เปิดพันธกิจ นายกสมาคมออร์โธปิดิกส์ฯ ‘ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช’

08 ก.พ. 2566 | 09:27 น.

เปิดพันธกิจ “ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช” นายกสมาคมออร์โธปิดิกส์ฯ คนใหม่ ตอกย้ำศูนย์กลางขององค์ความรู้วิชาออร์โธปิดิกส์ พร้อมเดินหน้า 3 แผนงานสร้างความรู้ การเข้าถึงโรคกระดูกและข้อ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย

“ออร์โธปิดิกส์” (Orthopedics) เป็นศาสตร์การดูแลผู้ป่วยโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขรักษากระดูกและข้อต่างๆ ที่มีลักษณะโก่งหรือผิดรูป แตกหัก ครอบคลุมไปถึงความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อ เส้นประสาท และกระดูกสันหลัง ในร่างกายมนุษย์จะมีกระดูกที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนแกนกระดูกที่เป็นแกนหลักให้ใช้งานในชีวิตประจำวันได้ ต้องอาศัยข้อต่อ การขับเคลื่อนของข้อต่อก็จำเป็นต้องใช้กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อจะทำงานได้ก็ต้องใช้ระบบเส้นประสาท เป้าหมายและหน้าที่ของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ คือ จะต้องทำการรักษาซ่อมแซมให้กลับมาทำงานได้เหมือนเดิม”

ปัจจุบัน สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย มีสมาชิกซึ่งเป็นแพทย์ออร์โธปิดิกส์ทั่วประเทศกว่า 3,000 คน ดูแลประชาชนกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางขององค์ความรู้วิชาออร์โธปิดิกส์ ถ่ายทอดจากแพทย์สู่แพทย์ รวมถึงจากแพทย์ออร์โธปิดิกส์ต่อแพทย์สาขาอื่นๆ ที่ต้องทำงานร่วมกัน ในด้านประชาชนก็ต้องให้ความรู้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยทางด้านข้อกระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นประสาทในทุกช่วงวัย

ล่าสุดภายใต้การนำของ ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช นายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย คนใหม่ ออกมาเปิดเผยถึงภารกิจใหม่ว่า สถานการณ์ของโรคทางออร์โธปิดิกส์ในปัจจุบัน มีปริมาณมากขึ้น สาเหตุมาจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นวัยที่มีความเสื่อมของร่างกายมากกว่าวัยอื่น ๆ โดยเฉพาะความเสื่อมของอวัยวะที่มีผลต่อการใช้ชีวิต อย่างข้อเข่า ข้อสะโพก กระดูกสันหลัง จนถึงกระดูกข้อต่อต่างๆ

ด้วยเป้าหมายที่มุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายที่ดูแลระบบสาธารณสุขไทยโดยเฉพาะในด้านของกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ และระบบเส้นประสาท ที่จะมีการส่งต่อความรู้กันในชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและกระจายเป็นวงกว้างทั่วประเทศ สำหรับแผนการดำเนินการของสมาคมออร์ฯ ในปีนี้ได้แก่

1. การมุ่งเน้นไปที่การเผยแพร่องค์ความรู้สู่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ตามภูมิภาคต่าง ๆ นำร่องด้วยการจัดประชุมวิชาการใน 3 จังหวัด เริ่มจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สระแก้ว, โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง

2. การจัดทำสื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องในการป้องกันโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาท พร้อมกับหาช่องทางเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้มากที่สุด สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง แ

3. การเร่งสร้างสังคมผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ทั่วประเทศ ในกลุ่มโรคเดียวกัน เช่น โรคของกระดูกสันหลัง โรคเนื้องอกในกระดูก โรคข้อเสื่อม โรคกระดูกพรุน โรคออฟฟิศซินโดรม โรคทางนิ้ว เป็นต้น

ศ.นพ.กีรติ กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยของแพทย์ไทยโดยเฉพาะสาขาออร์โธปิดิกส์นั้น ได้รับการยอมรับว่าเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาค มีองค์ความรู้หลายเรื่องเกิดจากความชำนาญของแพทย์ไทย เช่น ผ่าตัดแล้วจะลดความเจ็บปวดหรือสูญเสียเลือด ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนเทคนิคพิเศษต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดเป็นต้นแบบให้หลายประเทศดำเนินตาม สมาคมฯ พร้อมที่จะก้าวเป็นผู้นำและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลก ด้วยการสนับสนุนเพื่อพัฒนาต่อยอดในการสร้างนวัตกรรม ในการดูแลรักษาผู้ป่วย เลือกใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด

“แม้ออร์โธปิดิกส์จะเป็นโรคที่ส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมและความผิดปกติในร่างกาย แตกต่างไปจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่ก็สามารถดูแลตัวเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะเซลล์อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายจะมีความเสื่อมทุกวินาที ไม่ว่าจะเป็นเซลล์สมอง เซลล์หัวใจ

แต่มีเพียงอย่างเดียวที่สามารถสร้างให้กลับมาทำงานได้และดีขึ้นกว่าเดิมก็คือกล้ามเนื้อ ที่สำคัญกล้ามเนื้อช่วยให้คนสามารถทรงตัวและเดินอย่างสมดุล และยังนำมาซึ่งความแข็งแรงของระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบไหลเวียนของโลหิต ระบบออกซิเจนที่จะไปดูแลเซลล์สมอง เซลล์หัวใจ ช่วยทำให้เซลล์กระดูกสามารถดูดซึมแคลเซียมได้มากขึ้น”

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,860 วันที่ 9 - 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566