สรุป 10 บทเรียนจาก "โควิด-19" ก่อน game over

20 ก.พ. 2566 | 09:30 น.

"หมอยง" สรุป 10 บทเรียนจาก "โควิด-19" ชี้ปีนี้ game over ขณะที่องค์การอนามัยโลกเลิกนับตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อ ด้านไทยเตรียมเข้าสู่วงจรการระบาดตามฤดูกาล 

นับตั้งแต่วันที่คนไทยได้รู้จักกับเชื้อไวรัสร้ายอย่าง โควิด -19 จนถึงปัจจุบันเราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้กันบ้าง โดย หมอยง หรือ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ได้โพสต์ข้อความเรื่อง "โควิด-19 ระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาองค์ความรู้แสดงให้เห็นความจริงต่าง ๆ" โดยระบุข้อความว่า ตามที่ได้เคยกล่าวไว้ในอดีต จะเห็นได้ว่าความจริงต่างๆ ได้เริ่มปรากฏชัดขึ้น ดังนี้

1.วิวัฒนาการของไวรัสเป็นไปเพื่อความอยู่รอด ดังนั้น ไวรัสจะปรับตัวเพื่อลดความรุนแรงลงให้อยู่ร่วมกันกับเจ้าบ้านได้ ความรุนแรงของโควิด-19 จึงลดลงมาโดยตลอดจากอัตราตายสูง 3-5% จนขณะนี้เหลือน่าจะน้อยกว่า 0.1% เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่

2.โรคที่มีความรุนแรงสูง เช่น Ebola, Marburg, Lassa โอกาสที่จะระบาดไปทั่วโลกเป็นไปได้ยาก ตรงข้ามกับโรคที่มีความรุนแรงต่ำ เช่น ไข้หวัดใหญ่, โควิด-19 สามารถระบาดไปทั่วโลกได้

3.วัคซีนแต่ละชนิดไม่แตกต่างกัน

มีการเรียกร้องวัคซีน mRNA ที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูง และมีผลการทดลองเป็นเพียงระยะสั้น ประสิทธิผลในระยะสั้นเท่านั้น เมื่อติดตามในระยะยาวแล้วภูมิต้านทานลดลงเร็ว และไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ถ้าดูอัตราการเสียชีวิตของแต่ละประเทศและวัคซีนที่ฉีดก็จะเห็นได้ชัด

เมื่อประชากรส่วนใหญ่ติดเชื้อไปแล้ว อัตราการเสียชีวิตในประเทศที่ฉีด mRNA ล้วน ก็ไม่ได้ต่ำกว่าประเทศที่ไม่ได้ฉีด ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงไม่มีวัคซีนเทพ วัคซีนขณะนี้หลายบริษัทได้ลดการผลิตหรือเลิกการผลิต

4.การระบาดของโรคที่สงบลงขณะนี้ เพราะประชากรส่วนใหญ่ ติดเชื้อไปแล้ว โดยแต่ละประเทศเชื่อว่าติดเชื้อไปแล้วมากกว่าร้อยละ 70 จึงทำให้การระบาดของโรคทุเลาลง

5.ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ ร่วมกับการฉีดวัคซีน จะเป็นภูมิต้านทานที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และอยู่นานเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนอย่างเดียว

6.ทิศทางการระบาด เมื่อโรคเข้าสู่โรคประจำฤดูกาล ฤดูกาลในการระบาดจะเหมือนกับไข้หวัดใหญ่หรือโรคทางเดินหายใจทั่วไป

7.ความจำเป็นของวัคซีนในอนาคต จะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ จะมุ่งเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง ในคนที่แข็งแรงดีและเคยติดเชื้อมาแล้ว ถึงแม้จะติดเชื้อซ้ำอีก อาการก็จะไม่รุนแรง

8.การแก้ปัญหาโรคระบาด ถ้าย้อนเวลาได้เราควรใช้องค์ความรู้นำ สร้างองค์ความรู้ มากกว่าที่จะไปตามกระแส หรือแรงกดดันจากสื่อสังคม

9.ในปีนี้จะต้องถือว่า game over เชื่อว่า องค์การอนามัยโลกคงจะเลิกนับตัวเลข เพราะตัวเลขที่รายงานขององค์การอนามัยโลกและของทุกประเทศการติดเชื้อต่ำกว่าความเป็นจริงมาก และทุกอย่างจะอยู่ในขั้นตอนการเฝ้าระวัง และการระบาดเป็นไปตามฤดูกาล

10.สำหรับประเทศไทยตามที่ได้เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ปลายปีว่า ตั้งแต่กุมภาพันธ์เป็นต้นไปโรคก็จะสงบ และจะไปพบเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกันยายน แล้วหลังจากนั้นก็สงบ เป็นวงจรการระบาดตามฤดูกาล