"โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16" ระบาดในไทยกี่ราย ทั่วโลกเท่าไหร่ เช็คที่นี่

24 เม.ย. 2566 | 10:59 น.

"โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16" ระบาดในไทยกี่ราย ทั่วโลกเท่าไหร่ เช็คที่นี่มีคำตอบ หลังศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดีได้วิเคราะห์ข้อมูลรหัสพันธุกรรมจากฐานข้อมูลโควิดโลก

เพจ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดีได้วิเคราะห์ข้อมูลรหัสพันธุกรรมจากฐานข้อมูลโควิดโลก "จีเสส (GISAID)" ระบุว่า ดร. อริจิตต์ จักรวารตี (Arijit Chakravarty) จากสถาบัน Fractal Therapeutics ในเมืองเล็กซิงตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ร่วมมือกับนักวิจัยจากสถาบันต่างๆ ศึกษาข้อจำกัดของการพึ่งพาวัคซีนเพียงอย่างเดียวในการควบคุมแลtหยุดยั้งการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 

ทั้งนี้ สรุปว่าอัตราการแพร่เชื้อโควิด-19 ที่สูงมากขณะนี้สามารถนำไปสู่การกลายพันธุ์เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ได้ แม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนกันอย่างแพร่หลายในกลุ่มประชากรทั่วโลกยังไม่พอเพียง 

จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำมาตรการอื่นมาผนวกรวมด้วย เช่น กินร้อน ช้อนกลาง ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม การใช้ยาต้านไวรัส และแอนติบอดีสังเคราะห์ ฯลฯ เพื่อลดระดับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลงอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับประเทศที่ใช้หลายมาตรการเข้ามาช่วยควบคุมการระบาดของโควิด-19 เช่น ญี่ปุ่น และไทย จะมีอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ค่อนข้างต่ำ คือ 0.2% และ 0.7% 

โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 ระบาดในไทยกี่ราย ทั่วโลกเท่าไหร่

ในขณะที่ประเทศที่ใช้มาตรการอย่างไม่เคร่งครัด เช่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ จะมีอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ค่อนข้างสูง คือ 1% และ 0.9% 

อย่างไรก็ดี ข้อมูลการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม จากฐานข้อมูลจากจีเสส เมื่อวันที่ 24 เม.ษ. 2566 พบว่า

-XBB.1.16 (การกลายพันธุ์ตำแหน่งที่จำเพาะ S:E180V, S:478R) โดยทั่วโลกพบ 3,439 คน ประเทศไทยพบ 24 คน

รุ่นลูก

-XBB.1.16.1 (S:T547I) ทั่วโลกพบ 909 คน ประเทศไทยพบ 1 คน

รุ่นหลาน

-XBB.1.16.1.1 (T3802C): นามแฝง FU.1 ทั่วโลกพบ 122 คน ประเทศไทยยังไม่พบ

-XBB.1.16.1.2 (C8692T): นามแฝง FU.2 ทั่วโลกพบ 68 คน ประเทศไทยยังไม่พบ

-XBB.1.16.2 (ORF3a:V13L, ORF1a:P926H) ทั่วโลกพบ 232 คน ประเทศไทยพบ 6 คน

-XBB.1.16.3 (A2893C) ทั่วโลกพบ 72 คน ประเทศไทยพบ 1 คน

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มประเทศ อาเซียนคาดว่า สิงคโปร์จะมีการระบาดของโอไมครอนลูกผสมสายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 มากที่สุด 

ส่วนโอไมครอน XBB.1.16 รุ่นลูก หรือรุ่นหลานจะกลายพันธุ์ก่อให้เกิดอาการติดเชื้อรุนแรงหรือไม่ คงต้องเฝ้าติดตาม