“ฉันชาย สิทธิพันธุ์” แนะยกเครื่องระบบสุขภาพไทย ดัน HiAP

24 ก.พ. 2566 | 05:03 น.

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ แนะช่องทางการบูรณาการระบบสุขภาพไทย ต้องยกเครื่องใหม่รับอนาคต ทั้งระบบสาธารณสุข สวัสดิการ และการใช้จ่ายงบประมาณ ดัน HiAP

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยในงานสัมมนา Than x Forum 2023 Health & Wellness Sustainability เรื่องความท้าทาย : การบูรณาการระบบสุขภาพไทย จัดโดยฐานเศรษฐกิจ ว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทย เพื่อให้อัตราการมีสุขภาพดีก่อนเสียชีวิตของคนไทยดีมากขึ้น ทั้งระบบสาธารณสุข สวัสดิการ และการใช้จ่ายงบประมาณ 

ชมคลิปการบรรยายพิเศษ ความท้าทาย : การบูรณาการระบบสุขภาพไทย โดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพิ่มสัดส่วนคนไทยอยู่นานสุขภาพดี

สำหรับปัจจุบันระบบบริการสุขภาพของไทยมีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ใช่แค่การป่วยแล้วไปหาหมอ แต่รวมไปถึงระบบการดูแล และระบบการจ่ายเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนอย่างเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะกาย และจิตที่ดี ผ่านกระบวนการสร่างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาโรค ฟื้นฟูการทำงานของร่างกาย และกระบวนการสร้างความแข็งแกร่งและพร้อมของระบบในการรับมือโรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ และภัยพิบัติ

รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า สิ่งสำคัญในเรื่องของสุขภาพตอนนี้ต้องมองในเรื่องของความเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานทางด้านสาธารณสุข และอีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้เกิดขึ้นให้ได้คือ Health Span หรือ การมีชีวิตอยู่ด้วยสุขภาพที่ดีก่อนเสียชีวิต โดยไม่ใช่แค่การมีชีวิตอยู่นานขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องอยู่นานและอยู่อย่างดี 

“ปัจจุบันประเทศไทยยังมีตัวเลข Health Span สั้น โดยคนไทยอายุเฉลี่ยเกือบ ๆ 80 ปี ซึ่งเฉลี่ยแล้วคนไทยจะมีเวลาเฉลี่ย 5 ปีที่สุขภาพไม่ดีและทุกข์ทรมาน ดังนั้นทุกหน่วยงานต้องหาทางแก้ปัญหาให้คนไทยอยู่นาน และมีสุขภาพที่ดีคู่กันไปด้วย” 

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ระบบสุขภาพรัฐดูแลคนไทยทั้งประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นต้นแบบด้านระบบการดูแลสุขภาพ เพราะประชากรกว่า 99% อยู่ภายใต้การคุ้มครองในระบบดูแลสุขภาพ ทั้งพ.ร.บ.สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการ 8% พ.ร.บ.ประกัน 17% และพ.ร.บ.หลักระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 73% ซึ่งคนส่วนใหญ่จะถูกดูแลด้วย 3 ระบบนี้ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงการบริการสุขภาพแบบพื้นฐาน และไม่ให้คนไทยล้มละลายเพราะการเจ็บป่วย

สำหรับภาวะล้มละลายเพราะป่วย ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีคนไทยที่ต้องล้มละลายหลังจากต้องดูแลสุขภาพตัวเองน้อยลงเรื่อย ๆ หลังจากประเทศไทยมีระบบการดูแลสุขภาพขึ้นมาทั้ง 3 ระบบ โดยปัจจุบันอัตราการล้มละลายส่วนใหญ่เป็นเพราะการเข้าไปรักษาสุขภาพในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินจริง

บทเรียนสาธารณสุขไทยจากโควิด-19

รศ.นพ.ฉันชาย ยอมรับว่า ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 สะท้อนให้เห็นปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นกับระบบสาธารณสุขของไทย เช่น ระบบรองรับผู้ป่วยที่จำกัด การบริหารจัดการเตียง ค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการติดเชื้อที่สูงในรายที่เข้าไปรับบริการจากโรงพยาบาลเอกชน แต่ทั้งหมดก็ทำให้การสาธารณสุขของไทยได้เรียนรู้ และมีบทเรียนที่สามารถนำมาปรับใช้ในระยะต่อไป

ขณะเดียวกันยังสามารถเตรียมตัวรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และจะกระทบต่อระบบสาธารณสุขของไทยในอนาคต เพราะปัจจุบันระบบสาธารณสุขของไทยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่าย และมีปัญหาสุขภาพด้านอื่นที่ที่จะเกิดขึ้นนอกเหนือจากการเจ็บป่วยจากเชื้อโรคเพียงอย่างเดียว ทั้ง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ขยะล้นโลก โรคอุบัติใหม่ ภาวะโลกร้อน อาหารขยะ โรคเรื้อรัง และสังคมสูงวัย

 

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เสนอแก้ปัญหาสุขภาพต้องมาก่อน

ทั้งนี้ในแนวทางการรองรับปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านมามีแนวคิดสำคัญ คือ Health in All Policy หรือ HiAP ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำทุกนโยบายโดยให้ความห่วงใยสุขภาพเป็นลำดับแรก ซึ่งประเทศไทยไทยมีเรื่องนี้มา 15 ปีแล้ว เนื้อหาสำคัญนั้นคือ รัฐจะทำนโยบายอะไรต้องคิดเรื่องของสุขภาพก่อน 

โดยเรื่องนี้ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมกันช่วยขับเคลื่อนช่วยกันคิดให้ดีว่าการทำนโยบายต่าง ๆ จะต้องไม่ขัดต่อเรื่องสุขภาพของคนไทย และสร้างสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้นโดยที่ไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายที่ทำ หากทำได้จริงเรื่องนี้จะช่วยต่อยอดให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ในอนาคตได้

 

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ค่าใช้จ่ายสุขภาพคนไทยแซงจีดีพี

ส่วนต่อมานั่นคือการแก้ปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทย คิดเป็นสัดส่วน 5% ต่อจีดีพี ในขณะที่รายจ่ายของรัฐบาลที่ใช้ดูแลสุขภาพประชาชน อยู่ที่ 16-18% ต่อจีดีพี ปัจจุบันแม้อัตราการขยายตัวของจีดีพีจะปรับเพิ่มเพิ่ม แต่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพกลับแซงหน้าการเติบโตทางเศรษฐกิจไปแล้ว และในอนาคตมีความเสี่ยงว่าจะเกิดความไม่ยั่งยืน หลังจากไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ

อีกตัวอย่างคือ ความเหลื่อมล้ำ เช่น สิทธิบัตรทอง ปัจจุบันมีคนใช้งาน 48 ล้านคน ใช้เงินไปทั้งสิ้น 1.14 แสนล้านบาท แต่เมื่อมาดูสิทธิของข้าราชการที่มีสัดส่วนคนน้อยกว่า 10 เท่า แต่กลับใช้เงินสูงถึง 6.6 หมื่นล้าน เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อไม่ให้กระทบต่อฐานะการเงินของรัฐในอนาคต

“ตอนนี้ทั้ง 3 กองทุนมีความซ้ำซ้อนกัน ในอนาคตต้องมีการปรับ ยกเครื่องระบบประกันสุขภาพใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพ ให้ 3 กองทุนมีความเท่าเทียมกัน เกิดประสิทธิภาพในการดูแลสูงสุด และในอนาคตอาจมีการร่วมจ่าย แม้จะมีการคัดค้านกันมาก และนักการเมืองไม่กล้าทำเพราะกลัวเสียคะแนนเสียง แต่จริง ๆ แล้วมีประเด็นสำคัญ คือทำอย่างมีระบบและเป็นธรรม โดยต้องมองการใช้จ่ายทางด้านเป็นการลงทุนไม่ใช่ต้นทุนด้วย”

 

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย