผลการสำรวจนั้น พบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายสูงสุดในกลุ่มโรงธรรม และโรงเรียน

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2566 ประเทศไทยจะพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากขึ้นตามวงรอบของปีที่จะระบาด โดยในปีนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 มิถุนายน 2566 พบรายงานผู้ป่วยจำนวน 19,503 ราย คิดเป็นอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน 29.47 เสียชีวิต 17 ราย 

และจำนวนผู้ป่วยปี 2566 มากกว่า ปี 2565 ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 3.8 เท่า กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงที่สุด ได้แก่ อายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงที่สุดในช่วงเดือนที่ผ่านมา คือ จังหวัดตราด น่าน จันทบุรี แม่ฮ่องสอน และสตูล 
 

อย่างไรก็ดี ในช่วงฤดูฝนมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายและเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคได้  

อย่างไรก็ตาม ต้องป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยการทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง และหากประชาชนมีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง 

โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากมีไข้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะได้รับการรักษาที่เหมาะสม และช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้