กทม.เตรียมขยายจำนวนเตียง รพ.ในสังกัดรองรับผู้ป่วยโควิด 19

07 มิ.ย. 2566 | 11:15 น.

ผอ.สำนักการแพทย์ กทม. เผยมาตรการเชิงรุกเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสังกัด กทม. สำรองเตียงรองรับจำนวนผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้น พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมพร้อมดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯที่อาจเพิ่มขึ้นว่า สนพ.ได้วางมาตรการเชิงรุกเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสังกัด กทม.โดยสำรองเตียงโรงพยาบาลในสังกัด กทม.และวชิรพยาบาล 224 เตียง

ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รับไว้รักษา 130 ราย คิดเป็นร้อยละ 58.04 (ข้อมูล ณ วันที่ 28 พ.ค.66) กรณีที่ผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนมีอัตราการครองเตียงถึงร้อยละ 80 จะขยายจำนวนเตียงเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ขณะเดียวกันได้สำรองยา Favipiravir Molnupiravir Paxlovid และ Remdesivir สำรองชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 (Antigen Test Kit : ATK) เตรียมพร้อมบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มศักยภาพการตรวจด้วยวิธี RT-PCR สามารถตรวจได้ประมาณ 2,200 ราย/วัน

นอกจากนี้ได้สำรองวัคซีนโควิด 19 โดยเฉพาะชนิด Bivalent เตรียมให้บริการประชาชนในสถานพยาบาลของ กทม. ตลอดจนเตรียมแผนการรับส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล โดยร่วมกับหน่วยงานสังกัด กทม.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อดำเนินการดังกล่าวและระบบบริหารจัดการเตียงแบบศูนย์รวม

ทั้งนี้ กทม.ได้ส่งเสริมความรู้ สร้างความเข้าใจและกระตุ้นเตือนให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด 19 หรือได้รับวัคซีนไม่ครบโดส ให้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปี (Annual Vaccination) จะเริ่มฉีดในปี 2566 เป็นปีแรก โดยฉีดปีละ 1 เข็ม โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อโควิด 19 ประชาชนกลุ่ม 608

กลุ่มคนที่ทำงานกับผู้ป่วย หรือกลุ่มเสี่ยง และเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น ระยะห่างจากเข็มสุดท้าย หรือประวัติการติดเชื้อครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 3 เดือน

ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 เบิกจ่ายตามสิทธิการรักษา ณ สถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนดโดยจองผ่านแอปพลิเคชัน QueQ ทั้ง 12 โรงพยาบาลสังกัด กทม.และนอกสถานที่ ได้แก่

  • ศูนย์การค้า MBK Center ชั้น 6 โดยโรงพยาบาลกลาง
  • ICS (ตรงข้ามไอคอนสยาม) ชั้น 3 โดยโรงพยาบาลตากสิน
  • Terminal 21 พระราม 3 ชั้น 4 โดยโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
  • วิคตอเรีย การ์เด้น บางแค ชั้น 1 โดยโรงพยาบาลราชพิพัฒน์
  • โรบินสันไลฟ์สไตล์ ลาดกระบัง ชั้น 2 โดยโรงพยาบาลสิรินธร

ส่วนสถานพยาบาล กทม.ยังคงเน้นย้ำมาตรการ DMH เพื่อป้องกันการติดเชื้อของประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่มารับบริการในโรงพยาบาลที่อาจมีความเสี่ยงรับเชื้อจากโรงพยาบาลไปยังบุคคลในครอบครัว โดยผู้ที่มารับบริการทุกรายต้องสวมหน้ากากอนามัย จัดจุดบริการเจลล้างมือ ทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางภายในโรงพยาบาลสม่ำเสมอ เพื่อป้องการติดเชื้อและสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี