เปิด 6 สาเหตุหลักคนไทยป่วยติดเชื้อโควิด-19 พุ่ง 

11 ธ.ค. 2565 | 12:30 น.

จับตาสถานการณ์โควิดไทย เปิด 6 สาเหตุหลักหลังพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดพุ่ง สาธารณสุข คาด สถานการณ์ลดลงหลังปีใหม่  

จากสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ของไทยในปัจจุบันพบว่า มียอดผู้ป่วยติดเชื้อในหลายพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยยืนยันว่า โรงพยาบาลแต่ละแห่งทั่วไปประเทศยังสามารถรองรับสถานการณ์ได้แม้ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง รักษาแบบผู้ป่วยนอกแพทย์ให้ยาตามที่วินิจฉัย

 

ส่วนการรักษาในโรงพยาบาลนั้น ผู้ป่วยยังไม่ได้เพิ่มแบบมีนัยสำคัญ ส่วนการระบาดรอบนี้ทุกอย่างยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เป็นลักษณะของระลอกเล็ก หรือ Small Wave การมีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเพิ่มขึ้นนั้นก็ยังอยู่ในการคาดการณ์จะเพิ่มตามวงรอบ คือ ช่วง พ.ย. และ ธ.ค. หลังปีใหม่จะค่อยๆ ลดลง

 

สำหรับสาเหตุที่ช่วงนี้ผู้ป่วยโควิดกลับมาเพิ่มขึ้นนั้น ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยถึงปัจจัยหลักที่ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับมาเพิ่มขึ้น ดังนี้

1.น่าจะเป็นเพราะเป็นช่วงที่มีกิจกรรมที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นบวกกับการผ่อนคลายการใส่หน้ากากอนามัย

 

2.ยังไม่เห็นว่า มีการกลายพันธุ์ไวรัสใหม่ทำให้เกิดการระบาดซึ่งจากข้อมูลศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก (สนับสนุนจาก WHO) BA.5 ยังเป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุด รองลงมาเป็น BA.4 และมี BA.2.75 ปนมาประมาณ 5% (ข้อมูลจนถึงต้นเดือน พ.ย.) แต่ยังคงต้องติดตามการเปลี่ยนสายพันธุ์ไปอีก

 

3.ผู้ที่ป่วยติดเชื้อในรอบนี้บางคนเคยติดโควิดมาก่อนในระลอกที่มี เดลตา หรือ โอมิครอน BA.2 ระบาด รอบนี้ติดซ้ำซึ่งพบคนที่ติดซ้ำรอบนี้ประมาณ 8% คาดว่า จะมีการติดเชื้อซ้ำ ๆ ได้อีก

 

4.จับตาการกลายพันธุ์ของ BA.5 เป็น BQ.1 ซึ่งอาจจะลดการตอบสนองต่อ EVUSHELD คาดว่า อีกสักพักอาจจะเห็น BQ.1 เพิ่มขึ้นในประเทศแต่ขึ้นช้า ๆ แนวโน้มอาจจะเห็นการระบาดของไวรัสหลายสายพันธุ์พร้อมกันแต่อาการมักไม่รุนแรงในคนที่ยังมีภูมิจากวัคซีน

5.จากที่ได้มีโอกาสตรวจระดับภูมิคุ้มกันในงานวิจัย พบว่า คนที่ฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือนบางคน ภูมิตกลงอาจจะไม่พอป้องกันไวรัสสายพันธุ์ BA.5 ดังนั้น คนสูงอายุที่มีความเสี่ยงโรครุนแรงน่าจะต้องรีบไปกระตุ้นเพื่อป้องกันอาการหนัก โดยเฉพาะก่อนปีใหม่ที่การระบาดมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น

 

6.รอบนี้ผู้ที่ติดเชื้อไม่ได้มาตรวจอาจจะมีจำนวนมาก เนื่องจากตรวจได้เองที่บ้านกับรักษาตามอาการได้เอง คนที่อาการรุนแรงจะยังไม่มีจำนวนมากแต่จะค่อยสูงขึ้นช้า ๆ และมีโอกาสเตียงแน่นในบางโรงพยาบาล

 

สำหรับประเทศไทยตอนนี้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจนซึ่งจำเป็นต้องตระหนักถึงสถานการณ์ และอัพเดทความรู้ที่ถูกต้องและทันต่อเวลา นอกจากนี้ประชาชนต้องไม่ประมาท ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง แออัด ระบายอากาศไม่ดี อีกทั้งต้องหมั่นสังเกตอาการตนเองและคนรอบข้างที่พบปะ

 

หากไม่สบาย ไอ เจ็บคอ ไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ คัดจมูก เสียงเปลี่ยน/เสียงแหบให้คิดถึงโควิด-19 ไว้ด้วยเสมอ และควรทำการตรวจรักษา ไม่คลุกคลีกับผู้อื่น นอกจากนี้การสวมหน้ากากอนามัยที่ถูกต้องระหว่างเรียน ทำงาน ท่องเที่ยว พบปะบุคคลอื่นหรืออยู่นอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก