เตือน!ไม่ออกกำลังกายเสี่ยงหัวใจเหี่ยวลีบ เล็ก วาย

27 เม.ย. 2566 | 03:32 น.

เตือน!ไม่ออกกำลังกายเสี่ยงหัวใจเหี่ยวลีบ เล็ก วาย หมอธีระวัฒน์ชี้ปกติคนจะสนใจแต่การที่มีหัวใจโต ไม่ว่าจะตรวจจากการเอกซเรย์ปอดซึ่งดูรูปพรรณสัณฐานของหัวใจ แนะลุกยืนและเริ่มเดินให้ได้ถึง 10,000 ก้าวต่อวัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสเฟซบุก๊ส่วนตัว (ธีระวัฒน์เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha) โดยมีข้อความระบุว่า การขาดการออกกำลัง จะทำให้หัวใจเหี่ยวลีบ เล็ก และวายได้

หมอธีระวัฒน์ให้มุมมองว่า ปกติแล้ว คนเราสนใจแต่การที่มีหัวใจโต ไม่ว่าจะตรวจจากการเอกซเรย์ปอดซึ่งดูรูปพรรณสัณฐานของหัวใจได้ จวบจนกระทั่งการดู เอคโค่ หัวใจ (echocardiogram) ที่บอกขนาด ความหนาของผนังหัวใจ และแรงดันในช่องต่างๆ จนกระทั่ง ความผิดปกติของการบีบตัวและคลายตัวของหัวใจ

ซึ่งทั้งหมอดังกล่าวนำไปสู่สภาวะหัวใจวาย โดยที่การบีบตัวของหัวใจห้องล่างไม่เพียงพอหรือน้อยเกินไปที่จะส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ได้ทำให้เกิดอาการเหนื่อยน้อยๆก่อน จนไปถึงมาก แบบที่อยู่เฉยๆก็เหนื่อย และมีน้ำคั่งเกิดน้ำท่วมปอด รวมถึงหัวใจห้องขวาอ่อนแอและเกิดการบวมกดบุ๋มที่ขาแข้ง นอกจากนี้ยังมีความผิดปกติที่กล้ามเนื้อหัวใจคลายตัวไม่ดีด้วย

หมอธีระวัฒน์ บอกว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงผลตามที่สะสมมาเนิ่นนานจากโรคเมตาบอลิก อ้วนลงพุง ความดันสูง ไขมัน และมลพิษทั้งหลาย จนเกิดมีเส้นเลือดตีบในอวัยวะต่างๆรวมทั้งหัวใจและสมอง เป็นต้น
 

หมอธีระวัฒน์ ได้ยกตัวอย่างเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่ระบุว่า เป็นเรื่องที่พบมานานแล้ว แต่อาจไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไหร่ จนกระทั่งมีรายงาน ในวารสารของวิทยาลัย โรคหัวใจของอเมริกา (Journal of the American College of Cardiology) เมื่อวันที่ 5 กันยายนปี 2022 นี่เอง

ผู้รายงานมาจากสถาบันวิจัยทางหัวใจของออสเตรเลีย และชี้ให้เห็นประเด็นของหัวใจวายอีกกลุ่มที่ดูเหมือนว่าการบีบตัวของหัวใจห้องล่างทางด้านซ้ายจะยังดูปกติ แต่ขนาดของหัวใจเล็กลง ดังนั้น เมื่อหัวใจเล็กลง แต่ละครั้งที่หัวใจบีบตัว ก็จะส่งเลือดได้น้อยลงมาก เช่น เหลืออยู่เพียง 60 ซีซี 

ดังนั้น การที่จะทำให้ได้ปริมาณถึงนาทีละ 9 ลิตร เพื่อทำให้ทั้งมีชีวิตอยู่ได้และต้องสามารถออกกำลังได้ไม่หอบมาก หัวใจดวงนั้น ก็ต้องเต้นเร็วขึ้นมาก กลายเป็นเต้นนาทีละ 150 ครั้ง แต่ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี

เปรียบเสมือนกับรถบรรทุก แต่ใช้เครื่องมอเตอร์ไซค์ขนาด 50 ซีซี และทนงานไม่ไหว

งานวิจัยยังระบุอักด้วยว่า ประเด็นสำคัญก็คือ การที่มีหัวใจเล็ก เกิดเนื่องจากการขาดการออกกำลังเรื้อรัง หรือ ที่เรียกว่า chronic exercise deficiency และเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกลุ่มหัวใจวายที่สัดส่วนของการบีบตัว ของหัวใจห้องล่าง ยังดู เหมือนปกติ ที่ชื่อ heart failure with pre served ejection fraction (HFpEF) และทำให้ความฟิตความอึด เวลาที่ออกแรงหรือออกกำลังกาย เริ่มน้อยถอยลงตามลำดับ

ในปัจจุบัน มีข้อพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า การออกกำลังจะช่วยประสิทธิภาพที่เมื่อมีการเคลื่อนไหว ออกแรง จะเพิ่มความอึดขึ้น (cardiores piratory fitness) โดยที่การออกกำลัง จะทำให้เนื้อเยื่อหัวใจเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม การบีบตัวแต่ละครั้ง (stroke volume) จะได้ปริมาณเลือดที่ดี และเมื่อคิดปริมาณเลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกายในเวลา 1 นาทีก็เพียงพอ และแถมยังมีอัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุดของร่างกายในขณะออกกำลังสูงขึ้น จึงทำให้อึดขึ้น ทนขึ้น เป็นเงาตามตัวไป

และแน่นอนเมื่อขาดการออกกำลังเป็นระยะเวลาเนิ่นนาน ผลที่ได้จะเป็นตรงกันข้าม หน้ามือเป็นหลังมือ 

เมื่ออายุมากขึ้น หัวใจจะมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมและแข็งขึ้นอยู่แล้ว ยิ่งไม่ได้ออกกำลังมาเลยตั้งแต่เด็กตั้งแต่วัยกลางคน ยิ่งไปกันใหญ่ แต่ถ้ากลับตัวแต่เนิ่นๆ ก็สามารถปรับสภาพได้

หมอธีระวัฒน์ ยังได้หยิบยกการศึกษาในปี 1968 ที่ชื่อว่า Dallas Bed Rest Studies ซึ่งได้ทำการทดสอบผลของการที่นอนอยู่บนเตียงเป็นส่วนใหญ่ 21 วัน หลังจากนั้นตามด้วยการออกกำลังสองเดือน ที่มีรูปแบบและแบบแผนชัดเจน รวมทั้งมีการประเมินความสมบูรณ์ของหัวใจและระบบหายใจในการใช้ออกซิเจนสูงสุด
หลังจากที่ไม่ทำอะไร นอนเฉื่อยอยู่บนเตียง 

พบว่าส่งผลกระทบ ทำให้การทำงานของหัวใจลดน้อยถอยลง และประสิทธิภาพขณะออกกำลังด้อยลงอย่างน่าใจหาย อย่างไรก็ตาม การออกกำลังแบบแอโรบิก สามารถที่จะทำให้การทำงานในระบบที่กล่าวมาทั้งหมด กลับมาคืนดีได้ภายในระยะเวลา 15 ถึง 30 วัน

โดยเป็นที่สังเกตว่าอาสาสมัครที่ไม่ค่อยจะมีลักษณะของนักกีฬาเท่าไหร่ กลับมีประสิทธิภาพเพิ่มพูนขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ออกแนวนักกีฬาด้วยซ้ำ

และต่อมาอีก 30 ปี ได้มีการทดสอบอาสาสมัครเหล่านี้อีก ผลปรากฏว่า ลักษณะการด้อยลงของการใช้ออกซิเจนสูงสุดขณะออกกำลังมีระดับเหมือนกับตอนที่ให้นอนอยู่บนเตียงสามอาทิตย์ แสดงให้เห็นว่าความเฉื่อยแฉะ นิ่งเฉยไม่ค่อยเคลื่อนไหว แม้เป็นเพียง ระยะเวลาสั้นๆ กลับส่งผลอย่างใหญ่หลวง

กลุ่มอาการหัวใจเล็กเนื้อหัวใจแข็ง น่าจะพบมากขึ้นเรื่อยๆ ไปพร้อมๆกับกลุ่มที่มีหัวใจโต อ่อนตัว ฟลอปปี (floppy)

ไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ต่างมีรากฐานมาจากพฤติกรรมเฉื่อยชา ทอดหุ่ย และเกิดโรคต่างๆ ตามมาอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว และแน่นอน สุขภาพกายที่ย่ำแย่ส่งผลไปอย่างแน่นอน ถึงสมองทำให้สมองเสื่อมเร็วกว่ากำหนดที่เคยเห็นกันที่อายุ 60

หมอธีระวัฒน์ บอกอีกว่า มีปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียว เช่น พุงโต หรือความดัน หรือไขมัน หรือมีเส้นเลือดตีบ ทำให้สมองเสื่อมก่อนวัยได้อย่างแน่นอน

"ลุกยืนและเริ่มออกกำลังเดินให้ได้ถึง 10,000 ก้าวต่อวัน อยู่ในที่ทำงานเดินไปได้ประมาณสี่ถึง 5,000 ก้าว เดินต่อให้ครบ ตากแดดด้วยจะยิ่งดีใหญ่ และใกล้มังสวิรัติ ลดแป้ง ทานปลาได้จะดีที่สุด" หมอธีระวัฒน์แนะนำ