ไฟเซอร์ เปิดโรดแมป D.E.I สร้างความเท่าเทียม เข้าถึงบริการสุขภาพ

02 ก.พ. 2566 | 06:45 น.

“ไฟเซอร์” เดินหน้าโรดแมป D.E.I : Diversity, Equity & Inclusion สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างในองค์กร เพิ่มสวัสดิการ LGBTQ+ลดความเหลื่อมล้ำ อุดช่องว่างกลุ่มเปราะบาง เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและสาธารณสุข

แม้ปัจจุบันบริการทางการแพทย์ของไทยจะได้รับการยอมรับด้านคุณภาพและราคาที่เข้าถึงได้ในสายตาชาวต่างชาติ แต่ขณะเดียวกันยังมีประเด็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพของประชาชนไทยในหลายมิติ ความเสมอภาค ความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการเข้ารับบริการทางสุขภาพ โดยปราศจากความแตกต่างจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรต้องตระหนัก

ดร.นพ.นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อํานวยการฝ่ายการแพทย์ และ Chairperson, Diversity, Equity and Inclusion Council บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จํากัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีบริการสุขภาพที่ค่อนข้างครอบคลุมในทุกระดับทั้งในส่วนของบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ (Primary care) ไปจนถึงบริการสุขภาพตติยภูมิ (Tertiary care)

โดยประชาชนชาวไทยเกือบทั้งหมดของประเทศได้รับสิทธิในการรับบริการสุขภาพภายใต้สิทธิประกันสุขภาพทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสิทธิการรักษาอื่นๆ ทั้งประกันสังคม สิทธิสวัสดิการสำหรับข้าราชการ ซึ่งเมื่อมองในภาพรวมการเข้าถึงบริการสุขภาพเกือบจะครอบคลุม 100% ตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ในแง่ของการรักษาพื้นฐานและถือว่ามีสถานการณ์ที่ดีมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

ไฟเซอร์ เปิดโรดแมป D.E.I สร้างความเท่าเทียม เข้าถึงบริการสุขภาพ

แต่หากเจาะลึกในรายละเอียดของแต่ละบริการทางสุขภาพจะพบว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นท้าทายที่สำคัญทางด้านสาธารณสุข ทั้งในด้านโอกาสการเข้ารับบริการสุขภาพ การสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการได้รับบริการสุขภาพ (Health Equity) ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพยังคงเกิดขึ้นในหลายระดับ ทั้งในด้านการเข้าถึงการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ การเข้าถึงการวินิจฉัยโรคที่เหมาะสม การเข้าถึงวิธีการและทางเลือกในการรักษา ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายรวมถึงการติดตามผลการรักษา

ทั้งนี้มีหลายปัจจัยที่เข้ามากระทบ เช่น ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ การกระจายตัวของหน่วยบริการทางสุขภาพ คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลอาจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสุขภาพไม่เท่ากับคนที่อยู่ในตัวเมืองหรือจังหวัดใหญ่ ปัจจัยด้านเศรษฐฐานะ ความครอบคลุมของชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้หลักประกันสุขภาพ ที่ไม่เท่ากัน

นอกจากนี้ที่สำคัญคือ ปัจจัยด้านการสื่อสารและความรอบรู้ด้านสุขภาพที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมด้านสุขภาพและการตัดสินใจเข้ารับบริการสุขภาพ ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อผลลัพธ์ของการรักษาและภาวะสุขภาพของประชาชน

ดังนั้นการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันนี้ ทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามาช่วยกัน เริ่มตั้งแต่ประชาชนที่ต้องมีการเสริมความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ เข้าใจการประเมินข้อมูลสุขภาพเพื่อประกอบการตัดสินใจของตน รวมถึงรู้ช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพและเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม ในส่วนผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพ และผู้ประกอบวิชาชีพ ต้องเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆเพื่อเลือกการวินิจฉัยและวิธีการรักษาที่เหมาะสมตามความจำเป็นของผู้ป่วยแต่ละราย

ในส่วนของผู้กำหนดนโยบายสามารถประยุกต์ข้อมูลวิชาการมาร่วมตัดสินใจเพื่อพิจารณาการวินิจฉัยโรค ยาหรือวิธีการรักษาที่เหมาะสมจะอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ที่สามารถเบิกจ่ายได้ ในส่วนของหน่วยบริการสุขภาพภาคเอกชนมีส่วนให้บริการผู้ที่มีความต้องการพิเศษนอกเหนือจากสิทธิพื้นฐานเพื่อแบ่งเบาภาระของระบบสุขภาพ และในส่วนของบริษัทยาหรือบริษัทเครื่องมือแพทย์อาจมีส่วนช่วยหาแนวทาง (solution) ที่จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาหรือเข้าถึงวิธีการรักษาที่ดีขึ้น

ที่สำคัญ Telehealth หรือ Telemedicine จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในหลายๆส่วนที่มีมาในอดีต เช่น ผู้ป่วยเรื้อรังที่มีความจำเป็นต้องได้รับยา แต่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างใกล้ชิด สามารถรับยาและเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้โดยที่ไม่ต้องมาโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและลดภาระของสถานพยาบาลที่ต้องเสียทรัพยากรมาจัดการกับผู้ป่วยกลุ่มนี้และผู้ป่วยเองจะมีความต่อเนื่องในการได้รับการรักษา

สำหรับ “ไฟเซอร์” เล็งเห็นความสำคัญของความเสมอภาค ความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการรับบริการทางสุขภาพ และสาธารณสุขโดยปราศจากซึ่งความแตกต่าง ผ่านโรดแมป D.E.I (Diversity, Equity & Inclusion) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมองค์กร (Company Culture) และเป็นแนวคิดหลักในการทำงานตั้งแต่ระดับโลกลงมา โดยมีความเชื่อว่า เป้าหมายในการสร้างความเสมอภาค ความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการเข้ารับบริการทางสุขภาพ

ดร.นพ.นิรุตติ์ ประดับญาติ

สามารถบรรลุได้โดยเริ่มจากการสร้างประสบการณ์ภายในองค์กรที่สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่าง เพื่อให้พนักงานสามารถส่งต่อประสบการณ์ดังกล่าว ในการสร้างผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่เท่าเทียมในวงกว้าง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านทางการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรด้านสุขภาพ โดยแบ่งแนวทางการดำเนินงานออกเป็น 3 ด้าน

1.การส่งเสริมความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กร (Build a More Inclusive Colleague Experience)โดยสิ่งที่ “ไฟเซอร์” ให้ความสำคัญในปีนี้คือ LGBTQ+ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

“จากการประเมินในเบื้องต้น ไฟเซอร์ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับโอกาสและความเท่าเทียมของพนักงานในด้านเพศชายหญิง โดยมีสัดส่วนพนักงานหญิงที่มีความสมดุลในทุกระดับทั้งระดับพนักงานจนถึงระดับผู้บริหาร เราจึงได้พิจารณามิติอื่นในการสร้างความเท่าเทียมในองค์กร กลุ่ม LGBTQ+ ถือว่าเป็นกลุ่มที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์สำหรับพนักงานอยู่

เช่น สวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน บุตรหรือด้านประกันสุขภาพรวมถึงสิทธิการลาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับชายหญิง เช่น การลาคลอด การลาดูแลภรรยาคลอดบุตร เราจึงได้ขยายขอบเขตสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมพนักงานกลุ่มนี้มากขึ้น เช่น การขยายสิทธิประกันสุขภาพคู่สมรสให้ครอบคลุมคู่ชีวิตเพศเดียวกัน

รวมถึงสิทธิอื่นๆ เช่น การลาแต่งงาน การลาเพื่อดูแลบุคคลภายใต้การดูแล สวัสดิการแบบยืดหยุ่น (flexible benefit)อื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้จัดตั้ง OPEN CRG (Out Pfizer Employee Network Colleague Resource Group) เพื่อเป็นกลุ่มที่สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ที่ส่งเสริมการทำงานและการใช้ชีวิตของกลุ่ม LGBTQ+ และผู้ที่เป็นพันธมิตร (allies) เราเชื่อว่าเมื่อพนักงานมีความตระหนักรู้และประสบการณ์ที่ดีเกี่ยวกับความเท่าเทียมและการยอมรับความแตกต่าง จะสามารถส่งต่อประสบการณ์ที่ดีเหล่านั้นในการทำงานให้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมภายนอกได้”

2.การดำเนินงานเพื่อสร้างเสริมผลลัพธ์ทางสุขภาพที่มีความเท่าเทียมในทุกกลุ่มประชากร (Advance Equitable Health Outcomes) โดยมุ่งเน้นการสร้างผลงานที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้น ลดข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ส่งเสริมการเข้าถึงยาและวัคซีนให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยมีการดำเนินงานในทุกระดับ ตั้งแต่ความหลากหลายในการทำวิจัยทางคลินิก

เพื่อให้ได้ข้อมูลประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาและวัคซีนที่สามารถประยุกต์ใช้กับทุกกลุ่มประชากรทุกชนชาติ ทุกเชื้อชาติ การช่วยเหลือผู้ป่วยในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพในส่วนอื่นๆ เช่น การเข้าถึงการวินิจฉัยโรคโดยเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งอาจจะไม่มีความพร้อมในทุกโรงพยาบาล การสนับสนุนชุดตรวจพิเศษหรือสนับสนุนเครือข่ายในการส่งต่อผู้ป่วยมารับการวินิจฉัยที่ดีขึ้นและนำไปสู่การรักษาได้ทันเวลา

3.ร่วมมือกับพันธมิตรด้านสุขภาพเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม (Transform Society with External DEI Partnerships) ในเรื่องของความเท่าเทียมและเป็นธรรมทางด้านสุขภาพไม่มีใครสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้โดยลำพัง ไฟเซอร์มีการแสวงหาความร่วมมือกับหลายๆ ภาคส่วนใน Project ที่จะช่วยพัฒนาผลลัพธ์ด้านสุขภาพ

“นโยบายเหล่านี้ได้มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและมีส่วนให้เกิดผลลัพธ์ที่ส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างแท้จริงเช่น การสนับสนุนผู้ป่วยที่เป็นโรคอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต และไม่มียาหรือวิธีการรักษาอื่นๆในประเทศที่ได้ผลแล้ว ให้สามารถเข้าถึงยาที่ได้รับการอนุมัติแล้วในต่างประเทศได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มโรคหายากและโรคมะเร็งในระยะลุกลาม

ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ความร่วมมือกับเครือข่ายโรงพยาบาล ในการพัฒนาศักยภาพการวินิจฉัยเชื้อราที่วินิจฉัยยากและการวินิจฉัยโรคหายากอื่นๆ การช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาผ่านทางโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยด้านเศรษฐฐานะกว่า 10 โครงการ รวมทั้งบริจาคยา วัคซีน ให้กับสมาคมทางการแพทย์เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่มีความจำเป็น รวมทั้งสร้าง Partnership ที่หลากหลายและขยายเครือข่ายของ Partnership ที่กว้างขึ้น”

สำหรับในปีนี้ “ไฟเซอร์” จะยังคงกรอบนโยบายทั้ง 3 ด้านไว้แต่จะมุ่งเน้นการขยายขอบเขตการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้น โดยเพิ่มความหลากหลายของโปรแกรมสนับสนุนผู้ป่วยให้เข้าถึงการบริการสุขภาพเพื่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้นผ่าน 4 ขั้นตอนได้แก่

1. การตระหนักรู้และการป้องกันโรค (Disease Awareness and Prevention) สนับสนุนผู้ป่วยให้มีความตระหนักเข้าถึงและดูแลสุขภาพเชิงป้องกันก่อนป่วย โดยเฉพาะวัคซีนและการตรวจคัดกรอง

2. ขยายการเข้าถึงการวินิจฉัยโรค (Diagnosis)ให้กว้างขึ้นจากเครือข่าย (Network)ที่ดำเนินการอยู่ เช่น ขยายเครือข่ายโรงพยาบาลเพื่อพัฒนาศักยภาพการวินิจฉัยโรคเชื้อราหายากให้กว้างขึ้นและครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคให้มากขึ้น การสนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศทางการรักษาโรคหัวใจจากพันธุกรรม เป็นต้น

3. การเข้าถึงยา “ไฟเซอร์” จะพัฒนาและนำเสนอรูปแบบของการสนับสนุนผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดเรื่องเศรษฐฐานะให้สามารถเข้าถึงยาที่อาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงได้มากขึ้น

4.การติดตามผลลัพธ์ด้านสุขภาพและการดูแลสุขภาพหลังป่วยหรือการฟื้นฟูสุขภาพ โดยจะแสวงหาพันธมิตรด้านสุขภาพ รูปแบบการดำเนินการที่หลากหลาย

รวมทั้งการผลิตสื่อผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆทั้งหน่วยงานสภาวิชาชีพ หรือบุคลากรทางการแพทย์ สมาคมโรคต่างๆ รวมถึงกลุ่มผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพที่เป็นความจริงตรงกับหลักฐานทางวิชาการและนำไปใช้ได้ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ไฟเซอร์โฟกัสในปีนี้ไปจนถึงปีหน้าภายใต้กรอบการดำเนินงาน 2-3 ปี

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,858 วันที่ 2 - 4  กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566