เมื่อป่วยโควิดต้องกักตัวที่บ้าน (HI) ควรทำอย่างไร ไม่แพร่เชื้อคนในบ้าน

04 มิ.ย. 2566 | 20:46 น.

การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุดนี้ หลายคนมีอาการป่วยไม่มาก จึงตัดสินใจกินยาตามอาการและกักตัวเองที่บ้าน แม้จะทำเช่นนั้นได้ แต่ก็มีข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย

 

ก่อนไปถึง ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องทำ Home Isolation (HI) ซึ่งเป็น การรักษาตัวและกักตัวที่บ้าน เนื่องจากไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย เรามาเรียนรู้กันก่อนว่า ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แบบไหนที่เข้าเกณฑ์การทำ Home Isolation และโควิด-19 ติดต่อได้ทางไหนบ้าง

ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แบบไหนที่เข้าเกณฑ์การทำ Home Isolation

ตามข้อมูลของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นั้น ผู้ที่เข้าเกณฑ์การทำ Home Isolation คือ

  • เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ
  • เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี สุขภาพร่างกายแข็งแรง
  • เป็นผู้ติดเชื้อที่อยู่คนเดียว หรือมีผู้อาศัยร่วมด้วยไม่เกิน 1 คน
  • เป็นผู้ที่ไม่มีภาวะอ้วน (น้ำหนักตัวไม่เกิน 90 กิโลกรัม)
  • เป็นผู้ที่ยินยอมแยกกักตัวในที่พักของตัวเอง
  • เป็นผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวดังนี้ คือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง(ระยะที่3,4) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ รวมทั้งโรคอื่นๆ ตามดุลพินิจของแพทย์

การติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่ง ถือเป็นช่องทางหลักไม่ว่าจะผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือละอองฝอยจากผู้ป่วย

การแพร่เชื้อโควิด-19 สามารถติดต่อกันได้ผ่าน 2 ช่องทาง คือ

  1. การติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่ง (Droplet) ถือเป็นช่องทางหลักโดยคิดเป็นร้อยละ 80-90 ไม่ว่าจะผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือละอองฝอยจากผู้ป่วย
  2. การติดต่อผ่านการสัมผัส (Contact) การหยิบจับเอกสาร หรือสิ่งของส่งให้กัน ผู้ที่สัมผัสเชื้อเอามือไปสัมผัสใบหน้า จมูก ตา ปาก ซึ่งเป็นช่องทางในการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ

โดยปกติแล้ว โควิด-19 มีระยะเวลาในการแพร่เชื้อสูงสุด คือ ช่วง 2 วันก่อนที่จะมีอาการ ไปจนถึง 5 วันหลังมีอาการ หลังจากนั้นความเสี่ยงในการแพร่เชื้อจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ เมื่อระยะเวลาผ่านไป

ผู้ป่วยโควิดจะสามารถแพร่เชื้อได้มากในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเยอะ เช่น ไอมาก ไข้สูง ปอดอักเสบ น้ำมูกเยอะ ก็จะสามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าผู้ป่วยที่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการเลย แต่อีกกรณีคือ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง จะมีโอกาสในการแพร่เชื้อได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงในที่นี้ ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
  • เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี
  • ผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่ต้องล้างไต ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยากดภูมิ และผู้ป่วย HIV (ที่มี CD4 ต่ำกว่า 200 / ผู้ป่วยขาดยา)

สำหรับกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง จะสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่าปกติ ในบางรายสามารถแพร่เชื้อได้นานมากกว่า 30-50 วัน

เมื่อติดโควิด ต้องกักตัวอยู่บ้าน ต้องเตรียมอะไรบ้าง

  • อุปกรณ์ทานอาหารส่วนตัว ควรแยกกับคนอื่น (ช้อนส้อม จานชาม แก้วน้ำ)
  • ถุงขยะแยกสีสำหรับแยกขยะติดเชื้อ
  • หน้ากากอนามัย ควรสวมตลอดเวลาเมื่อไม่ได้อยู่คนเดียว
  • ยาสามัญประจำบ้าน เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น ยาลดไข้ เจลลดไข้ ยาแก้เจ็บคอ ยาแก้ไอ
  • สบู่ เจลล้างมือ ควรล้างมืออย่างสม่ำเสมอ
  • แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ 70% สำหรับเช็ดหลังสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ เช่น ลูกบิด ราวบันได
  • ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจน ทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้ส่งให้ พร้อมคำแนะนำการใช้งาน
  • ของใช้ส่วนตัวอื่นๆ แยกไว้ใช้ส่วนตัวเท่านั้น เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า

ใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ 70% สำหรับเช็ดหลังสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ เช่น ลูกบิด ราวบันได

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องทำ Home Isolation

  • ผู้ติดเชื้อไม่ว่ามีอาการมากหรืออาการน้อย ควรแยกตัวอยู่ในห้องคนเดียว เป็นระยะเวลา 7-10 วัน
  • แยกการใช้ห้องน้ำส่วนตัว (ถ้าเป็นไปได้) ในกรณีที่ต้องใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่นในบ้าน ให้ใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย แล้วทำความสะอาด ปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกดชักโครก
  • หลีกเลี่ยงการพูดคุยกับคนในบ้านโดยที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย
  • รับประทานอาหารคนเดียว ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น แยกของใช้ส่วนตัว ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน
  • ติดต่อผู้อื่นในบ้านให้น้อยที่สุด หากต้องพูดคุยกันให้รักษาระยะห่างอย่างน้อย 1.5 – 2 เมตร  โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  • ไม่อยู่รวมกันกับผู้อื่นในบ้าน พื้นที่อับอากาศ หรือห้องที่ปิดมิดชิด ควรจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี

ผู้ป่วยโควิดที่กักตัวที่บ้าน เมื่อครบ 10 วันแล้ว หากยังมีอาการไอ ไอมีเสมหะปนเลือด ไข้ขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง รู้สึกเหนื่อยมากขึ้น ท้องอืด ท้องเสีย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม