ไข้เลือดออกระบาดพบ 5 เดือนป่วยพุ่ง 4.2 เท่า เสียชีวิต 15 ราย

09 มิ.ย. 2566 | 02:30 น.

ไข้เลือดออกระบาดพบ 5 เดือนป่วยพุ่ง 4.2 เท่า เสียชีวิต 15 ราย ชี้มีความน่ากังวลคนละแบบกับโควิด เหตุไข้เลือดออกมีการระบาดและมีความเสี่ยงเสียชีวิตในวัยเด็กและวัยทำงาน แม้ว่าจะเป็นคนที่แข็งแรง

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควมคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วงหน้าฝน ว่า ช่วงหน้าฝนมักจะพบกับการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งปีนี้ประเทศไทยเริ่มพบผู้ป่วยมากขึ้น เนื่องจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้โรคติดต่ออื่นสงบลง 

สำหรับปีนี้เมื่อถึงวงรอบของโรคระบาดอื่นๆก็จะพบผู้ป่วยกลับมา อย่างโรคไข้เลือดออก ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 พบว่า จำนวนผู้ป่วยสะสมในสัปดาห์ที่ 21 ของปี 2566 มีจำนวนมากกว่าปี2565 ในช่วงเวลาเดียวกันถึง 4.2 เท่า
 

ทั้งนี้ สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31พฤษภาคม 2566 พบรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น โดยพบผู้ป่วยจำนวน 18,173 ราย เสียชีวิต 15ราย กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มอายุ 5-14 ปี ป่วย 6,088 ราย อัตราป่วย 79.00 

รองลงมา 15-24ปี ป่วย 4,247 ราย อัตราป่วย 49.53 ส่วนจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงที่สุดในเดือนพฤษภาคม คือ ตราด น่าน จันทบุรี แม่ฮ่องสอน และระยอง 

อย่างไรก็ดี หากเทียบกับสถานการณ์โรคโควิด-19 อะไรมีความน่ากังวลมากกว่ากันนั้น มองว่ามีความน่ากังวลคนละแบบ เพราะโรคไข้เลือดออกมีการระบาดและมีความเสี่ยงเสียชีวิตในวัยเด็กและวัยทำงาน แม้ว่าจะเป็นคนที่แข็งแรง ดังนั้น จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วงที่เริ่มมีไข้ เพราะถ้าไข้ลงแล้วอาจเกิดอาการช็อกได้ 

ส่วนโควิด-19 ก็มีความกังวลในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่โควิด-19 มีวัคซีน แตกต่างจากไข้เลือดออกที่มีวัคซีน แต่ไม่ได้ใช้กว้างขวาง ส่วนใหญ่เน้นเป็นการป้องกันด้วยการกำจัดลูกน้ำยุงลาย แล้วถ้ามีอาการป่วย ก็ให้รีบไปตรวจวินิจฉัย รักษาโดยเร็ว เพื่อลดโอกาสเสียชีวิต