กรมวิทย์ เตรียมพร้อมแล็บ BSL 3 ตรวจไวรัสมาร์บวร์ก ทราบผลใน 8 ชม.

20 ก.พ. 2566 | 13:25 น.

กรมวิทย์ เตรียมพร้อมแล็บ BSL 3 ตรวจเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก หากพบป่วยสงสัย เผย รู้ผลภายใน 8 ชม. ย้ำเชื้อไม่แพร่ทางอากาศ

จากข้อมูลการระบาดของเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นการระบาดที่มีรายงานเป็นครั้งแรกในประเทศสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี (Equatorial Guinea) มีผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 9 ราย และมีผู้ป่วยยืนยันแล้วถึง 25 ราย

ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานการระบาดครั้งใหญ่ในประเทศสาธารณรัฐคองโกและแองโกลา โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กมีอาการรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงใกล้เคียงกับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังการระบาดครั้งนี้อย่างใกล้ชิดนั้น  

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข มีการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์การระบาดโรคติดต่อร้ายแรงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในเดือนตุลาคม 2565 โดยเชื้อไวรัสมาร์บวร์กนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสอีโบลา

มีลักษณะการก่อโรคที่คล้ายกัน ในการดำเนินการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการจึงมีความใกล้เคียงกัน โดยจะใช้การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยเทคนิคทางอณูชีววิทยาที่มีความไวและความจำเพาะสูง (RT PCR) สามารถทราบผลภายใน 8 ชั่วโมง หลังได้รับตัวอย่าง 

การดำเนินงานกับตัวอย่างจะใช้ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 (Biosafety level 3 (BSL-3) laboratory) ซึ่งมีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติงานกับเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคที่มีอันตรายสูง มีระบบการไหลเวียนที่ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้ออันตรายแพร่กระจายออกมาสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก บุคลากรผ่านการฝึกอบรมความปลอดภัยทางชีวภาพ ให้มีความพร้อมรับสถานการณ์การระบาด และสามารถปฎิบัติงานกับสิ่งส่งตรวจได้อย่างถูกต้องปลอดภัย 

ดังนั้น จึงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ และประชาชนได้เป็นอย่างดีว่า จะไม่มีเชื้อโรคอันตรายเล็ดลอดสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เตรียมวิธีการตรวจที่ประกอบด้วยน้ำยาที่จำเพาะที่เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัย สำหรับตรวจสารพันธุกรรมไวรัสก่อโรคไข้เลือดออกรุนแรง มาร์บวร์ก รวมทั้ง อีโบลา ไข้ลาสซา ไว้ครบ

ในกรณีที่พบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กในสถานพยาบาล ให้เจ้าหน้าที่ประสานกองระบาดวิทยา สำนักงานป้องกันและควบคุมโรค หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อสอบสวนโรคและวางแผนประสานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการรับตัวอย่างส่งตรวจซึ่งใช้เลือด (EDTA Whole Blood) ในการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส และน้ำเหลือง (Serum) กรณีตรวจหาภูมิต่อเชื้อไวรัส

โดยรายละเอียดและคำแนะนำวิธีปฏิบัติในจัดการสิ่งส่งตรวจ สามารถศึกษาได้จากคู่มือการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา และไวรัสทางเดินหายใจตะวันออกกลางทางห้องปฏิบัติการ และคู่มือเครือข่ายห้องปฏิบัติการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อห้องปฏิบัติการโรงพยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะนำไปใช้อ้างอิงในการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ ขอประชาชนอย่าวิตกจนเกินไปเพราะการติดต่อไม่ง่ายต้องเป็นการสัมผัสใกล้ชิดอย่างมาก ไม่พบการติดต่อทางฝอยละอองหรือทางอากาศ และผู้มีอาการส่วนใหญ่มักเป็นผู้ป่วยหนัก ไม่สามารถออกมาแพร่เชื้อได้มากนัก