เตือน เภสัชกร "แขวนป้าย" ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่มีโทษพักใบอนุญาต 2 ปี

24 พ.ค. 2566 | 08:00 น.

สภาเภสัชกรรม ประกาศเตือนเภสัชกรรายใด "แขวนป้าย" ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ร้านขายยา มีบทลงโทษพักใช้ใบอนุญาตฯ เป็นเวลา 2 ปี หลังพบประชาชนร้องเรียนปี 2566 สูงสุดเป็นอันดับ 1

24 พฤษภาคม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาเภสัชกรรม อาคารมหิตลาธิเบศร ภก.ดร.สุวิทย์ ธีรกุลชน อุปนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวภายในการเปิดบ้านพูดคุยปัญหาสินค้าด้านสุขภาพเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องว่า ที่ผ่านมาพบปัญหาจำนวนมากในการใช้สินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ และหลายคนก็เชื่อว่า ข้อมูลเหล่านี้เป็นความจริง

สภาเภสัชกรรม มีบทบาทในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งในเรื่องการใช้ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เครื่องสำอาง ดังนั้น หากสงสัยหรือไม่แน่ใจการใช้ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ ก็สามารถเข้าถึงเภสัชกรประจำร้านขายยาที่มีเภสัชกรทุกร้าน หรือโรงพยาบาล ซึ่งมีเภสัชกร หรือโทรสอบถามที่สภาเภสัชกรรม จะมีระบบให้ฝากข้อมูลซึ่งจะติดต่อกลับอีกครั้ง ทั้งยังมีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งจุฬาฯ มหิดล มีระบบให้เข้ามาเว็บไซต์หาข้อมูลได้ด้วย

สำหรับปีนี้ สภาเภสัชกรรม มีมติให้เพิ่มบทลงโทษพักใช้ใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม กรณีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (แขวนป้าย) หลังการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนในร้านขายยาแผนปัจจุบัน (GPP) ได้บังคับใช้เต็มรูปแบบ

 

ภก.ดร.สุวิทย์ ธีรกุลชน อุปนายกสภาเภสัชกรรม

โดยสภาเภสัชกรรมจะวางบทลงโทษพักใช้ใบอนุญาตฯ เป็นเวลา 2 ปี สำหรับเภสัชกรที่กระทำความผิด ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์การพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2563

ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นเภสัชกรมีพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำความผิดทางจรรยาบรรณวิชาชีพ สามารถแจ้งเพื่อดำเนินการสอบสวนพิจารณาโทษทางจรรยาบรรณวิชาชีพ สามารถดาวน์โหลดเอกสาร สส1. แบบการแจ้งเรื่องกล่าวหาหรือกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ได้ที่ https://bit.ly/3AGaQV2 หรือแจ้งสายด่วน

ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โทร . 1556" ภก.ดร.สุวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ เภสัชกรจะต้องอยู่ประจำร้านยาอย่างน้อย 3 ชั่วโมงที่เป็นระยะเวลาปฏิบัติการ และขึ้นกับว่าแจ้งแบบไหน ถ้าแจ้งว่า ปฏิบัติการในร้าน 3 ชั่วโมงก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่จะไม่สามารถไปทำอีกร้านได้ ต้องประจำร้านใดร้านหนึ่ง

ยกเว้นบางกรณีที่ผู้ปฏิบัติการไม่อยู่แล้วขอคนอื่นมาช่วยแทนเป็นบางครั้ง เช่น ลาป่วย ไปทำธุระ ก็ให้แจ้งชื่อ อย.ไปว่าขอคนนี้มาเป็นตัวแทน ซึ่งก็จะแทนร้านนั้นร้านนี้ได้ แต่ว่าแทนเฉพาะช่วงเภสัชกรคนนั้นไม่อยู่ 

ส่วนกรณีเภสัชกรเปิดร้านยาเองก็ตาม อาจเปิดได้หลายร้านในฐานะผู้รับอนุญาต แต่ผู้ปฏิบัติการในร้านก็ต้องเป็นได้แค่ร้านเดียว หากเปิดหลายร้านก็ต้องไปจ้างมาเพิ่ม โดยหลักการเปิดร้านยาต้องมีเภสัชกรอยู่แล้ว ที่บอกว่าเภสัชกรไม่พอ จริงๆ แล้วพอ แต่อยู่ที่ว่าจะไปอยู่หรือไม่ 

ภก.ดร.สุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาประมาณ 100 กว่าคดี

อันดับที่ 1 คือ เภสัชกรแขวนป้าย ไม่อยู่ประจำร้านขายยา ไม่ปฏิบัติหน้าที่

อันดับ 2 โฆษณาในสื่อโซเชียลมีเดีย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการพิจารณามาเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการตักเตือนมากกว่า อย่างไรก็ตาม บทลงโทษเกี่ยวกับวิชาชีพก็จะมีตั้งแต่ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต ตั้งแต่ 3 เดือน หรือ 2 ปี ไปจนถึงเพิกถอนใบอนุญาต ภก.ดร.สุวิทย์ กล่าว