เปิดแนวทางรักษา "ภาวะซึมเศร้า" นอกจากกระบวนการจิตบำบัด-ใช้ยารักษา

19 ก.พ. 2567 | 01:29 น.

เปิดแนวทางรักษา "ภาวะซึมเศร้า" นอกจากกระบวนการจิตบำบัด-ใช้ยารักษา หมอธีระเผยผลวิจัยจากออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศยุโรปได้ทำการทบทวนงานวิจัยทั่วโลก และวิเคราะห์อภิมานในวารสารการแพทย์ British Medical Journal

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความระบุถึงภาวะซึมเศร้า ว่า

การรักษาภาวะซึมเศร้า

ทีมวิจัยจากประเทศออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศในยุโรป ได้ทำการทบทวนงานวิจัยทั่วโลกและวิเคราะห์อภิมาน เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ British Medical Journal เมื่อวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 
 

พบว่า การออกกำลังกายนั้นช่วยเรื่องภาวะซึมเศร้าได้ดี เช่น เดิน จ็อกกิ้ง การฝึกกำลังกล้ามเนื้อ แอโรบิค และโยคะ

การออกกำลังกายนั้นมีประโยชน์มาก นอกเหนือไปจากกระบวนการจิตบำบัด และการใช้ยารักษา

หมอธีระ ยังได้อัพเดตโควิด-19 ด้วยว่า

สถานการณ์ในอเมริกา

ข้อมูลจาก US CDC ล่าสุดชี้ให้เห็นว่า Omicron สายพันธุ์ JN.1 (BA.2.86.1.1) ครองการระบาดหลักแทบทั้งหมดแล้ว โดยตรวจพบในสัดส่วนสูงถึง 96.4%

การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19

งานวิจัยจากสหราชอาณาจักร เพิ่งเผยแพร่ในวารสาร PLOS Computational Biology เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา

จากการวิเคราะห์โดยใช้ machine learning จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งดูลักษณะการระบาดของทั่วโลกหลายปีที่ผ่านมา 

พบว่า ไวรัสโควิด-19 ที่เกิดการกลายพันธุ์ต่างๆ มากมายนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดระหว่างการแบ่งตัวของไวรัส (replication error) 

แต่การกลายพันธุ์ของไวรัสเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ มาตรการทางด้านสาธารณสุขในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด รวมถึงความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในแต่ละประเทศ และการปรับตัวของไวรัส (virus properties) 

สรุปสั้นๆ ภาษาชาวบ้านคือ ไวรัสมีการกลายพันธุ์มากน้อยเพียงใดนั้นไม่ได้เกิดโดยบังเอิญ แต่ขึ้นอยู่กับตัวไวรัสที่พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง และมาตรการจัดการควบคุมโรคของแต่ละประเทศ ทั้งเรื่องวัคซีน การตรวจ การเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์

ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ